แกเบรียล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Gabrielle (Singer))
แกเบรียล
ชื่อเกิดหลุยซ์ แกเบรียล บ็อบ
เกิด19 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (54 ปี)
ที่เกิดสหราชอาณาจักรแฮกนี่ย์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แนวเพลงป็อบ, อาร์แอนด์บี, โซล
อาชีพนักร้อง, นักแต่งเพลง
ช่วงปีพ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงโกบีต
ไอแลนด์
ยูนิเวอร์แซล
เว็บไซต์Gabrielle.co.uk

หลุยซ์ แกเบรียล บ็อบ (อังกฤษ: Louise Gabrielle Bobb) (เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2512) หรือที่รู้จักกันในวงการเพลงคือ แกเบรียล (อังกฤษ: Gabrielle) เป็นศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงหญิงชาวอังกฤษ เกิดที่เมืองแฮกนี่ย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอเปิดตัวด้วยซิงเกิลแรกที่มีชื่อว่า "Dreams" ซึ่งสามารถขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: UK Singles Chart) เมื่อปี พ.ศ. 2536 และมีผลงานซิงเกิลอื่น ๆ เช่น "Going Nowhere", "Give Me a Little More Time", "Walk on By" และ "If You Ever" ซึ่งร้องร่วมกับนักร้องกลุ่มบอยแบนด์ อีสต์ เซเวนทีน

หลังจากห่างหายไปจากวงการเพลงไม่กี่ปี แกเบรียลก็กลับมาอย่างงดงามด้วยซิงเกิล "Rise" ซึ่งเป็นซิงเกิลที่ 2 ที่ขึ้นสู่อันดับ 1 ได้อีกครั้งบนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2543 และอัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกันก็สามารถขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: UK Albums Chart) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นเธอก็ประสบความสำเร็จกับเพลง "Out of Reach" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "บันทึกรักพลิกล็อก" (อังกฤษ: Bridget Jones's Diary) สามารถขึ้นสู่อันดับที่ 4 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร และมีผลงานอัลบั้มรวมเพลง Dreams Can Come True, Greatest Hits Vol. 1 ซึ่งวางจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2544

ชีวิตในวัยเด็ก[แก้]

แกเบรียลเกิดในกรุงลอนดอน ครอบครัวดั้งเดิมมาจากดอมินีกา[1] เธอและพี่ชายอีกสามคนถูกเลี้ยงดูโดยแพทริเซียผู้เป็นแม่ ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอรักในเพลงโซลและเร็กเก[2]

แกเบรียลมีหนังตาตกด้านขวาตั้งแต่เด็ก เมื่อออกสู่สาธารณะชน เธอมักจะปิดตาไว้ด้วยแว่นกันแดด ผ้าปิดตาแบบโจรสลัด หรือไม่ก็ปลายผมด้านหน้า สมัยเป็นนักเรียนเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและบางครั้งก็คิดจะฆ่าตัวตาย[2] หลังจากที่จบชั้นมัธยมปลายเธอได้ล้มเลิกความคิดที่จะเรียนกฎหมาย และเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องไนต์คลับ[2]

อาชีพศิลปิน[แก้]

พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2541: อัลบั้ม Find Your Way และ อัลบั้ม Gabrielle[แก้]

ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2536 แกเบรียลได้ปล่อยซิงเกิลแรกในชีวิตที่ชื่อว่า "Dreams" แต่งโดยแกเบรียลร่วมกับ ทิม ลอวส์ และ ราเชล โปรดิวซ์โดย ริชชี่ แฟร์มี่ สามารถขึ้นสู่อันดับ 1 บน ชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 3 สัปดาห์[3] ในตอนแรกเพลงนี้ได้ขึ้นอยู่บนชาร์ตของเกาะอังกฤษที่อันดับ 2 ซึ่งเป็นชาร์ตที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับนักร้องหน้าใหม่คนอื่น ๆ ของอังกฤษในขณะนั้น[4] นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นสู่อันดับที่ 26 บนชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 (อังกฤษ: Billboard Hot 100) ของสหรัฐอเมริกา และอันดับที่ 1 บนชาร์ตฮอตแดนซ์คลับเพลย์ (อังกฤษ: Billboard Hot Dance Club Play)[5]อีกด้วย ส่วนในออสเตรเลียเพลงนี้ขึ้นสู่อันดับที่ 2 บนชาร์ต ARIA Chart[6] ตามมาด้วยซิงเกิลที่สอง "Going Nowhere" จากอัลบั้มเดียวกัน ขึ้นสู่อันดับที่ 9 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร และอยู่อันดับที่ 18 ในชาร์ตเพลงของไอร์แลนด์ จึงเป็นเพลงที่สองที่โด่งดังไม่แพ้กันจากอัลบั้มFind Your Way ต่อมาในเดือนช่วงธันวาคม พ.ศ. 2536 แกเบรียลได้ปล่อยซิงเกิลที่สาม ชื่อว่า "I Wish" แต่งโดยแกเบรียล และ จอน ดักลาส แต่เพลงนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสองเพลงก่อนหน้านี้ที่ติดท็อป 10 ทั้งสองเพลง โดยเพลงนี้ทำได้แค่อันดับที่ 26 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักรเท่านั้น และเป็นเพลงเดียวที่ได้อันดับที่ต่ำสุดของเธอ ปิดท้ายด้วย "Because of You" ซิงเกิลที่สี่ และเป็นซิงเกิลสุดท้ายจากอัลบั้มแรก แต่งโดยแกเบรียล, จอร์จ แม็คฟาร์เลน และ เรย์ เซนต์ จอห์น เพลงนี้ทำได้เพียงอันดับที่ 24 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร ส่วนอัลบั้มเต็ม Find Your Way ทำได้สูงสุดที่อันดับ 9 บนชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: UK Albums Chart)

ต่อมา พ.ศ. 2539 แกเบรียลได้ปล่อยอัลบั้มที่สองซึ่งใช้ชื่อตัวเธอเอง Gabrielle สามารถขึ้นสู่ชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร ในอันดับที่ 11[7] จนกระทั่งมียอดขายระดับทองคำขาวภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถเข้าสู่อันดับที่ 80 ในชาร์ต MegaCharts ของเนเธอร์แลนด์ด้วย[8] เปิดตัวด้วยซิงเกิล "Give Me a Little More Time" ทำให้เพลงของแกเบรียลกลับมาติดท็อป 10 บนชาร์ตเพลงของเกาะอังกฤษได้อีกครั้ง เพลงนี้สามารถติดในอันดับที่ 5 และอยู่ในท็อป 20 เป็นเวลา 10 สัปดาห์บนเกาะอังกฤษ อีกทั้งยังติดในอันดับที่ 9 บนชาร์ตเพลงของไอร์แลนด์ และเป็นซิงเกิลที่สี่ที่ขายดีในสหราชอาณาจักร ตามมาด้วย "Forget About the World" เป็นซิงเกิลที่สองจากอัลบั้ม แต่งโดย แกเบรียล, วูลฟฟ์, ดีน, บาร์สัน ซึ่งเคยร่วมแต่งคำร้องในเพลง "Give Me a Little More Time" มาแล้ว แต่เพลงนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าเพลงแรก ทำได้แค่อันดับที่ 23 บนชาร์ตเพลงของเกาะอังกฤษเท่านั้น เป็นซิงเกิลที่ได้อันดับต่ำที่สุดจากอัลบัมนี้ และเป็นซิงเกิลเดียวที่ไม่ติดท็อป 15 ตามมาด้วยซิงเกิลที่สาม กับเพลง "If You Really Cared" แต่งโดย แกเบรียล, วูลฟฟ์, ดีน, บาร์สัน เช่นเดียวกับสองเพลงแรก เพลงนี้สามารถกลับเข้ามาติดอยู่ในท็อป 20 ของชาร์ตเพลงเกาะอังกฤษได้อีกครั้ง ในอันดับที่ 15 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร ตามมาด้วยเพลง "If You Ever" ที่ร้องร่วมกับวง อีสต์ เซเวนทีน (อังกฤษ: East 17) เป็นเพลงที่นำเพลงเก่าอย่าง "If I Ever Fall in Love" มาร้องใหม่ สามารถขึ้นสู่อันดับที่ 2 บนชาร์ตเพลงของเกาะอังกฤษ และอันดับที่ 4 บนชาร์ตของลัตเวีย เพลงนี้เป็น 1 ใน 3 เพลงของแกเบรียลที่ติดท็อป 20 ในออสเตรเลีย ซึ่งทำได้ที่อันดับ 16 และเป็นอันดับที่สูงที่สุดของซิงเกิลที่มาจากสองอัลบั้มแรกของเธอ ตัวเพลงยังสามารถติดอันดับที่ 11 ของซิงเกิลบอยแบนด์ที่มียอดขายยอดเยี่ยมแห่งยุค 90 ในประเทศอังกฤษอีกด้วย โดยขายได้ถึง 510,000 ก็อปปี้ และได้รับสถิติยอดขายในระดับทองคำ และในปี พ.ศ. 2540 แกเบรียลได้ปล่อยเพลงคัฟเวอร์ "Walk On By" เป็นซิงเกิลสุดท้ายจากอัลบั้มนี้ สามารถติดอันดับที่ 7 บนชาร์ตเพลงของประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2544: อัลบั้ม Rise และ อัลบั้มรวมเพลง[แก้]

แกเบรียลเริ่มบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้มที่สามที่ใช้ชื่อว่า Rise ในช่วง ปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542 อัลบั้มนี้วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2542 และวางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เป็นอัลบั้มที่มียอดขายมากที่สุดและเป็นอัลบั้มเดียวของเธอที่สามารถขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และอยู่ในชาร์ตนั้นรวมทั้งหมด 87 สัปดาห์[7] ได้รับยอดขายในระดับ 4x แผ่นเสียงแพลทินัม เปิดตัวอัลบั้มด้วยซิงเกิล "Sunshine" ซึ่งติดอันดับที่ 9 ในสหราชอาณาจักร กลายเป็นเพลงที่หกที่ติดท็อป 10 ตามมาด้วยซิงเกิลที่สองอย่าง "Rise" ซึ่งเป็นเพลงที่สองที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรต่อจากเพลง "Dreams" เพลงนี้แต่งโดย แกเบรียล, ออลลี่ ดาโกส์, เฟอร์ดี้ อังเกอร์-ฮามิลตัน และ บ็อบ ดิลลัน โปรดิวซ์โดย จอนนี่ ดอลลาร์ เพลงนี้อิงทำนองมาจากเพลง "Knockin' on Heaven's Door" ของบ็อบ ดิลลัน (อังกฤษ: Bob Dylan) เพลงนี้ติดอยู่อันดับ 1 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2543 จากที่ Official UK Charts Company ระบุไว้ว่าจำหน่ายได้ถึง 460,000 ก็อปปี้ ทำให้เป็นเพลงที่ขายดีที่สุดอันดับที่ 14 ของปี พ.ศ. 2543 [7] ซิงเกิลต่อมา "When A Woman" เป็นซิงเกิลที่สามจากอัลบั้ม ปล่อยในช่วงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2543 ติดอันดับที่ 6 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร และกลายเป็นเพลงที่แปดที่ติดท็อป 10 ต่อด้วยซิงเกิลสุดท้ายจากอัลบั้มนี้ "Should I Stay" ติดอันดับที่ 13 บนชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร เป็นเพลงที่สี่ที่ติดท็อป 15 โดยตัวมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้สื่ออารมณ์ที่เศร้าของเพลงได้ดีกว่าการเล่าเรื่องตรงๆเสียอีก และบางส่วนของเพลงใช้แซมเพิ่ลเสียงจากเพลงประกอบรายการข่าว BBC News และในปี พ.ศ. 2547 เพลงนี้ถูกใช้เป็นเพลงประกอบละครเพลงของช่อง BBC เรื่อง Blackpool

แกเบรียล ออกผลงานอัลบั้มรวมเพลงเป็นครั้งแรก และวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อว่า Dreams Can Come True, Greatest Hits Vol. 1 อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จในสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก มียอดขายในระดับ 4x แผ่นเสียงแพลทินัม และกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของปี พ.ศ. 2544 และเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดอันดับที่ 76 ในรอบทศวรรษของสหราชอาณาจักร ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มนี้คือ "Out Of Reach" ซึ่งใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง บันทึกรักพลิกล็อก (อังกฤษ: Bridget Jones's Diary)ด้วย เพลงนี้เข้าสู่อันดับที่ 4 บนชาร์ตของสหราชอาณาจักร และติดอันดับที่ 9 บนชาร์ตของออสเตรเลีย ทำให้เป็นซิงเกิลที่สองที่โด่งดังที่สุดและเป็นซิงเกิล อันดับที่ 37 ที่ขายดีที่สุดของปี พ.ศ. 2544 ในออสเตรเลีย และยังคงอยู่บนชาร์ตเป็นเวลามากว่า 20 สัปดาห์ ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ เพลงนี้ถูกจัดให้เป็นซิงเกิลอันดับที่ 10 ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของปี พ.ศ. 2544 ด้วย[9] ตามที่ Official UK Charts Company ระบุไว้ว่าเพลงนี้มียอดขายถึง 320,000 ก็อปปี้ในสหราชอาณาจักร และตามมาด้วยซิงเกิลสุดท้ายจากอัลบั้มรวมฮิตนี้คือเพลง "Don't Need the Sun to Shine (To Make Me Smile)" เพลงนี้ติดอันดับที่ 9 บนชาร์ตของสหราชอาณาจักร จึงเป็นเพลงที่แปดที่ติดท็อป 15 ติดต่อกัน และเป็นเพลงที่สิบที่ติดท็อป 10 ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2545 มีทัวร์คอนเสิร์ตภายในสหราชอาณาจักรขึ้นมา

พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2552: อัลบั้ม Play to Win, อัลบั้ม Always และ การออกทัวร์คอนเสิร์ต[แก้]

แกเบรียลได้ร่วมงานกับ โจนาธาน ชอร์ตเทน รวมทั้งอีกสามคนอย่าง จูเลียน แกลลาเกอร์, ริชาร์ด สแตนนาร์ด และ เฟอร์ดี้ อังเกอร์-ฮามิลตัน เพื่อทำงานในอัลบั้มชุดที่สี่ชื่อว่า Play to Win วางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 สามารถขึ้นถึงอันดับที่ 10 ในชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักรและได้รับการรับรองในระดับแผ่นเสียงเงินจาก องค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงบริติช (อังกฤษ: British Phonographic Industry (BPI)) อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยที่ "Stay the Same" ซิงเกิลนำจาก Play to Win สามารถติดอันดับที่ 20 ในชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร แต่กลายเป็นซิงเกิลที่ติดชาร์ตต่ำสุดของแกเบรียลในรอบแปดปี แม้ว่าจะเป็นเพลงที่สิบในท้อป 20 ก็ตาม และซิงเกิลที่สองและสุดท้าย "Ten Years Time" ไม่สามารถติดชาร์ตท็อป 40 ได้เลย ต่อมามีการทัวร์คอนเสิร์ตขึ้นในสหราชอาณาจักรเพื่อโปรโมตอัลบั้ม

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 อัลบั้มชุดที่ห้าของแกเบรียลชื่อว่า Always ออกวางจำหน่าย และได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากนักวิจารณ์เพลง แต่ก่อนหน้านั้นซิงเกิล "Why" ซึ่งร้องคู่กับ พอล เวลเลอร์ ไม่สามารถติดท็อป 40 เช่นเดียวกับตัวอัลบั้มเองที่ไม่สามารถติดท็อป 10 บนชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักรได้ ทำได้สูงสุดเพียงอันดับที่ 11 เท่านั้น แต่สามารถเข้าสู่อันดับที่ 4 บนชาร์ตอัลบั้มอาร์แอนด์บีแห่งสหราชอาณาจักร และซิงเกิลสุดท้าย "Every Little Teardrop" ก็พลาดจากชาร์ตต่าง ๆ ไปด้วยเช่นกัน ในปีเดียวกัน แกเบรียลได้วางกำหนดการออกทัวร์คอนเสิร์ตภายในสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกในด้านการแสดงสด ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2551 แกเบรียลได้เข้าร่วมในงานเทศกาลดนตรี "เซอร์แมต อันปลักด์" (อังกฤษ: Zermatt Unplugged) พร้อมกับ อลานิส มอริสเซตต์[10] เช่นเดียวกันกับที่งาน "เบอร์มิงแฮม ไพรด์" (อังกฤษ: Birmingham Pride)[11] นอกจากนี้แกเบรียลยังได้รับรางวัล ไอเวอร์ โนเวลโล อะวอร์ด ในสาขา คอลเลคชันเพลงยอดเยี่ยม (อังกฤษ: Best Song Collection) และยังได้เป็นศิลปินรับเชิญพิเศษในทัวร์คอนเสิร์ตของ อัล กรีน ในสหราชอาณาจักร ในช่วง พ.ศ. 2551 ด้วย [12]

พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน: อัลบั้ม Now and Always: 20 Years of Dreaming, อัลบั้ม Under My Skin และอัลบั้ม Do It Again[แก้]

หลังจากที่หยุดพักงานเพลงมานาน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 แกเบรียลได้ปล่อยอัลบั้ม Now and Always: 20 Years of Dreaming ซึ่งบรรจุทั้งหมด 34 เพลง ประกอบไปด้วยซิงเกิลต่าง ๆ เพลงอื่น ๆ จากอัลบั้มที่ผ่านมา รวมทั้งเพลงรีมิกซ์จากอัลบั้ม Rise Underground และยังเพิ่มเพลงใหม่ 7 เพลงด้วย โดยอัลบั้มนี้ผลิตขึ้นผ่านค่ายไอแลนด์เรเคิดส์ ซึ่งเป็นเวลา 20 ปีแล้วตั้งแต่ที่เธอปล่อยซิงเกิลแรกที่ชื่อ "Dreams" ออกมา ในอัลบั้มนี้เธอได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ใหม่หลายคน เช่น ไซเอ็นซ์ (อังกฤษ: Syienc)(เคยโปรดิวซ์ให้กับ บียอนเซ่ และ แมรี เจ. ไบลจ์) และ นอตี้บอย (อังกฤษ: Naughty Boy)(เคยโปรดิวซ์ให้กับ เอเมลี แซนดี้) ซึ่งเพลง "Dreams" ได้ถูกนำมาบันทึกเสียงและมิกซ์ใหม่ในเวอร์ชันของ Naughty Boy ส่วนเพลง "Say Goodbye" ถูกตัดมาเป็นซิงเกิลเดียวเพื่อใช้โปรโมตอัลบั้มนี้ Now and Always: 20 Years of Dreaming ประสบความสำเร็จในระดับปานกลางโดยติดที่อันดับ 38 บนชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร ในด้านของทัวร์เพื่อโปรโมตอัลบั้มใช้ชื่อว่า The 20 Years of Dreaming Tour จัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557

แกเบรียลได้ออกผลงานเพลงอัลบั้มชุดที่หกชื่อว่า Under My Skin ออกจำหน่ายพร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นผลงานในรอบ 11 ปี และเป็นผลงานที่วางจำหน่ายผ่านสังกัดใหม่คือ BMG Rights Management นับว่าเป็นเวลา 25 ปีแล้วตั้งแต่ที่เธอออกซิงเกิลแรกในชีวิตที่ชื่อ "Dreams" อัลบั้มนี้เปิดตัวด้วยซิงเกิลแรกชื่อว่า "Show Me"

ในปี พ.ศ. 2564 เธอได้เข้าร่วมการแข่งขัน ซีซั่นที่ 2 ในรายการ The Masked Singer ของประเทศอังกฤษ โดยสวมหน้ากาก "Harlequin" และสิ้นสุดการแข่งขันอยู่ที่อันดับที่ 4 หลังจากนั้นเธอได้ประกาศเกี่ยวกับการออกอัลบั้มสตูดิโอชุดที่ 7 ที่ชื่อว่า Do It Again ออกจำหน่ายในวันที่ 5 มีนาคม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 แกเบรียลได้ปรากฏตัวในมิวสิกวิดีโอเพลง "Mel Made Me Do It" ของ Stormzy

ภาพลักษณ์[แก้]

สองอัลบั้มแรกของแกเบรียลนั้นได้แรงบันดาลใจจาก ศิลปินสไตล์เพลงคลาสสิกโซล อย่างเช่น มาร์วิน เกย์, แบร์รี ไวต์ และ บ็อบบี โวแมค อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งในอัลบั้มนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากสไตล์เพลงป็อปอังกฤษในช่วงต้นของยุค 80 อย่าง โซลทูโซล, ลิซา สแตนส์ฟิลด์ และ แมนโทรนิกซ์ ส่วน Rise อัลบั้มที่สามของแกเบรียลนั้นกล่าวถึง "การมองโลกในแง่ดี, ความโรแมนติก, ความศรัทธา, และความกระตือรือร้นในสัญชาตญาณของการอยู่รอด"[13] ส่วนอัลบั้ม Play to Win เป็นการผสมผสานของสไตล์เพลงต่าง ๆ ซึ่งแกเบรียลได้กล่าวถึงอิทธิพลที่ได้รับว่า "มีเพลงอยู่สองสามเพลงที่เป็นแนวคันทรี มันอาจจะฟังดูแปลกสักหน่อย แต่เพลงคันทรีไม่ใช่อะไรที่ผิด ก็จริงที่ฉันอาจจะเป็นผู้หญิงผิวสี และฉันคิดว่าฉันสามารถร้องเพลงสไตล์นี้ได้ อัลบั้มนี้จึงดูมีความหลากหลาย และคนที่ซื้ออัลบั้มนี้ไปฟังจะได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับความรัก ชีวิต และการมองโลกในแง่ดี"[14]

หนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อแกเบรียลคือคุณครูสมัยมัธยมปลายของเธอ แกเบรียลกล่าวว่า "ครูเป็นแรงใจให้เธอแต่งบทกลอนเป็นครั้งแรก มันได้เริ่มพัฒนาไปสู่บท​​เพลง แล้วเธอก็เริ่มร้องออกมาเป็นเพลง" นอกจากนี้ยังมีแรงบันดาลใจอื่น ๆ จากศิลปินแนวผสมผสานป๊อปยุค 80 เช่น มาดอนนา, คัลเจอร์ คลับ, แฮร์คัท วันฮันเดรด, ดูแรน ดูแรน, อดัมแอนด์ดิแอนต์ และ แวม! "ทั้งหมดคือเพลงป๊อป ฉันเองก็เป็นแฟนคลับตังยงของไมเคิล แจ็กสันด้วย และฉันก็มีรูปภาพของเขาเก็บไว้ เขาดูสง่างามเหมือนดั่งดาร์กช็อกโกแลตที่ชวนให้ลิ้มรสความหวาน มันเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาเอามาก ๆ สมัยที่ฉันยังเป็นเด็ก"[14]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

แกเบรียลมีลูกชาย เกิด พ.ศ. 2538 และลูกสาว เกิด พ.ศ. 2546

ผลงานเพลง[แก้]

อัลบั้มสตูดิโอ[แก้]

อัลบั้มรวมเพลง[แก้]

รางวัล[แก้]

BRIT Awards

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2537 ศิลปิน Best British Breakthrough ชนะ
Best British Female เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2540 ชนะ
พ.ศ. 2543 เสนอชื่อเข้าชิง

Black Music Awards

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2537 ศิลปิน Best R&B Newcomer ชนะ

Ivor Novello Awards

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2537 "Dreams" Best Selling Song เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2540 "Give Me a Little More Time" Most Performed Song เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2543 "Rise" Best Contemporary Song เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2544 Most Performed Work เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2545 "Out Of Reach" เสนอชื่อเข้าชิง
พ.ศ. 2551 ศิลปิน Outstanding Song Collection ชนะ

MOBO Awards

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2540 "Give Me a Little More Time" Best Single ชนะ
พ.ศ. 2543 Rise Best Album ชนะ

The Record of the Year

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล
พ.ศ. 2543 "Rise" Record of the Year เสนอชื่อเข้าชิง

Smash Hits Poll Winners Party

ปี รางวัลที่ได้เข้าชิง รางวัล/สาขา ผล Ref.
พ.ศ. 2539 ศิลปิน Best Female Singer เสนอชื่อเข้าชิง [15]
"If You Ever" Best Single เสนอชื่อเข้าชิง

Urban Music Awards

  • พ.ศ. 2550 - Outstanding Achievement

อ้างอิง[แก้]

  1. "Ideal Homes: Gabrielle: Singer, Songwriter". The Independent. 17 August 1997. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 Hattenstone, Simon (6 August 2018). "Gabrielle: 'I'm coming back as a white male, honey'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  3. "UK charts archive". chartstats.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-02. สืบค้นเมื่อ 2010-03-01.
  4. https://www.allmusic.com/artist/p168633, Allmusic bio., All Media Guide, สืบค้นเมื่อ 2010-03-01.
  5. https://www.allmusic.com/artist/p168633/charts-awards/billboard-singles, Billboard Singles, All Media Guide/Billboard, สืบค้นเมื่อ 2010-03-01.
  6. "Australian charts archive". Hung Medien. สืบค้นเมื่อ 2010-03-01.
  7. 7.0 7.1 7.2 Roberts, David (2006). British Hit Singles & Albums (19th ed.). London: Guinness World Records Limited. p. 219. ISBN 1-904994-10-5.
  8. "Dutch Album Charts > Gabrielle" (ภาษาดัตช์). dutchcharts.nl Hung Medien. สืบค้นเมื่อ 2011-02-01.
  9. "The Official New Zealand Music Chart". Rianz.org.nz. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-10. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.
  10. "Programm & Tickets  ::  2nd Zermatt Unplugged April 9–12th, 2008". 17 May 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 May 2008.
  11. Birmingham Pride เก็บถาวร 5 กรกฎาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. "Gabrielle is Al Green's special guest « Express & Star". Expressandstar.com. 15 August 2008. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  13. "the biography of Gabrielle - singer life story". Poemhunter.com. 14 December 2007. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.
  14. 14.0 14.1 "Gabrielle". Thesituation.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-22. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  15. "Articles On Smash Hits". Smash Hits Magazine Remembered. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ 19 May 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]