ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าค็อนราทที่ 3 แห่งเยอรมนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คอนราดที่ 3 แห่งเยอรมนี)
พระเจ้าค็อนราทที่ 3 (กุนราดุสแร็กส์) ในภาพวาดย่อส่วนจาก ครอนิกาซังก์ตีปันตาเลออนิส คริสต์ศควรรษที่ 13

พระเจ้าค็อนราทที่ 3 (เยอรมัน: Konrad III.; อิตาลี: Corrado III) ประสูติ ค.ศ. 1093 สิ้นพระชนม์ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1152 เป็นกษัตริย์เยอรมันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1138 ถึงปี ค.ศ. 1152 พระองค์เป็นบุตรชายของฟรีดริชที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบีย กับอักเน็ส พระธิดาของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไฮน์ริชที่ 4 ทรงเป็นกษัตริย์เยอรมันคนแรกที่มาจากตระกูลโฮเอินชเตาเฟิน

ปรปักษ์ของจักรพรรดิโลทาร์

[แก้]

ค็อนราทเป็นบุตรชายของฟรีดริชที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบีย และเป็นพระนัดดาของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 พระองค์ได้รับการแต่งตั้งจากพระมาตุลา จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 5 ให้เป็นดยุคแห่งแฟรงโกเนีย[1] ในปี ค.ศ. 1115 และในปี ค.ศ. 1116 จักรพรรดิไฮน์ริชให้พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของเยอรมนีร่วมกับพระเชษฐา ฟรีดริชที่ 2 ดยุคแห่งสเวเบีย

เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1125 ผู้คัดเลือกไม่สนใจกฎการสืบทอดทางสายเลือดและเลือกโลทาร์ ดยุคแห่งซัคเซิน เป็นผู้สืบทอดต่อตำแหน่ง สิ้นปีนั้นฟรีดริชกับค็อนราทก่อการปฏิวัติ ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1127 ค็อนราทได้รับเลือกให้เป็นผู้อ้างตนเป็นกษัตริย์ที่เนือร์นแบร์ค และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1128 แม้จะถูกพระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 2 ตัดขาดจากศาสนา แต่พระองค์ก็ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอิตาลีที่มอนซา ทรงกลับมาเยอรมนีในปี ค.ศ. 1132 และต่อสู้กับจักรพรรดิโลทาร์จนถึงปี ค.ศ. 1135 เมื่อพระองค์ยอมสวามิภักดิ์ ทรงได้รับการอภัยโทษและได้รับทรัพย์สินที่ดินกลับคืนมา

กษัตริย์แห่งเยอรมนี

[แก้]
ค็อนราทที่ 3 กับศัตรูในฮังการี ภาพจาก ครอนิโกงปิกตูง

หลังจักรพรรดิโลทาร์สิ้นพระชนม์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1137 ผู้คัดเลือกที่หวาดกลัวต่ออำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนงแห่งบาวาเรีย (พระชามาดาของจักรพรรดิโลทาร์) ประชุมกันที่โคเบล็นทซ์ภายใต้การนำของอัลเบโรแห่งเทรียร์ ค็อนราทได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดต่อตำแหน่งในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1138 ต่อหน้าผู้แทนพระองค์ของพระสันตะปาปา พระองค์ได้รับการสวมมงกุฎที่แอ็กซ์-ลา-ชาแปล (อาเคิน) ในอีกหกวันต่อมา พระองค์ได้รับการยอมรับจากเจ้าชายเยอรมันใต้หลายคน ไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนงไม่ยอมถวายความจงรักภักดีและเกิดสงครามขึ้นในบาวาเรียและซัคเซิน ค็อนราทริบดัชชีซัคเซินและดัชชีบาวาเรียจากไฮน์ริชและยกให้อัลเบร็ชท์ที่ 1 และลูอิทพ็อลท์ที่ 4 แห่งออสเตรียตามลำดับ ไฮน์ริชเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1139 และค็อนราทปราบน้องชายชาวเกิล์ฟ (หรือเวล์ฟ) ของไฮน์ริชได้ที่ไวนส์แบร์คในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1140 การสงบศึกกับตระกูลเวล์ฟเกิดขึ้นในเวลาต่อมาที่แฟรงก์เฟิร์ตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1142 ตระกูลโฮเอินชเตาเฟินครองความเป็นใหญ่ในประวัติศาสตร์เยอรมันตลอดศตวรรษที่เหลือ

ความสำเร็จท่ามกลางความวุ่นวายที่เป็นเรื่องปกติในจักรวรรดิคือการออกเดินทางไปสู้รบในโบฮีเมียของค็อนราทในปี ค.ศ. 1142 ที่พระองค์ช่วยพระชามาดา วลัดยิสลัฟที่ 2 ให้กลับมาเป็นเจ้าชายได้อีกครั้ง ความพยายามที่จะทำแบบเดียวกันกับเจ้าชายววาดึสวัฟ ชาวโปแลนด์ (พระชามาดาอีกคน) ล้มเหลว เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ขึ้นในซัคเซิน, บาวาเรีย และบูร์กอญ

สงครามครูเสดครั้งที่สอง

[แก้]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1146 ค็อนราทได้รับการแนะนำจากแบร์นาร์แห่งแกลร์โวให้เข้าร่วมทำสงครามครูเสดครั้งที่สองพร้อมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส เพื่อให้พระโอรสน้อย ไฮน์ริช ได้รับเลือกและราชาภิเษกเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อไปในอนาคต พระองค์แต่งตั้งไฮน์ริชที่ 1 อาร์ชบิชอปแห่งไมนทซ์ เป็นผู้พิทักษ์ของพระโอรส และในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1147 ทรงเดินทางไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 2 ที่ปาเลสไตน์ พระองค์มีส่วนในการปิดล้อมโจมตีดามัสกัสที่ล้มเหลวและเดินทางออกจากปาเลสไตน์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1148 ทรงใช้เวลาในฤดูหนาวที่คอนสแตนติโนเปิลซึ่งพระองค์ได้ผนึกกำลังกับจักรพรรดิไบเซนไทน์มานูเอลคอมเนนุสในการต่อสู้กับพระเจ้ารอจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลีที่มีอำนาจสำคัญบนแผ่นดินใหญ่และไม่ยอมรับกษัตริย์เยอรมัน

ต่อมาข่าวเรื่องรอเจอร์ผูกสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสและชาวเวล์ฟแห่งบาวาเรียทำให้ค็อนราทต้องรีบกลับเยอรมนี การไม่สามารถไปเยือนโรมได้ทำให้พระองค์ไม่เคยได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิ พระองค์ประกาศชื่อพระภาติยะ ฟรีดริชที่ 3 ดยุคแห่งสเวเบียที่ต่อมากลายเป็นจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 บาร์บาร็อสซา เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Malcolm Barber, The Two Cities: Medieval Europe 1050–1320, 2nd edition, (Routledge, 2004), 193.