ข้ามไปเนื้อหา

ขบวนการแปดชั่วโมงต่อวัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Eight-hour day)

ขบวนการแปดชั่วโมงต่อวัน (อังกฤษ: eight-hour day movement) หรือขบวนการ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (อังกฤษ: 40-hour week movement) เป็นขบวนการทางสังคมเพื่อวางระเบียบความยาวของวันทำงาน ป้องกันไม่ให้ยาวเกินและการละเมิด ขบวนการดังกล่าวมีจุดกำเนิดในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในบริเตน ซึ่งการผลิตอุตสาหกรรมในโรงงานขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงาน การใช้แรงงานเด็กพบทั่วไป วันทำงานอาจกินเวลาได้ตั้งแต่ 10 ถึง 16 ชั่วโมง และสัปดาห์ทำงานปกติเป็น 6 วันต่อสัปดาห์[1][2] โรเบิร์ต โอเวนเสนอข้อเรียกร้องวันทำงานสิบชั่วโมงต่อวันในปี 1810 และนำไปใช้ในวิสาหกิจสังคมนิยมของเขาที่นิวลานาร์ก เมื่อถึงปี 1817 เขาสรุปใจความเป้าหมายของแปดชั่วโมงต่อวันและบัญญัติคำขวัญ "ใช้แรงงานแปดชั่วโมง นันทนาการแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง" หญิงและเด็กในประเทศอังกฤษได้วันทำงานสิบชั่วโมงต่อวันในปี 1847 คนงานฝรั่งเศสได้วันทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848[3] วันทำงานที่สั้นลงและภาวะการทำงานที่ได้รับการปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงทั่วไปและการปลุกปั่นของการปฏิรูปชาร์ทติสต์ (Chartist) และการจัดระเบียบสหภาพแรงงานในระยะแรก

สมาคมคนงานหญิงระหว่างประเทศ (International Workingmen's Association) หยิบข้อเรียกร้องชั่วโมงทำงานแปดชั่วโมงต่อวันในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ในเจนีวาในปี 1866 โดยประกาศว่า "การจำกัดวันทำงานตามกฎหมายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่หากปราศจากเงื่อนไขนี้แล้ว ความพยายามอื่นใดในการพัฒนาและการปลดปล่อยชนชั้นแรงงานให้เป็นอิสระต้องพิสูจน์ว่าสูญเปล่า"

คาร์ล มากซ์มองว่าขบวนการดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพของคนงาน โดยเขียนในหนังสือ ทุน (ปี 1867) ว่า "เมื่อขยายวันทำงาน และการผลิตทางทุนนิยม ... ไม่เพียงก่อให้เกิดการเสื่อมอำนาจแรงงานของมนุษย์โดยการปล้นภาวะการพัฒนาและกิจกรรมทางศีลธรรมและกายภาพตามปกติเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการหมดแรงก่อนเวลาอันควรและการตายของอำนาจแรงงานนี้เองด้วย"[4][5]

แม้มีความสำเร็จขั้นต้นในการได้ชั่วโมงทำงานแปดชั่วโมงต่อวันในประเทศนิวซีแลนด์และขบวนการแรงงานออสเตรเลียสำหรับแรงงานมีทักษะในคริสต์ทศวรรษ 1840 และ 1850 ลูกจ้างส่วนใหญ่ต้องรอจนต้นและกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขอย่างกว้างขวางในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายผ่านกฎหมาย ประเทศแรกที่ใช้วันทำงานแปดชั่วโมงทั่วประเทศได้แก่ อูรุกวัย

สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่กล่าวถึงขบวนการแปดชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ สนธิสัญญาแวร์ซาย ในภาคผนวกที่ตั้งสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันคือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ชั่วโมงทำงานแปดชั่วโมงเป็นหัวข้อแรกที่องค์การฯ อภิปราย จนส่งผลให้เกิดอนุสัญญาชั่วโมงทำงาน (อุตสาหกรรม) ซึ่งจนถึงปี 2016 มี 52 ประเทศให้สัตยาบัน

ขบวนการแปดชั่วโมงต่อวันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วงต้นสำหรับการเฉลิมฉลองวันแรงงานและเมย์เดย์ในหลายประเทศและวัฒนธรรม

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chase, Eric. "The Brief Origins of May Day". Industrial Workers of the World. สืบค้นเมื่อ 30 September 2009.
  2. "The Haymarket Martyrs". The Illinois Labor History Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2008. สืบค้นเมื่อ 30 September 2009.
  3. Marx, Karl (1915). Capital: The process of capitalist production. Translated by Samuel Moore, Edward Bibbins Aveling, and Ernest Untermann. C. H. Kerr. p. 328.
  4. Marx, Karl (1867). Das Kapital. p. 376.
  5. Neocleous, Mark. "The Political Economy of the Dead: Marx's Vampires" (PDF). Brunel University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-04-12. สืบค้นเมื่อ 7 November 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]