ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีชุดที่ 3
ดำรงตำแหน่ง
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2488
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีชุดที่ 4
ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม พ.ศ. 2489 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 กันยายน พ.ศ. 2440
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต26 สิงหาคม พ.ศ. 2513 (62 ปี)
จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
ที่ไว้ศพวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอิสระ
พรรคเสรีมนังคศิลา (พ.ศ. 2498-2500)
คู่สมรสล้วน เอี่ยมบุญอิ่ม

ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม เป็นนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีชุดที่ 3 (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2488) และ ชุดที่ 4 (6 มกราคม พ.ศ. 2489 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490)[1] โดยในสมัยที่ 2 นั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรกโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) มีผลทำให้สภาผู้แทนราษฏร์ชุดที่ 4 หมดวาระลง[2]

ประวัติ[แก้]

ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม แต่เดิมเป็นชาวตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เคยบวชเป็นพระอยู่ระยะหนึ่งถูกชาวบ้านเรียกกันว่า พระมหาทองอยู่ เมื่อสึกออกมาประกอบอาชีพค้าขายและบำบัดโรคทางยา (ตามบัตรสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา) ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นภายในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภายหลังได้รับความไว้วางจากชาวจังหวัดนนทบุรีและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรถึง 2 สมัยโดยไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ภายหลังได้เป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาแต่ไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอีก ชีวิตส่วนตัว ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม เคยอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ 1 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันบ้านริมน้ำหลังดังกล่าวถูกรื้อทิ้งแล้ว) ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม สมรสกับ ล้วน เอี่ยมบุญอิ่ม มีธิดาด้วยกัน 6 คน

การปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฏร[แก้]

เนื่องจาก ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม เคยบวชเป็นพระในพุทธศาสนามาก่อนจึงมีความเข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับทางพุทธศาสนา และได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ครั้งที่ 14/2483 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2483[3] เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่มีความล่าช้าว่า "รัฐบาลนี้ได้จัดการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ไปแล้วเพียงใด เมื่อไรจะสำเร็จเข้ามาในสภานี้ได้" เนื่องจากเหตุผลของรัฐบาลก็คือ อยู่ในกระบวนการปรับแก้ไขกับคณะสงฆ์ ขณะที่สาเหตุเบื้องหลังนั้นมาจากความละเอียดอ่อนของปัญหาในคณะสงฆ์ที่รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อมีนักการเมืองตัวแทนจากทั้งมหานิกาย คือ หลวงวิจิตรวาทการ อดีตมหาเปรียญ 5 ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ขณะที่ฝ่ายธรรมยุต คือ ทองสืบ ศุภะมาร์ค อดีตมหาเปรียญ 9 ประโยค วัดมกุฏกษัตริยาราม ทั้งคู่จึงออกแรงปกป้องผลประโยชน์ให้กับฝ่ายของตนอย่างเต็มที่ จนในท้ายที่สุด พ.ร.บ.ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 18 กันยายน โดย ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกับ หลวงวิจิตรวาทการ และ ทองสืบ ศุภะมาร์ค[4] จนกระทั่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2484 เป็นต้นมา[5][6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์, "นักการเมืองถิ่นจังหวัดนนทบุรี", สถาบันพระปกเกล้า, ชุดสำรวจเพื่อนประมวลข้อมูลนักการเมืองถิ่น, ธันวาคม 2553, เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2563[1]
  2. ประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์, "เส้นทางเข้าสู่การเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี", วารสารวิชาการสมาคมอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย, ฉบับที่ 1, พฤษภาคม, 2555[2]
  3. รัฐสภา,"รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยย่อ ครั้งที่ 14/2483 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2483 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มประชุมเวลา 14.10 นาฬิกา", เข้าถึงเมื่อ 5 ตุลาคม 2563[3]
  4. รัฐสภา,"รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยย่อ ครั้งที่ 13/2484 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พุทธศักราช 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มประชุมเวลา 14.05 นาฬิกา", เข้าถึงเมื่อ 6 ตุลาคม 2563[4]
  5. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, "70 ปี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อ่านกฎหมายเก่านั่งคุยกับคณะนิติราษฎร์ (1)", ประชาไท, เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2563[5]
  6. พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์, "การปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484", น.105-109, กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539[6]
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๖, ๑๖ กันยายน ๒๔๘๔