ข้ามไปเนื้อหา

ทีนา เทอร์เนอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tina Turner)
ทีนา เทอร์เนอร์
เทอร์เนอร์ขณะแสดงคอนเสิร์ตในฉลองครบรอบ 50 ปีในปี ค.ศ. 2009
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดแอนนา เม บุลล็อก
เกิด26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939(1939-11-26)
ที่เกิดนัตบุช, เทนเนสซี, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต24 พฤษภาคม ค.ศ. 2023(2023-05-24) (83 ปี)
แนวเพลงร็อก, ป็อป, อาร์แอนด์บี, โซล, ร็อกแอนด์โรล[1][2]
อาชีพนักร้อง, ผู้มอบความบันเทิง[3], นักแสดง, นักเต้น, นักแต่งเพลง
ช่วงปี1957–2023[4][5]
ค่ายเพลง
อดีตสมาชิกไอก์ แอนด์ ทีนา เทอร์เนอร์
คู่สมรส
เว็บไซต์www.officialtina.com

ทีนา เทอร์เนอร์ (อังกฤษ: Tina Turner) หรือ แอนนา เม บุลล็อก (อังกฤษ: Anna Mae Bullock; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939 – 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2023) เป็นนักร้องหญิงชาวอเมริกัน สัญชาติสวิส[6] เธอเริ่มมีชื่อเสียงกับอดีตสามีก่อนจะกลับมาดังในวัย 44 ปี ในฐานะศิลปินเดี่ยวกับอัลบั้ม Private Dancer เมื่อปีพ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984)

ทีนามีชื่อเสียงระดับโลกจากผลงานเพลงและการแสดงสดบนเวทีที่ตื่นเต้นทรงพลังทั้งน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และลีลาท่าเต้นที่เร้าใจ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชินีร็อกแอนด์โรล (Queen of Rock & Roll) "[7][8] อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนานหลายทศวรรษว่าเป็น "นักร้องหญิงที่มีเรียวขาสวยมากที่สุด" คนหนึ่งในวงการเพลงโลก[9][10] นอกจากเพลงร็อกแล้วเธอยังมีผลงานเพลงในแนวโซล อาร์แอนด์บี แดนซ์ คันทรี และป็อป อีกด้วย ชื่อของเธอติดอันดับชาร์ตระดับโลกหลายชาร์ตในการจัดอันดับของสถาบันและนิตยสารชั้นนำต่าง ๆ มากมาย เช่น นิตยสารโรลลิงสโตน ยกย่องเธอให้เป็นหนึ่งในนักร้องและศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล (The Immortals – The Greatest Artists of All Time and The Greatest singers of All Time) และใน ค.ศ. 2021 ทีนากลายเป็นศิลปินหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล (the Rock and Roll Hall of Fame) ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเธอกับไอก์ เทอร์เนอร์ อดีตสามี ได้รับการบันทึกไว้ในฐานะศิลปินคู่เมื่อ ค.ศ. 1991 และครั้งที่สองทีนาได้รับการบันทึกไว้ในฐานะศิลปินเดี่ยว

ผลงาน

[แก้]

ทีนาเป็นทั้งนักร้อง-นักแต่งเพลง นักเต้น และ นักแสดง และได้รับการจารึกชื่อบนฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1986[11] ทีนาได้รับรางวัลมากมายตลอดชีวิตการทำงานของเธอ รวมไปถึงรางวัลแกรมมีที่เธอได้รับมาแล้วรวมทั้งหมด 12 ครั้ง โดยใน 8 ครั้ง มาจากการเสนอชื่อเข้าชิง 25 ครั้ง[12] และเธอมีผลงานเพลงที่ได้รับเกียรติคัดเลือกจัดเข้าไปอยู่ใน Grammy Hall of Fame ถึง 3 เพลงด้วยกันคือ "River Deep - Mountain High" (1999), "Proud Mary" (2003) และ "What's Love Got to Do with It" (2012)[13] และอีกหนึ่งรางวัลคือ Grammy Lifetime Achievement Award

คอนเสิร์ต

[แก้]

ถึงแม้เทอร์เนอร์จะเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินร็อกหญิงที่โด่งดังและเป็นหนึ่งในศิลปินนักร้องที่มียอดขายมากที่สุดคนหนึ่ง[5] ด้วยยอดขายทั่วโลกรวมแล้วเกือบ 200 ล้านชุดก็ตาม[11][14] แต่สำหรับเธอ เธอมองตัวเองว่าเป็น'ผู้มอบความบันเทิง' (อังกฤษ: Performer) มากกว่า[3] เพราะตั้งแต่เริ่มเข้าวงการจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลากว่า 60 ปี สิ่งที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้ทีนามากที่สุดคือการแสดงสด คอนเสิร์ตของทีนาเป็นที่ร่ำลือถึงพลังความร้อนแรง ลีลาที่เร่าร้อน และเป็นการแสดงสดที่มีคุณภาพ[7] ใน ค.ศ. 1986 การแสดงคอนเสิร์ต Break Every Rule World Tour ที่ รีโอเดจาเนโรของทีนาได้รับการบันทีกลงในกินเนสบุ๊กว่ามีผู้ซื้อบัตรเข้าชมมากที่สุดสำหรับศิลปินเดี่ยวเป็นจำนวนสูงถึง 184,000 คน และใน ค.ศ.2000 ทีนาครองแชมป์ ทัวร์คอนเสิร์ตทำเงินสูงสุดแห่งปี 2000 ในทวีปอเมริกาเหนือ ทำรายได้ 80.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการทัวร์ Twenty Four Seven Tour ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตอำลาเวทีการแสดงสดในสเตเดียมใหญ่ ๆ ของทีนา ซึ่งในเวลานั้นเป็นอันดับที่ 5 ของคอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล จากการรายงานของนิตยสาร Pollstar[15] ทั้ง ๆ ที่อัลบั้ม Twenty Four Seven มียอดขายน้อยและซิงเกิลทั้งสองเพลงจากอัลบั้มนี้ก็ไม่ฮิตติดอันดับของบิลบอร์ดเลยแม้แต่เพลงเดียว แต่บัตรคอนเสิร์ตของทีนากลับสามารถขายได้หมดทุกที่นั่งเกือบทุกโชว์ ซึ่งตรงกันข้ามกับทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วว่า การทัวร์คอนเสิร์ตจะประสบความสำเร็จได้ อัลบั้มที่จะออกทัวร์ต้องมียอดขายสูงและต้องมีซิงเกิลที่ฮิตติดอันดับ[16] และในปีเดียวกันนั้น ทีนาได้รับการบันทีกลงในกินเนสบุ๊กอีกครั้งว่าเป็นศิลปินเดี่ยวที่มียอดขายตั๋วคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก[17][18][19][20]

1975-1982

[แก้]
  • Wild Lady of Rock Tour: 1978[17]
  • Nice & Rough Tour: 1982

1984-2008

[แก้]
  • Private Dancer Tour: 1984–85[19]
  • Break Every Rule World Tour: 1987–88
  • Foreign Affair World Tour: 1990
  • What’s Love Tour: 1994
  • Wildest Dreams World Tour: 1996–97
  • 247 Millennium Tour: 2000
  • Tina! 50th Anniversary Tour: 2008

ผลงานเพลง

[แก้]

สตูดิโออัลบั้ม

[แก้]

ถึงวันนี้เธอมีเพลงที่ติดใน ทอปเท็นบิลบอร์ดฮอต 100 ทั้งหมด 7 เพลง[21] มีเพลงติดในทอปเท็นบิลบอร์ดฮอต R&B singles อยู่ 16 เพลง และเธอยังเป็นศิลปินคนแรกที่มีเพลงติดใน Top 40 hits ในสหราชอาณาจักรตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษ โดยมีทั้งหมด 35 เพลง[22]

เพลงประกอบภาพยนตร์

[แก้]

ทีนา มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมหลายเพลงเช่น "Acid Queen" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Tommy ในปี 1975, "We Don't Need Another Hero" จาก Mad Max Beyond Thunderdome ปี 1985, "I Don't Wanna Fight" ในปี 1993 จากภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอ และใน ค.ศ. 1995 ทีนาได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง GoldenEye หรือ พยัคฆ์ร้าย 007 รหัสลับทลายโลก ในปี 2003 ทีนามีผลงานเพลง "Great Spirits" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูนของค่ายดิสนีย์เรื่อง Brother Bear[23] ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีนาได้เคย ร่วมงานกับค่ายดิสนีย์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1999 กับผลงานเพลง "He Lives in You" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Lion King II: Simba's Pride[24] นอกจากนั้นผลงานเพลงในอดีตของทีนายังเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่นเพลง "Break Through the Barrier" จากภาพยนตร์เรื่อง Days of Thunder (1990)[25] และเพลง "The Best" จากภาพยนตร์เรื่อง Hitman's Wife's Bodyguard (2021)[26]

ผลงานการแสดง

[แก้]

นอกจากงานเพลงแล้ว ทีนามีผลงานการแสดงรวมทั้งสิ้น 4 เรื่อง โดยเริ่มจากการรับบทเป็น "Acid Queen" ในภาพยนตร์เรื่อง Tommy ที่สร้างจากการดัดแปลงเนื้อหาในคอนเซ็ปต์อัลบั้มชื่อเดียวกันแนวร็อกโอเปราของเดอะ ฮู ออกฉายใน ค.ศ. 1975[27] ต่อมาใน ค.ศ. 1978 ทีนาร่วมแสดงเป็นดารารับเชิญพิเศษในฉากปิดของภาพยนตร์เรื่องSgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band[28] ใน ค.ศ. 1985 ทีนาได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดง เมื่อเธอได้ร่วมแสดงนำคู่กับเมล กิบสัน รับบทเป็น "Antie Entity" ซึ่งเป็นบทที่เขียนขึ้นมาเพื่อเธอโดยเฉพาะในภาพยนตร์แนวแอกชันสัญชาติออสเตรเลียเรื่อง Mad Max: Beyond Thunderdome (แมดแม็กซ์ 3)[29] และบทรับเชิญใน Last Action Hero ปี 1993 นำแสดงโดยอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์

ละครเพลง

[แก้]

ใน ค.ศ. 2018 ละครเพลงชีวประวัติของเธอเรื่อง Tina: The Musical ที่เธอมีส่วนร่วมในการผลิตอย่างเต็มตัว ได้เปิดการแสดงขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงละคร Aldwych Theatre ในเวสต์เอนด์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ[30] และจะเปิดการแสดงที่บรอดเวย์ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายปี 2019[31]

ผลงานอื่น ๆ

[แก้]

ในปี 1986 ทีนาได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติ ชื่อ I, Tina เล่าถึงชีวิตตั้งแต่เด็ก และเป็นครั้งแรกที่เธอเปิดโปงถึงเรื่องราวชีวิตการแต่งงานระหว่างเธอกับไอก์ ที่เธอได้รับการทารุณทำร้ายร่างกายอย่างสาหัสเกือบตลอดช่วงชีวิตการแต่งงาน จนถึงการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของเธอ ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในการกลับมาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์วงการเพลงโลก[32] ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติเรื่อง What's Love Got to Do with It ที่ออกฉายในปี 1993 นำแสดงโดยแองเจลา แบสเซท และลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น ซึ่งทั้งสองนักแสดงนำต่างมีชื่อเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ โดยก่อนหน้านั้นแองเจลา แบสเซท ผู้ซึ่งรับบทนำเป็น ทีนา สามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ ได้สำเร็จ

ในช่วงปลาย ค.ศ. 2018 เรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่เกิดรวมถึงชีวิตรักของเธอในปัจจุบันได้รับการถ่ายทอดโดยสิ้นเชิงด้วยตัวเธอเองลงในหนังสือชื่อ Tina Turner: My Love Story ในหนังสืออัตชีวประวัติเล่มที่สองของเธอนี้ เธอได้เล่าถึงเหตุการณ์ร้ายแรงไม่คาดฝันที่ทำไห้เธอเกือบเสียชีวิตที่เกิดขึ้นไม่นานหลังงานแต่งงานของเธอกับ เออร์วิน บาค สามีต่างวัยผู้บริหารวงการเพลงชาวเยอรมัน ที่เธอคบหามานานเป็นเวลากว่า 30 ปี และการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของเขาที่ต่ออายุให้เธอจนสามารถมีชีวิตอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้[33][34]

รางวัลเกียรติยศ

[แก้]
  • ในปี ค.ศ. 1995 ทีนาได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศสด้านศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศส นายฟิลิปป์ ดูสต์-บลาซี[35] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศสด้านศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์หรือ Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส ที่มอบให้แก่ศิลปินที่มีฝีมือโดดเด่น เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูบุคคลผู้มีผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะหรือวรรณกรรม และเป็นบุคคลที่ได้ร่วมส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะและอักษรศาสตร์ในฝรั่งเศสและทั่วโลกอย่างต่อเนื่องตลอดมา
  • Grammy Special Merit Award: รางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award, 2018 The Recording Academy หรือ สถาบันศิลปะวิทยาการการบันทึกเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา ให้เกียรติ ทีนา เทอร์เนอร์ ด้วยการมอบรางวัลเกียรติยศ Grammy Lifetime Achievement Award ให้แก่เธอในฐานะศิลปินผู้สร้างเกียรติยศและคุณประโยชน์ให้แก่วงการดนตรีเรื่อยมา[36]
  • The Kennedy Center Honors, 2005 รางวัลเคนเนดีเซนเตอร์ออนเนอร์ส เป็นรางวัลเกียรติยศสาขาศิลปะการแสดงที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จอันสูงสุด ที่ทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและ สถาบันจอห์น เอฟ. เคนเนดีเพื่อศิลปะการแสดง หรือเคนเนดีเซ็นเตอร์ (John F. Kennedy Center for the Performing Arts, ชื่อเดิม John F. Kennedy Memorial Center for the Performing Arts) ได้ร่วมกันจัดงานกาล่าดินเนอร์พิธีมอบรางวัลฯ ขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1978 และจัดต่อเนื่องเรื่อยมาทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องศิลปินที่มีความรู้ ความสามารถ และฝีมือที่โดดเด่น เป็นศิลปินที่สร้างสรรศิลปะเพื่อส่งเสริมวัฒนะธรรมอเมริกันให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป[37] ทีนาได้รับรางวัลฯ จากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช โดยมี โอปราห์ วินฟรีย์, บียอนเซ่, ควีน ลาติฟาห์ และ เมลิสซา อีเธลริดจ์ ร่วมแสดงความยินดี[38]

การนับถือศาสนาพุทธ

[แก้]

ในปี 1974 ทีน่าเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ขององค์กรโซคากักไก จากการชักชวนของ ‘วาเลรี่ บิชอพ’ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน วาเลรี่รู้ว่าสภาพจิตใจของทีน่ากำลังหดหู่เนื่องจากโดนสามีทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน จึงแนะนำให้ทีน่ารู้จักศาสนาพุทธเพราะเชื่อว่าจะช่วยในด้านจิตวิญญาณ ทีน่าไม่เคยมีความรู้เรื่องพุทธศาสนามาก่อน แต่เมื่อได้สัมผัสหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งบอกว่า 'ตัวเราเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของตัวเอง มิใช่ผู้อื่น' ทีน่าจึงหันมานับถือศาสนาพุทธ ทีน่าเคยกล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า “จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ฉันมองว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ การสวดมนต์จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ ซึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของตัวเรา”[39] ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทำให้ทีน่าเห็นประโยชน์ในพระธรรมและการสวดมนต์เป็นกิจวัตร ส่งผลให้ชีวิตของทีน่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การสวดมนต์นอกจากจะช่วยให้จิตใจของทีน่าเข็มแข็งจนสามารถหย่าขาดจากสามีแล้ว ยังช่วยให้ทีน่าประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ทีน่ายึดมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์จวบจนลมสุดท้ายของชีวิต

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pierce, Charles P. (24 พฤษภาคม 2023). "Rest In Peace to Tina Turner, a True Rock 'n Roll Singer". Esquire. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2023.
  2. Snapes, Laura (24 พฤษภาคม 2023). "Tina Turner: legendary rock'n'roll singer dies aged 83". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2023.
  3. 3.0 3.1 Norment, Lynn (มิถุนายน 1982). "Tina Turner: Single, Sassy and Going Strong". Ebony. Vol. 37 no. 8. Chicago: Johnson Publishing Company. p. 66–70. ISSN 0012-9011. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2020. I'm a performer first, and a recording artist second
  4. "Tina Turner marries her partner in Switzerland". BBC. 18 กรกฎาคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2019.
  5. 5.0 5.1 Garvey, Marianne (14 กรกฎาคม 2020). "Tina Turner comes out of retirement with a remix of 'What's Love Got To Do With It?'". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2020. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ ":1" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  6. "Tina Turner formally relinquishes her US Citizenship to become the citizen of Switzerland". The Washington Post. 12 พฤศจิกายน 2013.
  7. 7.0 7.1 "TINA 80". สยามรัฐ. 30 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2020.
  8. "Gallery of The Popular Image - Tina Turner in Miami". San Francisco Art Exchange.
  9. "Tina Turner Turns 77! Celebrating Her Knockout Stems". Vogue.
  10. "Tina Turner's Top Beauty Secrets". Woman and Home Magazine.
  11. 11.0 11.1 "Tina Turner". Hollywood Walk of Fame Stars.
  12. "Artist - Tina Turner". Grammy.com.
  13. "Hall of Fame". Grammy.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 เมษายน 2009. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2008.
  14. Holly George-Warren; Patricia Romanowski Bashe; Jon Pareles (2008) [1983]. The Rolling Stone Encyclopedia of Rock & Roll. Fireside.
  15. Christina Saraceno (29 ธันวาคม 2000). "Tina Turner the Top Touring Act of 2000". Rolling Stone.
  16. "Summer Brings Flood of Fests Across U.S.: Turner Shines". Billboard. Vol. 109 no. 21. Bangkok: Nielsen Business Media. 24 พฤษภาคม 1997. p. 101. ISSN 0006-2510. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2020.
  17. 17.0 17.1 "Tina Turner". New World Encyclopedia.
  18. Fred Jacobs (29 มีนาคม 2017). "Tina Turner World Class Singer - A Solo Star". Vallarta Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  19. 19.0 19.1 "Tina Turner". Rocker Supreme.
  20. Busnar, Gene (2007). The Picture Life of Tina Turner (Library Binding ed.). F. Watts Publishers. ISBN 0-531-10297-1.
  21. "Contemporary Musicians - Turner, Tina". eNotes.com. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-28.
  22. Bego, Mark (23 กันยายน 2005) [2003]. Tina Turner: Break Every Rule. Taylor Trade Publishing. ISBN 1-58979-253-X.
  23. "Tina records first song in four years for Disney film". Irish Examiner (ภาษาอังกฤษ). 3 ตุลาคม 2003.
  24. "Tina Turner". Biography (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  25. Giantino, Linda (1 เมษายน 2022). "Ranking All the Songs from the Days of Thunder Soundtrack". Chaospin (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  26. "Hitman's Wife's Bodyguard Soundtrack (2021) & Complete List of Songs". WhatSong (ภาษาอังกฤษ).
  27. Canby, Vincent (20 มีนาคม 1975). "'Tommy, ' The Who's Rock Saga". New York Times Newspaper. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019. Now at long last the man and his method have found a nearly perfect match in subject matter, "Tommy, " The Who's rock opera written by guitarist-composer Pete Townshend."Tommy" can take being fiddled with, and Mr. Russell's "Tommy" virtually explodes with excitement on the screen.
  28. ""5 Things You Might Not Know About Tina Turner"". Rhino.com. 29 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019. (Tina) ’s part of the closing number in the movie adaptation of The Beatles’ SGT. PEPPER’s LONELY HEARTS CLUB BAND
  29. ""5 Things You Might Not Know About Tina Turner"". Rhino.com. 29 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019. The role of Auntie Entity in Mad Max: Beyond Thunderdome was written specifically with her in mind by (director) George Miller.
  30. "How does Tina Turner rate her own musical?". BBC.com. 18 เมษายน 2018.
  31. Ruth Kinane (3 ตุลาคม 2018). "Tina Turner musical coming to Broadway in fall 2019". Entertainment Weekly.
  32. John Williams (10 มกราคม 2013). "10 biggest musical comebacks of all time". Toronto Sun.
  33. Keith Perry (5 ตุลาคม 2018). "Tina Turner reveals she underwent secret kidney transplant - with husband Erwin acting as her donor". The Mirror.
  34. "Tina Turner Reveals Husband Donated His Kidney for Her Transplant". Ebony. 8 October 2018.
  35. "FRANCE: PARIS: US SINGER TINA TURNER AWARDED ARTS HONOUR | AP Archive". www.aparchive.com.
  36. "Lifetime Achievement Award". Grammy.com. Recording Academy.
  37. "The Kennedy Center Honors". www.kennedy-center.org (ภาษาอังกฤษ).
  38. "Oprah Helps D.C. Salute Tina Turner". People.com (ภาษาอังกฤษ).
  39. "ทีน่า เทอร์เนอร์ ราชินีร็อกแอนด์โรล ฝ่ามรสุมรักด้วยหลักธรรม". MGR Online. 1 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2020. จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ฉันมองว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ การสวดมนต์จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ ซึ่งอยู่ในจิตใต้ สำนึกของตัวเรา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Tina Turner