ข้ามไปเนื้อหา

ทฤษฎีผัสสารมณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทฤษฎีผัสสารมณ์ (อังกฤษ: Affect theory) เป็นทฤษฎีซึ่งพยายามจัดระเบียบผัสสารมณ์ ซึ่งบางครั้งใช้สลับกับคำว่าอารมณ์หรือความรู้สึกจากประสบการณ์อัตวิสัย ให้เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน และเป็นแบบแทนของการแสดงออกทางร่างกาย ทางสังคม และระหว่างบุคคลซึ่งผนึกฝังแล้ว (internalized) มีการสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีผัสสารมณ์ในหลายสาขาวิชาเช่นจิตวิทยา จิตวิเคราะห์ ประสาทวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ การสื่อสารระหว่างบุคคล ทฤษฎีวรรณคดี (literary theory) ทฤษฎีแนววิพากษ์ สื่อศึกษา (media studies) เพศสภาพศึกษา (gender studies) ฯลฯ ทฤษฎีผัสสารมณ์จึงมีนิยามหลายแบบที่ขึ้นกับแต่ละสาขาวิชา

นักจิตวิทยา ซิลแวน ทอมกินส์ (Silvan Tomkins) ถูกยกเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีผัสสารมณ์ ซึ่งถูกนำเสนอในหนังสือ Affect Imagery Consciousness (1962) ของเขาสองเล่มแรก ทอมกินส์ใช้แนวคิด ผัสสารมณ์ เพื่อหมายถึง "ส่วนที่เป็นชีวภาพของอารมณ์" ซึ่งมีนิยามเป็น "กลไกซึ่งฝังแน่นและถูกโปรแกรมไว้ก่อนแล้วที่มีอยู่ในตัวเราแต่ละคนซึ่งถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม" ซึ่งเมื่อถูกจุดขึ้นก็จะกระตุ้นให้เกิด "เหตุการณ์ทางชีวภาพในรูปแบบที่รู้จัก"[1] อย่างไรก็ตามก็เป็นที่ยอมรับกันว่าประสบการณ์ผัสสารมณ์ในผู้ใหญ่เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลไกโดยกำเนิดกับ "เมทริกซ์อันซับซ้อนของการก่อตัวเชิงมโน-ผัสสารมณ์ (ideo-affective) ที่มีปฏิสัมพันธ์และซ้อนในกัน"[2]

ทฤษฎีผัสสารมณ์ในจิตวิทยา

[แก้]

ผัสสารมณ์เก้าแบบของ ซิลแวน ทอมกินส์

[แก้]
ดูเพิ่ม: ผัสสารมณ์ (จิตวิทยา)

มีผัสสารมณ์ (Affect (psychology)) พื้นฐานเก้าแบบตามนักจิตวิทยา ซิลแวน ทอมกินส์ เขาอธิบายผัสสารมณ์ด้วยความเข้มสูง/ต่ำและการแสดงออกทางร่างกาย:[3]

เชิงบวก (positive):

  • ความเพลิดเพลิน/ความปีติยินดี (Enjoyment/Joy) (การตอบสนองต่อความสำเร็จ/แรงดลใจให้แบ่งปัน) – การยิ้ม ริมฝีปากอ้าออกและกว้าง
  • ความสนใจ/ความตื่นเต้น (Interest/Excitement) (การตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่/แรงดลใจให้เข้าร่วม) – คิ้วต่ำลง ตาจ้องและมองตาม ฟังใกล้ ๆ

กลาง (neutral):

  • ความประหลาดใจ/ความตกใจ (Surprise/Startle) (การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน/การตั้งแรงดลใจใหม่ (reset)) – คิ้วยกขึ้น ตากะพริบ

เชิงลบ (negative):

  • ความโกรธ/ความเดือดดาล (Anger/Rage) (การตอบสนองต่อการคุกคาม/แรงดลใจให้โจมตี) – หน้าบึ้ง (frown) ขากรรไกรขบเน้น หน้าแดง
  • ความขยะแขยง (Disgust) (การตอบสนองต่อรสชาติแย่/แรงดลใจให้ละทิ้ง) – ริมฝีปากล่างยกขึ้นและยื่นออก หัวยื่นไปด้านหน้าและลงล่าง
  • ความไม่สบจมูก (Dissmell) (การตอบสนองต่อกลิ่นแย่/แรงดลใจให้หลีกเลี่ยง คล้ายกับความรังเกียจ) – ริมฝีปากบนยกขึ้น หัวถอยกลับ
  • ความกังวลใจ/ความปวดร้าว (Distress/Anguish) (การตอบสนองต่อการสูญเสีย/แรงดลใจให้อาลัย) – การร้องไห้ (crying) การสะอื้นเป็นจังหวะ คิ้วโค้ง ปากลงล่าง
  • ความกลัว/ความหวาดกลัว (Fear/Terror) (การตอบสนองต่ออันตราย/แรงดลใจให้วิ่งหรือแอบ) – การจ้องค้าง หน้าซีด ความเยือกเย็น เหงื่อ ขนลุก
  • ความอับอาย/ความอัปยศ (Shame/Humiliation) (การตอบสนองต่อความล้มเหลว/แรงดลใจให้ทบทวนพฤติกรรม) – ตาลงล่าง ก้มหัวและเบนหนี หน้าแดง (blushing)

การประยุกต์แบบให้คำแนะนำ

[แก้]

ตามทอมกินส์แล้ว การเพิ่มผัสสารมณ์เชิงบวกและการลดผัสสารมณ์เชิงลบเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพจิตที่เหมาะสมที่สุด[4] ผัสสารมณ์ควรถูกแสดงออกมาอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้อื่นสามารถระบุผัสสารมณ์ได้[5]

ทฤษฎีผัสสารมณ์ถูกใช้เพื่อให้คำแนะนำ (prescriptively) ในการสืบค้นเรื่องความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimate relationship) เคลลี (Vernon C. Kelly) อธิบายว่าความสัมพันธ์คือการตกลงทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มผัสสารมณ์เชิงบวกและลดผัสสารมณ์เชิงลบลง[6] พิมพ์เขียวนี้จำเป็นให้สมาชิกซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ต้องแสดงผัสสารมณ์ต่อกันและกันเพื่อระบุความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ เช่นเดียวกับพิมพ์เขียวของ "สุขภาพจิตที่เหมาะสมที่สุด"

พิมพ์เขียวเหล่านี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อบรรยายถึงจุดมุ่งหมายทั้งโดยนัยและโดยธรรมชาติได้ ตัวอย่างเช่น โดนัลด์ นาธานสัน (Donald Nathanson) นำ "ผัสสารมณ์" มาใช้เพื่อบรรยายผู้ป่วยคนหนึ่งที่เขาดูแลอยู่:[5]

ผมสงสัยว่าเหตุผลที่เขาปฏิเสธที่จะไม่ดูภาพยนต์นั้นเป็นเพราะเขากลัวอย่างมากว่าตัวเองจะผูกพันกับผัสสารมณ์ซึ่งปรากฏอยู่บนหน้าจอ การข้องเกี่ยวกับผัสสารมณ์เป็นเหตุผลที่เราส่วนใหญ่ไปโรงภาพยนต์บ่อย ๆ แต่มันเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ ... การที่เขาปฏิเสธไม่ยอมเสี่ยงประสบผัสสารมณ์ทั้งเชิงบวกและลบซึ่งสัมพันธ์กับเพศสภาพทำให้โอกาสที่กฎทั้งสองข้อไม่ว่าจะเป็นของพิมพ์เขียวของเคลลีหรือทอมกินส์จะทำงานและทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปได้สูญหายไป ดังนั้นเราอาจเข้าใจในแง่มุมหนึ่งได้ว่าปัญหาเรื่องความใกล้ชิดที่เขามีมันคือกำแพงของความร่วมรู้สึกที่เขามีมากเกินไป และในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นปัญหาซึ่งผนึกฝังในแท้ ๆ ของการแสดงออกและบริหารจัดการผัสสารมณ์ของเขาเอง[a]

ทอมกินส์กล่าวอ้างว่า "ศาสนาคริสต์ได้กลายมาเป็นศาสนาสากลที่ทรงพลังในบางส่วนก็เนื่องมาจากวิธีการแก้ปัญหาเรื่องระหว่างความโกรธ ความรุนแรง และความทุกข์กับความรัก ความเพลิดเพลิน และสันติภาพที่ทั่วไปมากกว่า"[b][7]

ทฤษฎีผัสสารมณ์ถูกอ้างอิงอย่างมากในทฤษฎีบทคำสั่ง (script theory) ของทอมกินส์

ความพยายามเป็นแบบแทนผัสสารมณ์ในจิตวิทยา

[แก้]

อารมณ์ขัน (humor) เป็นประเด็นซึ่งถูกถกเถียงในทฤษฎีผัสสารมณ์ งานวิจัยบางงานได้แสดงหลักฐานว่าอารมณ์ขันอาจเป็นการตอบสนองต่อความขัดแย้งระหว่างผัสสารมณ์เชิงลบและเชิงบวก[8] เช่นความกลัวและความเพลิดเพลินและส่งผลให้เกิดการหดตัวแบบชักกระตุกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลัก ๆ เช่นในแถบท้องและกะบังลมรวมไปถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อแก้มส่วนบน ผัสสารมณ์เพิ่มเติมที่ขาดหายในอนุกรมวิธานของทอมกินส์มีความผ่อนคลาย (relief) การยอมจำนน (resignation) ความสับสน (confusion) และอื่น ๆ อีกมากมาย

เราสังเกตผัสสารมณ์ความปีติยินดีผ่านการแสดงออกด้วยการยิ้ม (smile) ผัสสารมณ์เหล่านี้สามารถถูกระบุได้ผ่านการแสดงสีหน้า (facial expression) ที่ผู้คนมีต่อสิ่งเร้า ณ ขณะนั้นซึ่งธรรมดาแล้วเกิดขึ้นก่อนที่ผู้คนจะสามารถประมวลผลการตอบสนองจริงใด ๆ ต่อสิ่งเร้าได้เสียอีก

การค้นพบจากการศึกษาการเร้าผัสสารมณ์เชิงลบและเสียงสีขาว (white noise) โดย แสตนลีย์ เอส. ซีดเนอร์ "สนับสนุนการมีอยู่ของการเร้าผัสสารมณ์เชิงลบผ่านการสังเกตการลดค่าผู้พูดภาษาสเปนจากแหล่งกำเนิดชาติพันธุ์สเปนอื่น ๆ[c]"[9]

ทฤษฎีแนววิพากษ์

[แก้]

ทฤษฎีผัสสารมณ์ถูกวินิจฉัยในหลายสาขาวิชาเช่นปรัชญา ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) เพศสภาพศึกษา และสุนทรียศาสตร์ อีฟ เซดจ์วิค (Eve Sedgwick) และลอเร็น เบอร์แลนท์ (Lauren Berlant) ถูกเรียกว่าเป็น "นักทฤษฎีผัสสารมณ์" ผู้เขียนผ่านมุมมองของทฤษฎีแนววิพากษ์ นักทฤษฎีแนววิพากษ์คนอื่นหลายคนได้พึ่งพาทฤษฎีผัสสารมณ์เป็นอย่างมากเช่น เอลิซาเบธ โพวิเนลลิ (Elizabeth Povinelli) นักอัตตาณัตินิยม (autonomism) มาร์กซิสต์เช่นฟรังโก เบราร์ดี (Franco Berardi) ไมเคิล ฮาร์ท (Michael Hardt) และอันโตนีโอ เนกรี (Antonio Negri) ได้นำทฤษฎีผัสสารมณ์มาใช้ รวมไปถึงนักสตรีนิยมมาร์กซิสต์ (Marxist feminism) เช่นเซลมา เจมส์ (Selma James) และซิลเวีย เฟเดอริชี (Silvia Federici) ผู้ที่พิจารณาปรากฏการณ์ทางประชานและทางวัตถุของเพศสภาพที่เฉพาะเจาะจง หรือบทบาทที่ปฏิบัติเช่นผู้ให้การดูแล (caregiver) นักทฤษฎีแนววิพากษ์ ซารา อาเหม็ด (Sara Ahmed) บรรยายผัสสารมณ์ว่า "เหนียว" (sticky) ในความเรียง "Happy Objects" ของเธอเพื่ออธิบายการเชื่อมโยงระหว่าง "มโนคติ คุณค่า และวัตถุ" (ideas, values, and objects.) ซึ่งยั่งยืนถาวร[10] ในแนวเดียวกับนักทฤษฎีเหล่านี้ นักวิชาการหลายคนระบุบทบาทของผัสสารมณ์ในการดัดรูปคุณค่าทางสังคม อุดมคติของเพศสภาพ และกลุ่มส่วนรวม ผัสสารมณ์ถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์และสัญลักษณ์ซึ่งผลิตตัวตนร่วม และจึงเป็นแกนหลักในการเมืองร่วมสมัย ผัสสารมณ์ยังถูกปฏิบัติเป็นแกนหลักในระบบทุนนิยม เช่นความยึดติดต่อสินค้าโภคภัณฑ์และ "ฝัน" ของการขยับสถานะทางชนชั้นของผู้คน[11] มากไปกว่านั้น ลักษณะที่ไม่อ้อมค้อมและไม่รอบคอบของผัสสารมณ์อาจทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ทางสังคมซึ่งไม่อาจถูกลดรูปเหลือเป็นจุดจบใดจุดหนึ่งได้ และบางครั้งอาจทำให้ผู้คนสามารถรับรู้วิธีการดำรงอยู่แบบใหม่ซึ่งแยกออกจากเป้าหมายหลักในชีวิตของพวกเขาได้[12]

การสื่อสารระหว่างบุคคล

[แก้]

สื่อกลางของการถ่ายทอดความรู้สึกและอิทธิพลโดยไม่ใช้คำพูดนี้มีหน้าที่หลักในความสัมพันธ์ใกล้ชิด ตัวแบบความปลอดภัยทางอารมณ์ (Emotional Safety model) จากการบำบัดชีวิตคู่ (couples therapy) พยายามระบุสาร (message) ทางผัสสารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในความสัมพันธ์ทางอารมณ์ของคู่รัก (คู่นี้รู้สึกอย่างไรกับตัวเอง ระหว่างกัน และต่อความสัมพันธ์ของตัวเอง) และที่สำคัญที่สุดคือสารที่เกี่ยวกับ (ก) ความปลอดภัยของความผูกพัน และ (ข) แต่ละคนถูกให้ค่าอย่างไร

ทฤษฎีผัสสารมณ์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติในการบำบัดชีวิตคู่ (couples therapy)[13][14] คุณลักษณะสองอย่างของผัสสารมณ์มีความเกี่ยวพันอย่างสูงกับความสัมพันธ์ใกล้ชิด:

  1. ตามทอมกินส์ คุณลักษณะหลักของผัสสารมณ์คือการประสานกันทางผัสสารมณ์ (affective resonance) ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่คน ๆ หนึ่งจะตอบสนองต่อผัสสารมณ์ที่ผู้อื่นแสดงด้วยการประสานและประสบผัสสารมณ์เดียวกันหรือก็คือ "การติดต่อ" (contagion) การประสานกันทางผัสสารมณ์ถูกถือว่าเป็นพื้นฐานต้นแบบของการสื่อสารของมนุษย์ (human communication) ทุกรูปแบบ (ก่อนที่มีคำพูด ก็มีการยิ้มและการพยักหน้า (nod (gesture)))
  2. ตามทอมกินส์ ผัสสารมณ์ให้ความรู้สึกเร่งเร้ากับแรงผลักดันที่ต่ำ ผัสสารมณ์จึงเป็นแหล่งของแรงจูงใจ (motivation) ที่ทรงพลัง หรือตามที่ทอมกินส์พูดคือ ผัสสารมณ์ทำให้สิ่งที่ดีนั้นดีกว่าและทำให้สิ่งที่แย่นั้นแย่ลง

บทวิจารณ์

[แก้]

นักวิชาการบางคนมีปัญหากับคำกล่าวอ้างและระเบียบวิธีของนักทฤษฎีผัสสารมณ์ รูธ เลยส์ (Ruth Lays) ต่อต้านบทวิจารณ์ทางศิลปะและวรรณกรรมที่มาจากทฤษฎีผัสสารมณ์และการนำทฤษฎีนี้มาใช้ในทฤษฎีความสะเทือนใจ (trauma) บางรูปแบบ[15] ออบรีย์ แอเนเบิล (Aubrey Anable) ได้วิจารณ์ความไม่แม่นยำของทฤษฎีผัสสารมณ์โดยอ้างว่า "การใช้ถ้อยคำถึงความเข้ม การแปรเปลี่ยน และการอยู่ระหว่างกลาง และการเน้นในสิ่งที่ไม่น่านำเสนอของมันทำให้ไม่มีความปะติดปะต่อกัน หรือทำให้กลายเป็นการตอบสนองแบบอัตวิสัยล้วนต่อโลกได้ง่ายเกินไป"[d][16] เจสัน โจเซฟสัน สตอร์ม (Jason Josephson Storm) ศาสตราจารย์ศาสนศึกษา ได้กล่าวอ้างว่าทฤษฎีผัสสารมณ์ในมนุษยศาสตร์นั้นได้ล้มเหลวในการแบ่งแยกตัวเองออกจากหลังโครงสร้างนิยมและเพิกเฉยต่อหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผัสสารมณ์นั้นเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม (Social constructionism)[17]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. แปลจาก "I suspect that the reason he refuses to watch movies is the sturdy fear of enmeshment in the affect depicted on the screen; the affect mutualization for which most of us frequent the movie theater is only another source of discomfort for him. ... His refusal to risk the range of positive and negative affect associated with sexuality robs any possible relationship of one of its best opportunities to work on the first two rules of either the Kelly or the Tomkins blueprint. Thus, his problems with intimacy may be understood in one aspect as an overly substantial empathic wall, and in another aspect as a purely internal problem with the expression and management of his own affect."
  2. แปลจาก "Christianity became a powerful universal religion in part because of its more general solution to the problem of anger, violence, and suffering versus love, enjoyment, and peace."
  3. แปลจาก "support the existence of a negative affect arousal mechanism through observations regarding the devaluation of speakers from other Spanish ethnic origins."
  4. แปลจาก "language of intensity, becoming, and in-betweenness and its emphasis on the unpresentable give it a maddening incoherence, or shade too easily into purely subjective responses to the world"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nathanson, Donald L. (1992), Shame and Pride: Affect, Sex, and the Birth of the Self (Chapter 2), New York: W.W. Norton, ISBN 0-393-03097-0
  2. Nathanson, Donald L. (15 มีนาคม 1998). "From Empathy to Community". The Annual of Psychoanalysis. Chicago Institute for Psychoanalysis. 25. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014.
  3. Nathanson, Donald L. (1992), Shame and Pride: Affect, Sex, and the Birth of the Self, New York: W.W. Norton, ISBN 0-393-03097-0
  4. Tomkins, Silvan S. (1962), Affect Imagery Consciousness: The Positive Affects (Vol. 1, ch. 9), New York: Springer, ISBN 0-8261-0442-8
  5. 5.0 5.1 Nathanson, Donald L. (1997). "A Goal is an Image" (PDF). Bulletin of the Tomkins Institute. 4: 1–4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-12-23. สืบค้นเมื่อ 2021-01-25.
  6. Kelly, VC (1996), "Affect and the redefinition of intimacy", ใน Nathanson, DL (บ.ก.), Knowing feeling: Affect, script, and psychotherapy, New York: W.W. Norton, pp. 55–104
  7. Tomkins, Silvan S. (1991), Affect Imagery Consciousness: Anger and Fear (Vol. 3), New York: Springer, ISBN 0-8261-0543-2
  8. McGraw, A. P.; และคณะ (August 31, 2012), "Too close for comfort, or too far to care? Finding humor in distant tragedies and close mishaps.", Psychological Science, 23 (10): 1215–1223, doi:10.1177/0956797612443831, ISSN 1467-9280, PMID 22941877, S2CID 2480808
  9. Seidner, Stanley S. (1991), Negative Affect Arousal Reactions from Mexican and Puerto Rican Respondents, Washington, D.C.: ERIC
  10. The affect theory reader. Gregg, Melissa, 1978-, Seigworth, Gregory J., 1961-. Durham, NC: Duke University Press. 2010. ISBN 9780822347583. OCLC 639574068.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  11. Berlant, Lauren (2011). Cruel Optimism. Durham, NC: Duke University Press.
  12. Hizi, Gil (2021). "Zheng Nengliang and Pedagogies of Affect in Contemporary China". Social Analysis. 65 (1): 23–43. doi:10.3167/sa.2021.650102.
  13. Catherall, Don R. (2007). Emotional Safety: Viewing Couples Through the Lens of Affect. New York: Routledge, ISBN 0-415-95451-7
  14. Kelly, Vernon C. (2012). The Art of Intimacy and the Hidden Challenge of Shame. Rockland, Maine: Maine Authors Publishing.
  15. Leys, Ruth (2011). "The Turn to Affect: A Critique". Critical Inquiry. 37 (3): 434–472. doi:10.1086/659353. JSTOR 10.1086/659353.
  16. Anable, Aubrey (2018). "Feeling History". Playing with Feelings: Video Games and Affect: 1–36. doi:10.5749/j.ctt20mvgwg.4. ISBN 9781452956800. JSTOR 10.5649/j.ctt20mvgwg.4.
  17. Storm, Jason Josephson (2021). Metamodernism: The Future of Theory. Chicago: University of Chicago Press. p. 4. ISBN 978-0-226-78665-0.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]