ข้ามไปเนื้อหา

การบำบัดด้วยการรู้อาศัยสติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การบำบัดด้วยการรู้อาศัยสติ[1] หรือ การบำบัดความคิดอาศัยสติ (อังกฤษ: Mindfulness-based cognitive therapy ตัวย่อ MBCT) เป็นการบำบัดทางจิตวิทยาออกแบบเพื่อไม่ให้เกิดความซึมเศร้าอีก โดยเฉพาะในบุคคลที่เป็นโรคซึมเศร้า (MDD)[2] เป็นการบำบัดที่มุ่งโรค MDD โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้แตกต่างจากการบำบัดที่อาศัยสติอื่น ๆ เช่น การลดความเครียดอาศัยสติ (mindfulness-based stress reduction) ซึ่งใช้ได้กับความผิดปกติหลายอย่าง และการป้องกันการกลับติดอีกอาศัยสติ (mindfulness-based relapse prevention) ซึ่งใช้ในการติด[3]

MBCT ใช้เทคนิคของการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) และเพิ่มกลยุทธ์ทางจิตวิทยาใหม่ ๆ เช่น สติ และการเจริญสติ (mindfulness meditation) และอาจจะรวมการให้การศึกษาแก่คนไข้เรื่องความซึมเศร้า[4] การเจริญสติมุ่งที่จะสำนึกถึงความคิดและความรู้สึกทั้งหมดแล้วยอมรับ โดยไม่เข้าไปยึดติดหรือมีปฏิกิริยาต่อพวกมัน[5] ซึ่งเป็นกระบวนการ (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Decentering จะแปลว่า ไม่ยึดว่าเป็นตน) ที่ช่วยหยุดการติตนเอง การครุ่นคิด และอารมณ์ไม่ดี ที่ล้วนอาจเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อรูปแบบความคิดที่ไม่ดี[3] โดยเหมือนกับ CBT การบำบัดนี้อาศัยทฤษฎีว่า เมื่อบุคคลที่มีประวัติซึมเศร้าเกิดความทุกข์ พวกเขาจะกลับใช้กระบวนการความคิดอัตโนมัติที่สามารถจุดชนวนภาวะซึมเศร้า (depressive episode) อีก[6] จุดมุ่งหมายของ MBCT ก็เพื่อจะระงับกระบวนการอัตโนมัติเหล่านี้และฝึกให้คนไข้มีปฏิกิริยาน้อยลงต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา แล้วแทนที่ด้วยการยอมรับและสังเกตสิ่งเหล่านั้นโดยไม่ตัดสินความดีไม่ดี[6] การฝึกสติเช่นนี้ทำให้สามารถสังเกตกระบวนการอัตโนมัติที่กำลังเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนปฏิกิริยาของตนให้เป็นความพินิจพิจารณา ซึ่งสมมุติกันว่า เป็นส่วนของ MBCT ที่เป็นเหตุของผลต่างที่ได้ทางคลินิก[3]

นอกจากจะใช้ลดความรุนแรงของความซึมเศร้า ผลงานวิจัยยังสนับสนุนประสิทธิผลของการเจริญสติเพื่อลดความอยากสารที่บุคคลติด การติดเป็นกระบวนการที่ทำสมองส่วน prefrontal cortex (ตัวย่อ PFC) ให้อ่อนแอลง PFC ปกติจะช่วยระงับการหาความสุขในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในอนาคต การเจริญสติเป็นเวลา 2 อาทิตย์โดยใช้เวลาทั้งหมด 5 ชม. ช่วยคนสูบบุหรี่ให้ลดบุหรี่ได้ 60% และลดความอยาก แม้ในผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ได้ตั้งใจเลิกบุหรี่มาตั้งแต่ต้น การสร้างภาพสมอง (Neuroimaging) ของผู้ฝึกเจริญสติพบการทำงานที่เพิ่มขึ้นใน PFC ซึ่งแสดงถึงการควบคุมตัวเองได้ดีกว่า[7]

พื้นเพ

[แก้]

ในปี 1991 นักวิจัยชาวอังกฤษคู่หนึ่ง (Philip Barnard และ John D. Teasdale) ได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับใจมีหลายระดับที่เรียกว่า “Interacting Cognitive Subsystems” (ICS) ที่อ้างว่า ใจมีรูปแบบ (mode) หลายอย่างที่มีหน้าที่รับและประมวลข้อมูลใหม่ ๆ ทั้งทางการรู้คิดและทางอารมณ์ ทฤษฎีนี้สัมพันธ์ความเสี่ยงต่อความซึมเศร้าของบุคคลกับระดับที่บุคคลใช้รูปแบบเดียวของใจ โดยระงับการทำงานแบบอื่น ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ[8]

รูปแบบหลักสองอย่างของใจรวมทั้งแบบ "ทำ" และแบบ "เป็น" แบบ "ทำ" รู้จักอีกอย่างว่าแบบ "มีแรงจูงใจ" ซึ่งเป็นแบบที่สนใจในเป้าหมาย และจะทำงานเมื่อสิ่งที่ใจต้องการให้เป็นขัดแย้งกับเหตุการณ์จริง ๆ[9] แบบที่สองคือแบบ "เป็น" ที่ไม่ได้สนใจการเข้าถึงเป้าหมาย แต่เน้นที่ "ยอมรับและปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็น" โดยไม่กดดันที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ในปัจจุบัน[9]: 73 

องค์ประกอบหลักของทฤษฎีนี้ก็คือ ความสำนึกถึงความคิด (metacognitive awareness) ซึ่งเป็นความสามารถประสบกับความคิดและความรู้สึกเชิงลบโดยเป็นเพียงเหตุการณ์ทางใจที่แค่ผ่านไป โดยไม่ใช่เป็นส่วนของบุคคลนั้น ๆ[10] คนที่สำนึกถึงความคิดของตนเองสูงสามารถหลีกเลี่ยงความซึมเศร้าและรูปแบบความคิดเชิงลบได้ง่ายกว่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์เครียดในชีวิต เทียบกับบุคคลที่มีความสามารถนี้ต่ำกว่า[10] การสำนึกถึงความคิดเห็นได้จากความสามารถของบุคคลที่จะไม่ยึดว่าเป็นตน (decenter) ซึ่งเป็นความสามารถรับรู้ความคิดและความรู้สึก ทั้งโดยความไม่เที่ยงและความเป็นเหตุการณ์ที่เป็นกลาง ๆ/เป็นปรวิสัยที่เกิดในใจ[8]

ตามทฤษฎีนี้ สุขภาพจิตขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลที่จะยุติรูปแบบการทำงานของจิต หรือที่จะเปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น บุคคลที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบใจอย่างยืดหยุ่นได้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะมีสุขภาพจิตดีที่สุด ทฤษฎีนี้สมมุติว่า รูปแบบ "เป็น" จะเป็นรูปแบบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่คงยืน ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดความซึมเศร้าอีก การบำบัดทางประชานจะต้องโปรโหมตรูปแบบการทำงานนี้ของใจ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา MBCT ซึ่งโปรโหมตรูปแบบนี้[8]

ยังมีบุคคลอื่นที่ช่วยสร้างวิธีการบำบัดนี้ (คือ Zindel Segal และ J. Mark G. Williams) และมีฐานส่วนหนึ่งจากโปรแกรมการลดความเครียดอาศัยสติ (mindfulness-based stress reduction ที่พัฒนาโดย Jon Kabat-Zinn)[11] ทฤษฎีพื้นฐานของการแก้ปัญหาทางจิตวิทยาโดยอาศัยสติก็คือ การรู้สิ่งที่เป็นปัจจุบันโดยไม่เพ่งเรื่องในอดีตหรือในอนาคต ช่วยให้คนไข้สามารถรับมือตัวสร้างความเครียดในปัจจุบัน และกับความรู้สึกเป็นทุกข์ โดยมีใจที่สามารถยืดหยุ่นยอมรับได้ แทนที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งจะทำให้ปัญหายืนยาวขึ้น[5]

การประยุกต์ใช้

[แก้]

โปรแกรม MBCT เป็นการแทรกแซงแบบทำเป็นกลุ่มมีระยะเวลา 8 อาทิตย์ โดยมีชั้นที่เข้าเรียนทุกอาทิตย์เป็นเวลา 2 ชม. และมีการเรียนทั้งวันครั้งหนึ่งหลังจากอาทิตย์ที่ 5 แต่ว่าการฝึกโดยมากทำนอกชั้นเรียน โดยฝึกอาศัยสื่อต่าง ๆ ช่วย และพยายามเจริญสติในชีวิตประจำวัน[6] MBCT ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ที่จะใส่ใจหรือตั้งสมาธิประกอบด้วยเป้าหมาย ในทุก ๆ ขณะ โดยสำคัญที่สุดว่าไม่ตัดสินดีชั่ว[12]

โดยผ่านการฝึกสติ คนไข้สามารถเข้าใจได้ว่า การยึดติดกับความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ผลและเป็นอันตรายต่อจิตใจ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแบบการสอนการเจริญสติกับผู้ให้การบำบัดเพื่อเป็นประโยชน์ในการบำบัดคนไข้[12]: 18 

MBCT เป็นโปรแกรมการแทรกแซงที่พัฒนาโดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงต่อการเกิดความซึมเศร้าอีก โปรแกรมช่วยคนไข้ให้เรียนรู้ทักษะเพื่อบริหารใจที่นำไปสู่ความสำนึกถึงความคิดในระดับที่สูงขึ้น ยอมรับรูปแบบความคิดเชิงลบและตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม ในโปรแกรม คนไข้เรียนรู้ที่จะไม่ยึดติดความคิดและความรู้สึกเชิงลบว่าเป็นตน ช่วยให้ใจเปลี่ยนจากรูปแบบความคิดเชิงอัตโนมัติไปเป็นการประมวลอารมณ์ที่อยู่เหนือสำนึก (conscious emotional processing)[8] MBCT สามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อดำรงสภาพ (maintenance) คนไข้แทนยาแก้ซึมเศร้า แม้ว่ามันอาจจะไม่มีประสิทธิผลที่ดีกว่า[13]

การประเมินประสิทธิผล

[แก้]

แม้ว่า MBCT สามารใช้เป็นการรักษาทางเลือกหรือเพิ่มเติมสำหรับความซึมเศร้า ผลงานวิจัยแสดงว่า มีประสิทธิผลดีที่สุดในบุคคลที่มีประวัติคราวแสดงออกของโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 3 ครั้งในอดีต[3][14] ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลที่เกิดคราวซึมเศร้าจุดชนวนโดยเหตุการณ์ชีวิตยอมรับ MBCT ได้น้อยที่สุด[3] ส่วนงานวิเคราะห์อภิมานปี 2559 พบว่า MBCT มีประสิทธิผลในการป้องกันการเกิดคราวซึมเศร้าอีกในคนไข้ โดยเฉพาะถ้ายิ่งมีอาการที่เหลืออยู่มาก[15]

ผลงานวิจัยสนับสนุนว่า MBCT มีผลเพิ่มสติที่บุคคลแจ้งเอง (self-reported) ซึ่งแสดงว่า มีการสำนึกรู้ขณะปัจจุบัน การไม่ยึดว่าเป็นตน และการยอมรับมากขึ้น นอกเหนือไปจากการลดกระบวนการความคิดที่เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) เช่น การตัดสินดีชั่ว การไวปฏิกิริยา การครุ่นคิด และการห้ามความคิด[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "therapy, behavior/behaviour cognitive; therapy, cognitive", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (แพทยศาสตร์) การบำบัดด้วยการรู้
  2. Piet, J.; Hougaard, E. (2011). "The Effect of Mindfulness-Based Cognitive Therapy for Prevention of Relapse in Recurrent Major Depressive Disorder: a Systematic Review and Meta-Analysis". Clinical Psychology Review. 31 (6): 1032–1040. doi:10.1016/j.cpr.2011.05.002.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Hayes, Steven C.; Villatte, Matthieu; Levin, Michael; Hildebrandt, Mikaela (January 1, 2011). "Open, Aware, and Active: Contextual Approaches as an Emerging Trend in the Behavioral and Cognitive Therapies". Annual Review of Clinical Psychology. 7 (1): 141–168. doi:10.1146/annurev-clinpsy-032210-104449. PMID 21219193.
  4. Manicavasgar, V.; Parker, G.; Perich, T. (2011). "Mindfulness-Based Cognitive Therapy Vs. Cognitive Behaviour Therapy as a Treatment for Non-Melancholic Depression". Journal of Affective Disorders. 130 (1–2): 138–144. doi:10.1016/j.jad.2010.09.027.
  5. 5.0 5.1 Hofmann, S. G.; Sawyer, A. T.; Fang, A. (2010). "The Empirical Status of the "New Wave" of Cognitive Behavioral Therapy". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 701–710. doi:10.1016/j.psc.2010.04.006. PMC 2898899. PMID 20599141.
  6. 6.0 6.1 6.2 Felder, J. N.; Dimidjian, S.; Segal, Z. (2012). "Collaboration in Mindfulness-Based Cognitive Therapy". Journal of Clinical Psychology. 68 (2): 179–186. doi:10.1002/jclp.21832.
  7. Merluzzi, A (January 2014). "Breaking Bad Habits".{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) (APS Observer. 27, 1.)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Herbert, James D; Forman, Evan M (2011). Acceptance and Mindfulness in Cognitive Behavior Therapy: Understanding and Applying New Theories. Hoboken: John Wiley & Sons.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 Segal, Z; Teasdale, J; Williams, M (2002). Mindfulness-Based Cognitive Therapy for Depression. New York: Guilford Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 Herbert, James D; Forman, Evan M. Acceptance and Mindfulness in Cognitive Behavior Therapy: Understanding and Applying New Theories. Hoboken: John Wiley & Sons. p. 62.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  11. "Your Guide to Mindfulness-Based Cognitive Therapy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 11, 2016. สืบค้นเมื่อ June 11, 2016.
  12. 12.0 12.1 Fulton, P; Germer, C; Siegel, R (2005). Mindfulness and Psychotherapy. New York: Guilford Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  13. Kuyken, Willem; Hayes, Rachel; Barrett, Barbara; Byng, Richard; Dalgleish, Tim; Kessler, David; Lewis, Glyn; Watkins, Edward; Brejcha, Claire. "Effectiveness and cost-effectiveness of mindfulness-based cognitive therapy compared with maintenance antidepressant treatment in the prevention of depressive relapse or recurrence (PREVENT) : a randomised controlled trial". The Lancet. 386 (9988): 63–73. doi:10.1016/s0140-6736(14)62222-4.สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  14. Churchill, Rachel; Moore, Theresa HM; Furukawa, Toshi A; Caldwell, Deborah M; Davies, Philippa; Jones, Hannah; Shinohara, Kiyomi; Imai, Hissei; Lewis, Glyn (October 18, 2013). 'Third wave' cognitive and behavioural therapies versus treatment as usual for depression (ภาษาอังกฤษ). John Wiley & Sons. doi:10.1002/14651858.cd008705.pub2. ISSN 1465-1858.
  15. Kuyken, Willem; Warren, Fiona C.; Taylor, Rod S.; Whalley, Ben; Crane, Catherine; Bondolfi, Guido; Hayes, Rachel; Huijbers, Marloes; Ma, Helen; Schweizer, Susanne; Segal, Zindel; Speckens, Anne; Teasdale, John D.; Van Heeringen, Kees; Williams, Mark; Byford, Sarah; Byng, Richard; Dalgleish, Tim (April 27, 2016). "Efficacy of Mindfulness-Based Cognitive Therapy in Prevention of Depressive Relapse". JAMA Psychiatry. doi:10.1001/jamapsychiatry.2016.0076.