ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ครองราชย์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์:
ค.ศ. 1133 - ค.ศ. 1137
เยอรมนี:
ค.ศ. 1125 - ค.ศ. 1137
อิตาลี:
ค.ศ. 1128 - ค.ศ. 1137
อาร์ล:
ค.ศ. 1125 - ค.ศ. 1137
แซกโซนี:
ค.ศ. 1106 - ค.ศ. 1137
รัชกาลก่อนหน้าจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
รัชกาลถัดไปจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ประสูติค.ศ. 1075
โรม ในประเทศอิตาลี
สวรรคต4 ธันวาคม ค.ศ. 1137
โรม ในประเทศอิตาลี
จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ราชวงศ์ซุพลินบวร์ค
พระราชบิดาเก็พฮาร์ทแห่งซุพลินบวร์ค

จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ จักรพรรดิโลทาร์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (อังกฤษ: Lothair III, Holy Roman Emperor; ค.ศ. 1075 – 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137) ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งตระกูลซุพลินบวร์ค ผู้ทรงครองราชบัลลังก์ระหว่างปี ค.ศ. 1133 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137 พระองค์เป็นพระราชโอรสของเก็พฮาร์ทแห่งซุพลินบวร์ค

ดยุคแห่งซัคเซิน

[แก้]

โลทาร์เป็นบุตรชายของเก็พฮาร์ท เคานต์แห่งซุพลินบวร์ค ประสูติไม่กี่วันก่อนหน้าที่พระบิดาจะถูกสังหารในสมรภูมิเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1075 พระองค์สืบทอดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลบริเวณเฮ็ล์มชเต็ทในซัคเซิน และในปี ค.ศ. 1088 ทรงมีส่วนร่วมในการก่อจลาจลต่อจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

การแต่งงานในปี ค.ศ. 1088 กับริชเช็นท์ซา ทายาทของทั้งตระกูลนอร์ทไฮม์และตระกูลเบราน์ชไวค์ ทำให้โลทาร์กลายเป็นขุนนางผู้ทรงอำนาจในซัคเซินและเป็นเจ้าชายที่ร่ำรวยที่สุดในเยอรมนีเหนือ

ด้วยการสนับสนุนจากกษัตริย์เยอรมัน พระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 ให้ต่อกรกับพระบิดาของพระองค์ จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 ในปี ค.ศ. 1104 ทำให้โลทาร์ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 ให้เป็นดยุคแห่งซัคเซินเมื่อดยุคมักนุส ดยุคคนสุดท้ายของตระกูลบิลุง เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1106

กษัตริย์แห่งเยอรมนี

[แก้]

แนวคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระของโลทาร์ไม่นานก็ทำให้พระองค์ขัดแย้งกับกษัตริย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1112 ถึงปี ค.ศ. 1115 พระองค์มีส่วนร่วมในการก่อกบฏต่อพระเจ้าไฮน์ริชเป็นช่วงๆ และกองกำลังของพระองค์ปราบกษัตริย์ได้ที่สมรภูมิเว็ลเฟิสฮ็อลทซ์ในปี ค.ศ. 1115[1]

ในปี ค.ศ. 1125 พระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 สิ้นพระชนม์ โลทาร์ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์เยอรมันและได้รับการสวมมงกุฎที่อาเคิน สงครามกลางเมืองระหว่างผู้สนับสนุนโลทาร์กับทายาทของตระกูลโฮเอินชเตาเฟิน สองพระอนุชา ค็อนราทและฟรีดริช ดยุคแห่งสเวเบีย อุบัติขึ้น ในปี ค.ศ. 1127 ค็อนราทได้รับเลือกจากสมัครพรรคพวกให้เป็นกษัตริย์ การแตกพ่ายของฐานที่มั่นของชาวโฮเอินชเตาเฟิน เนือร์นแบร์ค และชไปเออร์ ในอีกสองปีต่อมาทำให้การต่อต้านอันทรงประสิทธิภาพจบสิ้นลง แม้ชาวโฮเอินชเตาเฟินจะดิ้นรนต่อสู้อยู่อีกหลายปี ขณะที่ค็อนราทก็ครองตำแหน่งจอมปลอมของพระองค์ต่อไป

จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

[แก้]
ภาพวาดของโลทาร์ใน โกแด็กส์แอแบร์ฮาร์ดี อารามฟุลดา ปี ค.ศ. 1150/60

ในปี ค.ศ. 1130 สองผู้ท้าชิงตำแหน่งประสันตะปาปาที่เป็นอริกันร้องขอการสนับสนุนจากโลทาร์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1131 โลทาร์ต้อนรับพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 ที่ลีแยฌและร่วมเดินทางไปด้วยกัน พระองค์เดินทัพเข้าสู่อิตาลีในปี ค.ศ. 1132–1133 แม้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโรมจะอยู่ในกำมือของอานาเคลตุส โลทาร์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1133[2] จากนั้นพระองค์ได้รับที่ดินศักดินาจากพระสันตะปาปาเป็นทรัพย์สินที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของมาทิลดาแห่งตอสคานา[3]

ในปี ค.ศ. 1134 หลังกลับไปเยอรมนี โลทาร์กลับไปทำศึกกับชาวโฮเอินชเตาเฟินอีกครั้ง ไม่นานฟรีดริชแห่งโฮเอินชเตาเฟินก็ยอมจำนน สันติภาพถูกประกาศที่เทศกาลถือศีลอดในบัมแบร์ค (เดือนมีนาคม ค.ศ. 1135) ทำให้สเวเบียกลับมาเป็นของฟรีดริชอีกครั้ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1135 ค็อนราทสงบศึกกับโลทาร์ภายใต้เงื่อนไขด้านการผ่อนปรนแบบเดียวกัน

โลทาร์ยังส่งเสริมการขยายอำนาจของชาวเยอรมันและเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้าไปในอาณาบริเวณทางตะวันออกของเอ็ลเบอ ในปี ค.ศ. 1135 พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์กประกาศตนเป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิโลทาร์ และเจ้าชายโปแลนด์ เจ้าชายโบเลสสวาฟที่ 3 สัญญาว่าจะจ่ายบรรณาการและได้รับโปเมอราเนียและรุยเงินเป็นที่ดินศักดินาของเยอรมนี

การสิ้นพระชนม์

[แก้]

ข้อตกลงกับจักรพรรดิไบเซนไทน์จอห์นคอมเนนุสส่งผลให้โลทาร์ลงมือออกเดินทางไปสู้รบในอิตาลีเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1136–1137 ทรงผลักดันกองกำลังของรอเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลีออกไปจากพื้นที่ทางใต้ของคาบสมุทรอิตาลี

สถานที่ฝังศพของจักรพรรดิโลทาร์ที่ 2 ไคซาร์โดม ในเคอนิชส์ลุทเทอร์ ก่อตั้งโดยจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1135

พระองค์สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับเยอรมนีขณะกำลังข้ามเทือกเขาแอลป์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137[4] ศพของพระองค์ถูกต้มเพื่อยับยั้งการเน่าสลาย[5] กระดูกถูกพาไปที่โบสถ์อารามของนักบุญปีเตอร์และนักบุญพอลในเคอนิงสลัตทาร์ที่ทรงบริจาคเงินให้ในฐานะโบสถ์ที่จะใช้ฝังพระศพและที่ทรงวางศิลาฤกษ์ในปี ค.ศ. 1135

ทายาท

[แก้]

ราชวงศ์ซุพลินบวร์คนั้นอยู่ได้ไม่นาน โลทาร์กับพระมเหสี ริชเช็นท์ซาแห่งนอร์ทไฮม์ มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียวคือพระธิดาที่มีชื่อว่าแกร์ทรูเดอ ประสูติเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1115 เพื่อให้ตระกูลเวล์ฟสนับสนุนเลือกพระองค์เป็นกษัตริย์ โลทาร์จับแกร์ทรูดแต่งงานกับไฮน์ริชที่ 10 ดยุคแห่งบาวาเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1127[6] ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนคือไฮน์ริชสิงห์[7]

หลังการสิ้นพระชนม์ของโลทาร์ในปี ค.ศ. 1137 ค็อนราทจากตระกูลโฮเอินชเตาเฟินได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์ในชื่อค็อนราทที่ 3 แห่งเยอรมนี เมื่อไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนง พระชามาดาและทายาทของโลทาร์และเจ้าชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในเยอรมนีซึ่งถูกมองข้ามจากการเลือกตั้งไม่ยอมรับกษัตริย์คนใหม่ พระเจ้าค็อนราทที่ 3 จึงริบอาณาเขตทั้งหมดของเขา

พระอิสริยยศ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Comyn, pg. 181
  2. Comyn, pg. 192
  3. Comyn, pg. 192
  4. Bryce, pg. xl
  5. J. L. Bada, B. Herrmann, I. L. Payan and E. H. Man (1989), "Amino acid racemization in bone and the boiling of the German Emperor Lothar I", Applied Geochemistry 4: 325–27.
  6. Comyn, pg. 190
  7. Comyn, pg. 190

ดูเพิ่ม

[แก้]