กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
Department of Women's Affairs and Family Development
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2545; 21 ปีก่อน (2545-10-03)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
สำนักงานใหญ่ไทย
เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ธนสุนทร สว่างสาลี [1], อธิบดี
  • สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ, รองอธิบดี
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เว็บไซต์https://www.dwf.go.th

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (อังกฤษ: Department of Women's Affairs and Family Development อักษรย่อ:สค.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานเสริมสร้างมาตรการ กลไกในการพัฒนาศักยภาพ ความเสมอภาคและความเท่าเทียม ระหว่างเพศ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีและผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด การป้องกันการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี การคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว

ประวัติ[แก้]

รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการ โดยยุบหน่วยงานที่กระจายอยู่ในหลายกระทรวง มาจัดตั้งกระทรวงและหน่วยงานระดับกรมขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงมีการจัดตั้งสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545 มาตรา 17 และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545 มาตรา 35 (1)

โดยมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2545 ในการจัดตั้งสำนักงานนี้ มีการรวมภารกิจบางส่วนของหน่วยงาน 3 หน่วยงานเข้าด้วยกัน คือ

  • คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี  
  • กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
  • กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

ต่อมามีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558[2] ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยรวมงานด้านนโยบาย ด้านวิชาการ และด้านการปฏิบัติของกลุ่มเป้าหมายเดียวกันให้อยู่ส่วนราชการเดียวกันแบ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ประกอบด้วย

  • สำนักงานปลัดกระทรวง
  • กรมกิจการเด็กและเยาวชน
  • กรมกิจการผู้สูงอายุ
  • กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้รับการโอนภารกิจที่เกี่ยวกับงานสตรี สำนักงานป้องกันและแก้ใขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก สถานสงเคราะห์สตรี และสถานสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่กฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการที่กำหนด

อำนาจหน้าที่[แก้]

  1. เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และมาตรฐานการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการส่งเสริม การพัฒนาศักยภาพ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี ครอบครัวผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี และผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
  2. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และองค์กรระหว่างประเทศ ในการดําเนินการตามนโยบาย พันธกรณี อนุสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสตรีครอบครัว ผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี และผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิดหน้า 19 เล่ม 133 ตอนที่ 94 ก ราชกิจจานุเบกษา 1 พฤศจิกายน 2559
  3. เสริมสร้างมาตรการ กลไกในการพัฒนาศักยภาพ ความเสมอภาคและความเท่าเทียม ระหว่างเพศ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีและผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด การป้องกันการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี การคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว
  4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง การดําเนินงาน การรับรอง และการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งขององค์กรภาคเอกชนด้านสตรีและครอบครัว รวมทั้งองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง
  5. บริหารจัดการและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสตรี ครอบครัว ผู้ประสบ ปัญหาจากการค้าประเวณี และผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
  6. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในการแก้ไขและพัฒนาสตรี ครอบครัว ผู้กระทําหรือผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว ผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี ผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิดและผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
  7. จัดบริการสวัสดิการสังคม การให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง แก้ไข เยียวยา บําบัด ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพของสตรี ผู้กระทําหรือผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว ผู้ที่ถูกศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี รวมทั้งผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
  8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ทำเนียบผู้บริหาร[แก้]

ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว[แก้]

  • 1. นางสีน้อย เกษมสันต์ ณ อยุธยา (17 พฤศจิกายน 2545 - 29 กันยายน 2546)
  • 2. นายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ (30 กันยายน 2546 - 30 กันยายน 2548)
  • 3. นายสุวิทย์ ขันธาโรจน์ (1 ตุลาคม 2548 - 30 กันยายน 2551)
  • 4. นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี (1 ตุลาคม 2553 - 31 ตุลาคม 2554)
  • 5. นายสมชาย เจริญอำนวยสุข (1 พฤศจิกายน 2554 - 4 มีนาคม 2558)

อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว[แก้]

  • 5. นายสมชาย เจริญอำนวยสุข (6 มีนาคม 2558 - 30 กันยายน 2558)
  • 6. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต (1 กันยายน 2558 - 30 กันยายน 2562)
  • 7. นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ (1 ตุลาคม 2562 - 30 กันยายน 2563)
  • 8. นางจินตนา จันทร์บำรุง (ปัจจุบัน)

อ้างอิง[แก้]