การเวก เสียงทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การะเวก เสียงทอง
ชื่อเกิดธงชัย แสงยุนนท์
ที่เกิดจังหวัดนครปฐม
แนวเพลงลูกทุ่ง
อาชีพนักร้อง

การะเวก เสียงทอง เป็นนักร้องลูกทุ่งชายยุคเก่า ที่มีน้ำเสียงไพเราะ และโด่งดังอย่างมากจากเพลง "อำนาจดวงตา"

ประวัติ[แก้]

การะเวก เสียงทอง มีชื่อจริงว่า "ธงชัย แสงยุนนท์" เกิดวันอังคาร ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ปีเถาะ เกิดที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม (แถววัดไผ่ล้อม) คุณพ่อชื่อ ทับ คุณแม่ชื่อ จำรัส แสงยุนนท์ พี่น้องทั้งหมด 4 คน เขาเป็นคนที่ 3 แต่น้องสาวเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก (ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว) ครอบครัวลำบากยากจนอย่างมาก

จนเมื่อ พ.ศ. 2485 น้ำท่วมใหญ่ย้ายมาอยู่ ประตูน้ำวังสระปทุม เขตปทุมวัน โดยคุณพ่อยึดอาชีพเป็นนักปั่นสามล้อรับจ้าง ธงชัยจึงได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเฉลิมโลก เขตราชเทวี แต่เรียนอยู่ที่นั้นได้แค่ปีเดียว เพราะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา นักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนของผู้ประกอบอาชีพปั่นสามล้อ ได้รวบรวมให้ผู้ประกอบอาชีพปั่นสามล้อทั้งหมดมารวมกันอยู่ที่สนามม้านางเลิ้งที่เดียว ธงชัยจึงได้ย้ายมาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนวัดญวนสะพานขาว (ปัจจุบันคือ วัดสมณานัมบริหาร) แต่พอจบชั้น ป.2 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจทางครอบครัว

ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เขาจำต้องออกมาทำงานเพื่อช่วยพ่อแม่หาเงินมาจุนเจือครอบครัว โดยขายโปรแกรมม้า และมาเป็นผู้ช่วยนักกอล์ฟ (แคดดี้) ที่สนามกอล์ฟดุสิตในพระบรมราชูปถัมภ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ทำอยู่ได้ 3 ปีก็ออก

ปี พ.ศ.2495 อายุประมาณ 13-14 ปี ก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์พีระ สีฟ้า สาย 16 ของพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช วิ่งระหว่างเตาปูน ถึง สุรวงศ์ โดยธงชัยทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์พีระอยู่ได้ประมาณ 3 ปีก็ลาออก

จากนั้น จึงเริ่มไปฝึกเล่นลิเกกับโต้โผลิเกชื่อดัง หลังจากฝึกเล่นลิเกไปได้ระยะหนึ่ง ธงชัยได้คิดจะหาอาชีพเสริมอีก เนื่องจากเขาเป็นคนที่มีรูปร่างบึกบึน เพื่อนจึงแนะนำให้ไปเป็นนักมวย เพื่อจะได้มีเงินมาเลี้ยงชีพในระหว่างที่ฝึกเล่นลิเก เขาจึงได้หันไปเป็นนักมวย ตอนนั้นธงชัยฝึกเล่นลิเกไปด้วย กลางคืนก็เป็นนักมวย แพ้บ้างชนะบ้าง สลับกันไป แต่ก็พอมีเงินประทังชีวิต หากว่างเว้นจากงานลิเกและชกมวย ธงชัยก็หันไปประกวดร้องตามงานวัดต่าง ๆ บ้าง

ปี พ.ศ.2502 ธงชัยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ย่างเข้าสู่ 21 ปี) ครบเกณฑ์ทหารตามข้อกำหนด จึงไปเกณฑ์ทหารและจับได้ใบแดง ถูกส่งตัวสังกัดกรมช่างอากาศโยธิน เป็นทหารรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี แต่ในระหว่างเป็นทหารนั้น ธงชัยก็ยังไปสมัครร้องเพลงประกวดงานวัดอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวัดอินทร์บางขุนพรหม, วัดจางวางดิษฐ์(วรจักร), วัดหัวลำโพง(สามย่าน), วัดสระเกศ(ภูเขาทอง), วัดใหม่พิเรนทร์ โพธิ์สามต้น, วัดหนัง ฝั่งธน ผู้บังคับบัญชาก็ส่งเสริม เพราะเห็นว่าเสียงดี นอกจากเป็นนักร้องประกวดแล้ว ธงชัยก็ยังเป็นนักมวยประจำหน่วยทหารด้วย โดยใช้ชื่อการเป็นนักมวยว่า เพชรน้อย ลูกอากาศโยธิน

เข้าวงการ[แก้]

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2503 วงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง มาเปิดการแสดงที่วัดไผ่ตันและก็จัดให้มีการประกวดร้องเพลงซึ่งธงชัยก็ได้ขึ้นประกวดด้วย จนผ่านเข้ารอบไปชิงชนะเลิศในคืนสุดท้าย โดยสมานมิตรนั้นอยากได้นักร้องใหม่เข้าสังกัดวง จึงได้ประกวดรอบชิงชนะเลิศในนามวงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง จนเหลือนักร้องสองคนสุดท้ายที่มีคะแนนสูสีกัน คนหนึ่งคือ ธงชัย ส่วนอีกคนเป็นนักร้องเจ้าถิ่น กรรมการซึ่งประกอบด้วย พีระ ตรีบุปผา, ชาญชัย บัวบังศร และสมานมิตร ก็ยากที่จะให้ใครชนะ จึงให้ทั้ง 2 คนขึ้นร้องอีกคนละเพลง โดยใช้เสียงคนดูหน้าเวทีตัดสิน ผลปรากฏว่าธงชัยได้รับเสียงปรบมือกึกก้องไปทั้งหน้าเวทีแบบขาดลอย ธงชัยจึงชนะเลิศในคืนนั้น สมานมิตร เกิดกำแพง จึงรับไว้เป็นนักร้องในวง แต่รอให้ปลดประจำการเสียก่อนแล้วค่อยไปรายงานตัว

ปี พ.ศ.2504 ธงชัยก็ปลดเกณฑ์เป็นทหารกองประจำการ หลังจากกลับไปอยู่บ้านพักหนึ่ง ก็เดินทางไปรายตัวเข้าเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง ธงชัยได้เป็นนักร้องเดินสายอยู่กับวงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง ตั้งแต่บัดนั้น

สมานมิตรเห็นว่าธงชัยมีเสียงใสไพเราะ ร้องเพลงแนวลิเกก็ไพเราะไม่แพ้ไพรวัลย์ ลูกเพชร เสียงดุจดังนกการะเวก สมานมิตร เกิดกำแพงจึงตั้งชื่อการเป็นนักร้องให้ว่า การะเวก เสียงทอง และได้แต่งเพลงเพลงให้ร้องบันทึกเสียงเพลงแรก ในเพลง มิตรเพลงคนจน และต่อด้วยเพลง พ่อหม้ายเมียทิ้ง แต่มาดังจริง ๆ ในเพลงที่ 3 คือ อำนาจดวงตา เป็นเพลงแนวลิเกที่ถนัด ต่อมาสมานมิตรก็แต่งเพลงแนวลิเกให้ร้องอีกหลายเพลง เช่น เสน่ห์รอยยิ้ม, การะเวกเสกมนต์, คลีโอพัตราในฝัน, สาลิกาลิ้นทอง, คนหลายเมีย, เตือนใจหญิง, สิ้นเวรกันที ฯลฯ รวมเพลงที่ร้องบันทึกเสียงทั้งหมด ประมาณ 40 – 50 เพลง

ดูแลกาเหว่า เสียงทอง[แก้]

การะเวก เสียงทอง เป็นนักร้องอยู่วงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง ร่วมรุ่นกับ ปทุมทิพย์ บัวตะมะ, อัศวิน เกิดกำแพง, สมจิตร กิจกำธร, วินัย วรนารถ ต่อมาก็มี แก้ว เบญจกาย, ยุพิน แพรทอง, เอส.เค. เกิดกำแพง (กำแพง พิมพ์ใจ), กาเหว่า เสียงทอง โดยเฉพาะ กาเหว่า เสียงทอง หัวหน้าวงมอบหมายให้เขาเป็นผู้ดูแล ชื่อ กาเหว่า เสียงทอง เขาและปทุมทิพย์ บัวตะมะ ช่วยกันตั้งให้ เข้ามาอยู่วงใหม่ ๆ กาเหว่า เสียงทอง ร้องเพลงล่มหน้าเวที จนหัวหน้าวงไม่ให้ร้องอีกเลย การะเวกก็พยามแก้ปัญหา คอยพูดขอโอกาสจากหัวหน้าวง จนกระทั่งสมานมิตรให้โอกาสเพราะเกรงใจการะเวก กาเหว่าจึงได้ร้องเพลงหน้าเวทีอีกครั้งที่กว๊านพะเยา และก็ไม่ทำให้ทั้งหัวหน้าวงและการะเวกผู้ฝึกสอนต้องผิดหวัง เมื่อกาเหว่าร้องเพลง สามปีที่ไร้นาง (ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ) ได้เฉียบขาดจนได้รับเสียงปรบมือกึกก้องหน้าเวที สมานมิตรจึงให้ความไว้วางใจให้ร้องเพลงหน้าเวทีตลอดมา กาเหว่าจึงรักและนับถือการะเวก เสียงทอง เหมือนพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน

ออกจากสมานมิตร[แก้]

การะเวก เสียงทอง อยู่กับวงดนตรีสมานมิตร เกิดกำแพง ได้ประมาณ 4 ปี ก็ลาออกไปตั้งวงเป็นของตัวเอง โดยพา ราตรี เอี่ยมสำอางค์ และ กาเหว่า เสียงทอง ไปด้วย

วงดนตรีการะเวก เสียงทอง ตั้งวงอยู่ราว 3 – 4 ปีก็ยุบวง เนื่องจากนักร้องหลักในวงมีน้อย ทำให้การแสดงในแต่ละที่คนดูมีน้อย สู้วงใหญ่ ๆ อย่าง รวมดาวกระจาย, จุฬารัตน์, สุรพล สมบัติเจริญ ไม่ได้

ปี พ.ศ.2510 เมื่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง ก็ไปอยู่กับวงไวพจน์ และไม่ลืมที่จะพา ราตรี เอี่ยมสำอางค์ และ กาเหว่า เสียงทองไปอยู่ด้วย

ปี พ.ศ.2511 ได้พา กาเหว่า เสียงทอง ไปฝากไว้กับ เพลิน พรหมแดน เพื่อให้ช่วยส่งเสริม ในระหว่างที่รอ การะเวก เสียงทอง ก็แต่งเพลงให้กาเหว่า เสียงทอง ร้องบันทึกเสียง 2 เพลง เพลงแรก ลาบ้านเกิด เพลงที่ 2 สาวสะอื้น โดยการะเวกลงทุนให้ทั้งหมด จากน้ำเสียง และลีลาการร้องแหล่แบบไวพจน์ เพชรสุพรรณ ทำให้แฟนเพลงเริ่มรู้จักกาเหว่า เสียงทอง ต่อมา เพลิน พรหมแดน ก็พากาเหว่า เสียงทอง ไปหาครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูไพบูลย์ก็มอบเพลง หนุ่มเรือนแพ มาให้ร้อง จนทำให้กาเหว่า เสียงทอง โด่งดังเป็นพลุแตกแต่ตั้งแต่ปีนั้น

เมื่อกาเหว่า เสียงทอง มีชื่อเสียงโด่งดัง การะเวกจึงได้ลาออกจากวงดนตรีไวพจน์ แล้วมาทำงานที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น ทำขวัญนาค, ตั้งคณะลิเกเป็นของตัวเอง, แต่งเพลงให้กับนักร้องทั่วไปขับร้อง, ในราวปี พ.ศ.2534 ตั้งค่ายมวยเป็นของตัวเองเพื่อสร้างลูกศิษย์ลูกหาในอาชีพมวยที่ตัวเองผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ใช้ชื่อค่ายมวยว่า “ศิษย์การะเวก” โดยมีลูกชาย 2 คนเป็นนักมวยอยู่ในคณะ ยามว่างก็รับเชิญไปร้องเพลงตามงานทั่วไป แต่อาชีพหลักที่ทำมายาวนานจนถึงบั้นปลายของชีวิต คือ การทำขวัญนาค

แต่งเพลง[แก้]

นอกจากความสามารถด้านการร้องเพลง ทำขวัญนาค เล่นลิเก และ การทำมวย การะเวก เสียงทอง ยังเป็นนักแต่งเพลงที่มีฝีมือด้วย โดยรวมเพลงที่ การะเวก เสียงทอง แต่งไว้ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งที่ได้รับการบันทึกเสียง และไม่ได้บันทึกเสียง ประมาณ 200 เพลง ซึ่งหลายเพลงก็ถูกนักร้องชื่อดังนำไปบันทึกเสียง เช่น

  • ยอดรัก สลักใจ /เพลงเมียหนี และ นาคลาแฟน
  • ไวพจน์ เพชรสุพรรณ /เพลงบางกอกโกหก , กำเนิดของคน และ ดอกฟ้ากับยาจก
  • นิพนธ์ ดาวสุพรรณ /เพลงคอยน้องกลับนา
  • กาเหว่า เสียงทอง /เพลงลาบ้านเกิด และ สาวสะอื้น
  • ราตรี เอี่ยมสำอางค์ /เพลงหญิงกำพร้า
  • กาญจนา มาศิริ /เพลงรักเดียวคือพี่ , แหล่ สอนนาค , แหล่ แพ้ท้อง , บวชก่อนเถิดพี่ , สายเลือดแม่ , ปวดท้อง , กล่อม , แหล่ พระคุณพ่อแม่ , แหล่ เชิญขวัญ , เบิกบายศรี และ กลองยาวแห่นาค

ชีวิตครอบครัว[แก้]

การะเวก เสียงทอง ผ่านการสมรสมา 2 ครั้ง

สมรสครั้งแรก กับ ราตรี เอี่ยมสำอางค์ มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 3 คน ดังนี้

1.นายชูชาติ แสงยุนนท์

2.นางสาวกาญจนา แสงยุนนท์

3.นางสาวยมนา แสงยุนนท์

สมรสครั้งที่ 2 กับ ปรานี เหลืองอ่อน มีบุตรชาย 2 คน ดังนี้

1.นายกฤษณะ แสงยุนนท์

2.นายกฤษชัย แสงยุนนท์

บั้นปลายชีวิต[แก้]

การะเวก เสียงทอง โดยพำนักอยู่กับบุตรสาวที่อำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ได้เกือบปี ในปี พ.ศ.2560 ก็ย้ายไปอยู่กับบุตรสาวอีกคน ที่อำเภออ่างศิลา จังหวัดชลบุรี และอยู่ที่นั่นตลอดมา

การะเวกยังรับงานร้องเพลงบ้าง ร้องประจำตามห้องอาหารบ้าง ทำขวัญนาคบ้าง รวมทั้งรับจัดดนตรีตามงานบวช การแต่ง งานเลี้ยง และวงปี่พาทย์ ร่วมกับ ยมนา เสียงทอง ซึ่งเป็นบุตรสาว แม้อายุของท่านจะล่วงเลยเลข 8 แล้ว แต่สุ้มเสียงของท่านก็ยังไพเราะน่าฟัง [1]

เสียชีวิต[แก้]

การะเวก เสียงทอง ได้เสียชีวิตแล้ว ด้วยการนอนหลับไปเฉย ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 เดือนกว่า ๆ ท่านเกิดอุบัติเหตุถูกรถชนสะโพกแตก หมอต้องทำการผ่าตัดสะโพก และนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็กลับมานอนพักฟื้นอยู่ที่บ้านได้ 1 เดือนเศษ ๆ จนได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อตอนเย็นวันที่ 19 เมษายน​ 2567 โดยมีพิธีรดน้ำศพ ที่วัดบางพลีใหญ่ใน ศาลา 8 (วัดหลวงพ่อโต) ตำบลบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 20 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น. และสวดพระอภิธรรมเป็นคืนแรก จากนั้นจึงฌาปนกิจศพในวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.

อ้างอิง[แก้]