เบร็กซิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Brexit)
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
  สหราชอาณาจักร
  สหภาพยุโรป (27 ชาติสมาชิก)

เบร็กซิต (อังกฤษ: Brexit) หมายถึง การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร โดยเกิดหลังการลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ซึ่งผู้ออกเสียงลงคะแนนร้อยละ 51.9 ออกเสียงสนับสนุนการถอนตัว รัฐบาลใช้ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป เป็นการเริ่มกระบวนการสองปีซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดด้วยการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรในวันที่ 29 มีนาคม 2019 เส้นตายนั้นมีการต่อเวลาเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019[1]

นักกังขาคติยุโรป (Eurosceptic) ซึ่งมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา สนับสนุนการถอนตัว ส่วนผู้นิยมยุโรป หรือนักสหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งสองฝ่ายของสเปกตรัมการเมืองเช่นกัน สนับสนุนให้เป็นสมาชิกต่อ สหราชอาณาจักรเข้าร่วมประชาคมยุโรป (EC) ในปี 1973 ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเอ็ดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath) โดยมีการลงประชามติในปี 1975 สนับสนุนให้คงเป็นสมาชิกต่อ ในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 ฝ่ายซ้ายทางการเมืองเป็นผู้สนับสนุนหลักของการถอนตัวออกจากประชาคมยุโรป โดยคำแถลงนโยบายทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 1983 ของพรรคแรงงานสนับสนุนให้ถอนตัวอย่างสมบูรณ์ ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ฝ่ายขวาเริ่มต่อต้านการพัฒนา EC เป็นสหภาพที่เป็นการเมืองเพิ่มขึ้น โดยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งแม้เป็นผู้สนับสนุนหลักของตลาดเดียวยุโรป เริ่มสองจิตสองใจต่อยุโรปเพิ่มขึ้น นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 การคัดค้านบูรณาการยุโรปมาจากฝ่ายขวาเป็นหลัก และการแตกแยกภายในพรรคอนุรักษนิยมนำไปสู่การกบฏในเรื่องสนธิสัญญามาสทริชท์ในปี 1992

พรรคเอกราชยูเค (UKIP) ที่เพิ่งตั้งใหม่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของการลงประชามติว่าด้วยการดำรงสมาชิกภาพขององค์การที่ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป และความนิยมในพรรคที่เพิ่มขึ้นในต้นคริสต์ทศวรรษ 2010 ทำให้ UKIP เป็นพรรคการเมืองสหราชอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปปี 2014 นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยม เดวิด แคเมอรอน ให้คำมั่นระหว่างการรณรงค์การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรปี 2015 ว่าจะจัดการลงประชามติใหม่ ซึ่งเขาจัดให้มีขึ้นในปี 2016 หลังแรงกดดันจากปีกกังขาคติยุโรปในพรรคของเขา แคเมอรอนผู้รณรงค์อยู่ฝ่ายให้อยู่ต่อ ลาออกหลังผลประชามติ เทรีซา เมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลแคเมอรอน สืบตำแหน่ง เธอจัดการเลือกตั้งทั่วไปกะทันหันไม่ถึงปีให้หลัง ซึ่งเธอเสียฝ่ายข้างมากโดยรวม รัฐบาลเสียงข้างน้อยของเมย์มีพรรคสหภาพประชาธิปไตยสนับสนุนในการออกเสียงสำคัญ

วันที่ 29 มีนาคม 2017 รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้ข้อ 50 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ตามเวลาสหราชอาณาจักร เมื่อระยะเวลาเจรจาความตกลงถอนตัวหมดลงเว้นแต่มีการตกลงขยายเวลา เมย์ประกาศเจตนาของรัฐบาลว่าจะไม่แสวงสมาชิกภาพถาวรของตลาดเดียวยุโรปหรือสหภาพศุลกากรอียูหลังออกจากสหภาพยุโรป และให้คำมั่นว่าจะบอกเลิกพระราชบัญญัติประชาคมยุโรปปี 1972 และรับกฎหมายสหภาพยุโรปที่มีอยู่เป็นกฎหมายในประเทศของสหราชอาณาจักร มีการตั้งกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป ในเดือนกรกฎาคม 2016 การเจรจากับสหภาพยุโรปเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2017 โดยมุ่งให้ความตกลงถอนตัวเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคม 2018 ในเดือนมิถุนายน 2018 สองฝ่ายจัดพิมพ์รายงานความคืบหน้าร่วมที่วางเค้าโครงความตกลงในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มและยูราตอม ในเดือนกรกฎาคม 2018 คณะรัฐมนตรีบริเตนตกลงรับแผนเชกเกอส์ (Chequers plan) ซึ่งเป็นเค้าโครงข้อเสนอของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 มีการจัดพิมพ์ความตกลงถอนตัวฉบับร่างและปฏิญญาการเมืองฉบับเค้าโครง ซึ่งตกลงกันระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ในวันที่ 15 มกราคม 2019 สภาสามัญชนออกเสียง 432 ต่อ 202 คัดค้านข้อเสนอนี้ นับเป็นความปราชัยในรัฐสภาครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

มีความเห็นพ้องอย่างกว้างขวางในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าเบร็กซิตน่าจะลดรายได้จริงต่อหัวของสหราชอาณาจักรในระยะกลางและระยะยาว และว่าการลงประชามติเบร็กซิตก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การศึกษาต่อผลลัพธ์นับแต่การลงประชามติแสดงว่าครัวเรือนสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยเสียรายได้ 404 ปอนด์ต่อปีอันเนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และจีดีพีของประเทศลดลงระหว่างร้อยละ 2 ถึง 2.5 เบร็กซิตน่าจะลดการเข้าเมืองจากประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และสร้างอุปสรรคต่ออุดมศึกษาและการวิจัยทางวิชาการของสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ขนาดของ "ร่างกฎหมายหย่าร้าง" การรับความตกลงการค้าอียูที่มีอยู่ของสหราชอาณาจักร และความสัมพันธ์กับไอร์แลนด์และรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นยังไม่แน่นอน ผลกระทบที่แน่ชัดต่อสหราชอาณาจักรขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการจะเป็นเบร็กซิต "แข็ง" หรือ "อ่อน" บทวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรพบว่าเบร็กซิตทุกรูปแบบจะไม่ส่งเสริมภาวะทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร โดยสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของกระทรวงการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่าด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของข้อเสนอเชกเกอส์คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเลวลงร้อยละ 3.9 ในเวลา 15 ปีเมื่อเทียบกับการอยู่ในอียู

เบื้องหลัง[แก้]

การลงประชามติ ค.ศ. 1975[แก้]

ใน ค.ศ. 1975 สหราชอาณาจักรได้มีการลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อหรือไม่ ในครั้งนั้นทุกพรรคการเมืองต่างสนับสนุนการอยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม ก็มีความขัดแย้งบางส่วนในพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เมื่อที่ประชุมพรรคในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1975 มีมติ 2 ต่อ 1 ว่าควรออกจากประชาคม คณะรัฐมนตรีจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุนยุโรปและฝ่ายต่อต้านยุโรป รัฐมนตรี 7 คนจาก 23 คนคัดค้านการดำรงสมาชิกภาพในประชาคม[2]

ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1975 ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ลงคะแนนโดยมีหัวข้อการประชามติว่า "ท่านคิดว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมยุโรป (ตลาดร่วม) หรือไม่?"[3] ซึ่งได้รับเสียงข้างมากว่า "เห็นควร" ท้ายที่สุด สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป[4]

เห็นควร (%) ไม่เห็นควร (%) ผู้มาใช้สิทธิ์ (%)
17,378,581 67.2 8,470,073 32.8 64.5

การลงประชามติ ค.ศ. 2016[แก้]

ใน ค.ศ. 2013 นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป แต่แคเมอรอนก็แนะนำว่าการลงประชามติอาจจะมีขึ้นได้ในอนาคตหากประชาชนต้องการ[5][6] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2013 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมอาจจะจัดให้มีการลงประชามติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2017 บนเงื่อนไขว่าหากเขายังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2015[7]

พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2015 ไม่นานหลังจากนั้น รัฐสภาก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงประชามติ แม้ว่านายกรัฐมนตรีแคเมอรอนจะอยากให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปก็ตาม[8] แต่แคเมอรอนก็ได้ประกาศให้อิสระแก่รัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคอนุรักษนิยมในการตัดสินใจตามวิจารณญาณของแต่ละคน[9] และเขายังได้อนุญาตให้รัฐมนตรีสามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนหรือคัดค้านการออกจากสหภาพยุโรปตามอัธยาศัย[10] ตามถ้อยปราศรัยต่อสภาล่างในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศให้การลงประชามติมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 และประกาศกรอบระยะเวลาขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำต่อหากการประชามติมีผลว่าให้ออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดสองปีเป็นระยะเวลาในการเจรจาต่อรองและข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป

การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 มีหัวข้อว่า "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือถอนตัวจากสหภาพยุโรป?" ซึ่งได้รับเสียงข้างมากว่า "ถอนตัว"


การลงประชามติสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ค.ศ. 2016
ผลระดับชาติ
ทางเลือก เสียง %
ออกจากสหภาพยุโรป 17,410,742 51.89%
เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ 16,141,241 48.11%
คะแนนที่สมบูรณ์ 33,551,983 99.92%
คะแนนที่ไม่สมบูรณ์หรือว่าง 25,359 0.08%
คะแนนทั้งหมด 33,577,342 100.00%
ผู้ออกเสียงที่ลงทะเบียนและผู้ออกมาใช้สิทธิ 46,500,001 72.21%
ประชากรที่มีอายุถึงขั้นออกเสียงและผู้มาใช้สิทธิ 51,356,768 65.38%
ที่มา: คณะกรรมการการเลือกตั้ง
แถบผลคะแนนจากการลงประชามติ
ออก:
51.9 (17,410,742)
อยู่ต่อ:
48.1 (16,141,241)
ผลลัพธ์แบ่งตามประเทศ/ภูมิภาคของอังกฤษ (ซ้าย) และแบ่งตามเขตสภาและเขตเลือกตั้งรัฐสภาสหราชอาณาจักร (ขวา)
  ออก
  อยู่ต่อ

หลังการประกาศผล[แก้]

นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน ประกาศลาออกหลังผลประชามติให้ "ถอนตัว"

เช้าวันรุ่งขึ้นหลังประกาศผล นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้กล่าวแถลงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีผู้นำคนใหม่ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายในการออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ได้ออกมากล่าวว่าเป็นวันที่แสนเศร้าของประเทศชาติ

การเจรจากับสหภาพยุโรปจะเริ่มขึ้นภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผมคิดว่ามันถูกแล้วที่นายกคนใหม่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ข้อ 50 แล้วก็เริ่มขั้นตอนตามระเบียบและกฎหมายในการออกจากอียู [11]

— นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน 24 มิ.ย. 2016

ยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังประกาศผล ค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 11% ส่วนเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 3.3%[12] ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนักโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์โตเกียว

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์หลักเกี่ยวกับเบร็กซิต[13]

ค.ศ. 2016[แก้]

  • 23 มิถุนายน: ผลการลงประชามติว่าด้วยการออกจากสหภาพยุโรปปรากฏว่า ผู้ออกเสียง 51.9% ออกเสียงให้ออก
  • 24 มิถุนายน: เดวิด แคเมอรอนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • 13 กรกฎาคม: เทรีซา เมย์ตอบรับคำเชิญของสมเด็จพระราชินีให้ตั้งรัฐบาล เดวิด เดวิสได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงออกจากสหภาพยุโรปเพื่อควบคุมดูแลการเจรจาการออก
  • 27 กรกฎาคม: คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอชื่อไมเคิล บาร์เนียร์ นักการเมืองฝรั่งเศส เป็นหัวหน้านักเจรจายุโรปสำหรับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
  • 7 ธันวาคม: สภาสามัญชนสหราชอาณาจักรออกเสียง 461 ต่อ 89 เห็นชอบแผนของเทรีซา เมย์ให้ใช้ข้อ 50 เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2017

ค.ศ. 2017[แก้]

  • 24 มกราคม: ศาลสูงสุดสหราชอาณาจักรวินิจฉัยในคดีมิลเลอร์ว่ารัฐสภาต้องผ่านกฎหมายเพื่อให้อำนาจการใช้ข้อ 50
  • 26 มกราคม: รัฐบาลสหราชอาณาจักรเสนอร่างกฎหมายในรัฐสภาเพื่อให้อำนาจเทรีซา เมย์ให้เริ่มกระบวนการเบร็กซิตโดยการใช้ข้อ 50 เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานสั่งให้ ส.ส. พรรคออกเสียงสนับสนุน
  • 16 มีนาคม: ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับพระบรมราชานุญาต (เป็น "พระราชบัญญํติสหภาพยุโรป (การแจ้งความถอนตัว) ค.ศ. 2017")
  • 29 มีนาคม: มีการมอบจดหมายจากเทรีซา เมย์ต่อประธานสภายุโรป ดอนัลต์ ตุสก์ให้ใช้ข้อ 50 เริ่มกระบวนการสองปีซึ่งสหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2019
  • 18 เมษายน: เทรีซา เมย์ประกาศกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2020
  • 8 มิถุนายน: มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พรรคอนุรักษนิยมยังเป็นพรรคเดี่ยวใหญ่สุดในสภาสามัญชนแต่เสียฝ่ายข้างมาก ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลฝ่ายข้างน้อยโดยร่วมรัฐบาลกับพรรคเดโมแครติกยูเนียนนิสต์ (DUP) แห่งไอร์แลนด์เหนือ
  • 19 มิถุนายน: เริ่มการเจรจาเบร็กซิต

ค.ศ. 2018[แก้]

  • 6 กรกฎาคม: มีการสรุปเอกสารขาวของสหราชอาณาจักรว่าด้วยความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
  • 8 กรกฎาคม: เดวิสลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป วันรุ่งขึ้นโดมินิก ราบได้รับแต่งตั้งให้สืบตำแหน่ง
  • 21 กันยายน: สหภาพยุโรปปฏิเสธเอกสารขาวของสหราชอาณาจักร
  • 14 พฤศจิกายน: มีการเผยแพร่ความตกลงการถอนตัวเบร็กซิต
  • 15 พฤศจิกายน: ราบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป วันรุ่งขึ้นสตีเฟน บาร์เคลย์ได้รับแต่งตั้งให้สืบตำแหน่ง
  • 25 พฤศจิกายน: รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น 27 ประเทศรับรองความตกลงการถอนตัวฯ

ค.ศ. 2019[แก้]

  • 15 มกราคม: มีการจัดการออกเสียงมีความหมายครั้งแรกต่อความตกลงการถอนตัวในสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร รัฐบาลแพ้ 432 ต่อ 202 เสียง
  • 12 มีนาคม: การออกเสียงมีความหมายครั้งที่สองเรื่องความตกลงการถอนตัว รัฐบาลแพ้อีกครั้ง 391 ต่อ 242 เสียง
  • 14 มีนาคม: ญัตติรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่าน 412 ต่อ 202 เสียงให้ขยายระยะข้อ 50
  • 20 มีนาคม: เทรีซา เมย์ขอให้สหภาพยุโรปขยายเวลาข้อ 50 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2019
  • 21 มีนาคม: คณะมนตรียุโรปเสนอให้ขยายเวลาข้อ 50 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 หากความตกลงการถอนตัวผ่านก่อนวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่หากไม่ผ่าน สหราชอาณาจักรจะมีเวลาจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2019 ในการหาหนทางไปต่อ มีการตกลงการขยายเวลาอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น
  • 29 มีนาคม: การสิ้นสุดดั้งเดิมของระยะเวลาข้อ 50 และวันตามกำหนดเดิมสำหรับเบร็กซิต การออกเสียงครั้งที่สามต่อความตกลงการถอนตัวแยกจากปฏิญญาการเมือง รัฐบาลแพ้อีกครั้ง 344 ต่อ 286 เสียง
  • 5 เมษายน: เทรีซา เมย์ขอให้สหภาพยุโรปขยายระยะเวลาข้อ 50 เป็นครั้งที่สองจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2019
  • 10 เมษายน: คณะมนตรียุโรปให้ขยายเวลาข้อ 50 อีกจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2019 หรือวันแรกของเดือนหลังจากความตกลงถอนตัวผ่าน ขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อน อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรต้องจัดการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนพฤษภาคม 2019 มิฉะนั้นจะต้องออกในวันที่ 1 มิถุนายน 2019
  • 24 พฤษภาคม: เทรีซา เมย์ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม มีผลวันที่ 7 มิถุนายน เนื่องจากไม่สามารถผ่านแผนเบร็กซิตของตนผ่านรัฐสภาและการออกเสียงไม่ไว้วางใจหลายครั้ง โดยจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างมีการเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่
  • 18 กรกฎาคม: สำนักงานความรับผิดชอบงบประมาณประเมินว่าเบร็กซิตแบบไม่มีความตกลงจะทำให้บริเตนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจจะหดตัว 2%[14]
  • 18 กรกฎาคม: ส.ส. อนุมัติการแก้ไขกฎหมายซึ่งยับยั้งการชะลอรัฐสภาระหว่างวันที่ 9 ตุลาคมถึง 18 ธันวาคม ยกเว้นมีการตั้งฝ่ายบริหารไอร์แลนด์เหนือ โดยมีคะแนนเสียงข้างมาก 41 เสียง[15]
  • 24 กรกฎาคม: บอริส จอห์นสันตอบรับคำเชิญของสมเด็จพระราชินีให้ตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

กระบวนการข้อ 50[แก้]

การใช้[แก้]

ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปควบคุมการถอนตัวจากสหภาพยุโรป ภายใต้กระบวนวิธีการใช้ข้อ 50 กำหนดให้สมาชิกแจ้งสภายุโรป ซึ่งกำหนดให้สหภาพยุโรป "เจรจาและบรรลุความตกลงกับรัฐ[ที่จะถอนตัว] วางข้อตกลงสำหรับการถอนตัว พิจารณากรอบสำหรับความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพ[ยุโรป]" ระยะเจรจาจำกัดไว้สองปีเว้นแต่มีการขยายเวลา ซึ่งสนธิสัญญาต่าง ๆ จะเลิกใช้บังคับ มีการอภิปรายว่าการเจรจาคู่ขนานเงื่อนไขการถอนตัวและความสัมพันธ์ในอนาคตภายใต้ข้อ 50 เหมาะสมหรือไม่ หรือบริเตนไม่มีสิทธิเจรจาการค้าในอนาคตกับอียู27 เพราะมีการให้เหตุผลว่าอำนาจนี้สงวนไว้สำหรับอียูตราบเท่าที่สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิก[16]

แม้พระราชบัญญัติการลงประชามติ ค.ศ. 2015 ไม่แสดงการกำหนดให้ต้องใช้ข้อ 50[17] แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรแถลงว่า รัฐบาลคาดหมายว่าคะแนนเสียงถอนตัวจะต้องมีการถอนตัวจากสหภาพฯ ตามมา[18][19] ให้หลังผลการลงประชามติ แคเมอรอนลาถอนตัวและระบุว่าจะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะใช้ข้อ 50[20][21]

ศาลสูงสุดวินิจฉัยในคดีมิลเลอร์ในเดือนมกราคม 2017 ว่ารัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาในการใช้ข้อ 50[22][23] วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2017 สภาสามัญชนถอนตัวเสียงท่วมท้นเห็นชอบร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแจ้งความจำนงถอนตัวภายใต้ข้อ 50[24] และร่างกฎหมายผ่านเป็นกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (การแจ้งความถอนตัว) สหภาพยุโรป ค.ศ. 2017 จากนั้นเทรีซา เมย์ลงนามจดหมายใช้ข้อ 50 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2017 ซึ่งทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสหภาพยุโรป ยื่นแก่ดอนัลต์ ตุสก์ ประธานสภายุโรป เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017[25][26][27] ความว่า:

เรียนท่านประธานทุสก์ เมื่อ 23 มิถุนายนปีที่แล้ว ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรได้ลงมติให้ออกจากสหภาพยุโรป ตามที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วนั้น การตัดสินใจครั้งนั้นหาใช่เป็นการปฏิเสธไมตรีที่เราแบ่งปันระหว่างกันในหมู่มิตรประเทศยุโรป หาใช่ทั้งเป็นการพยายามทำให้สหภาพยุโรปหรือรัฐสมาชิกที่เหลืออยู่เกิดความเสียหายใดๆ ในทางตรงข้าม สหราชอาณาจักรต้องการให้สหภาพยุโรปเจริญก้าวหน้าและคงอยู่ต่อไป ถึงกระนั้น มหาชนได้มีมติให้พื้นฟูอำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระอย่างที่พวกเราต่างเห็นเป็นประจักษ์ เราจึงจะออกจากสหภาพยุโรป แต่เราจะไม่ออกจากยุโรป [...][28]

— นายกรัฐมนตรี เทรีซา เมย์ 29 มี.ค. 2017

มีการแย้งว่ารัฐบาลบริติชสามารถหยุดกระบวนการถอนตัวตามข้อ 50 ได้ฝ่ายเดียวหรือไม่ ซึ่งเป็นความเห็นที่ผู้ประพันธ์ข้อ 50 ลอร์ดเคอร์ ก็แสดงความเห็นด้วย[29] คณะกรรมาธิการเบร็กซิตของรัฐสภายุโรประบุว่า การเพิกถอนฝ่ายเดียวไม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นภัยคุกคามทางศีลธรรมอย่างสำคัญ ซึ่งรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอาจละเมิดเพื่อใช้แบล็กเมล์สหภาพฯ[30]

คำถามเรื่องสามารถย้อนการแจ้งความภายใต้ข้อ 50 ได้หรือไม่นั้นเป็นคดีความ ซึ่งนักการเมืองชาวสกอตแลนด์หลายพรรคและโครงการกูดลอว์มอบคดีให้ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ)[31] รัฐบาลสหราชอาณาจักรมุ่งขัดขวางการมอบคดีดังกล่าว ซึ่งไปสิ้นสุดที่ศาลสูงสุดสหราชอาณาจักร แต่สุดท้ายความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผล[32] วันที่ 10 ธันวาคม 2018 ECJ วินิจฉัยว่าประเทศหนึ่งสามารถยกเลิกการถอนจากอียูฝ่ายเดียวได้โดยเพียงแจ้งความเท่านั้น โดยที่ประเทศนั้นกระทำก่อนวันถอนตัวจริง โดยไม่มีเงื่อนไขและโดยสุจริตใจ[33] อย่างไรก็ดี รัฐบาลตอบสนองทันควันว่าไม่มีความตั้งใจใช้สิทธินั้น[33]

ภาคีสองฝ่ายของการเจรจาการถอนตัวถูกผูกมัดตามข้อ 50 (3) ของสนธิสัญญาฯ ซึ่งระบุชัดเจนว่าสนธิสัญญาอียูจะเลิกใช้บังคับ "ตั้งแต่วันที่ความตกลงการถอนตัวมีผลใช้บังคับ หรือหากตกลงไม่ได้ สองปีหลัง" การแจ้งความถอนตัว ยกเว้นสภายุโรปและสหราชอาณาจักรตกลงขยายระยะเวลาสองปี[34]

พระราชบัญญัติ (การถอนตัว) สหภาพยุโรป ค.ศ. 2018 (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายอุปกรณ์สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2019) ในส่วน 20 (1) นิยามว่า "วันถอนตัว" คือ 23.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2019[35] เดิมนิยาม "วันถอนตัว" ไว้ว่าเป็นเวลา 23.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2019 GMT[36][37][34][38][39]

ความตกลงการถอนตัวและปฏิญญาการเมือง[แก้]

การเตรียมเจรจา[แก้]

คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าจะไม่เริ่มการเจรจาใด ๆ ก่อนสหราชอาณาจักรใช้ข้อ 50 อย่างเป็นทางการ[40] ในเดือนตุลาคม 2016 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยุงเคอร์ ระบุว่าสหภาพยุโรปจะไม่เจรจาในทางที่ให้บริเตนต้องจัดการลงประชามติเป็นครั้งที่สอง[41] วันที่ 28 มิถุนายน 2016 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล และประธานสภายุโรป ดอนัลต์ ตุสก์ ในวันต่อมา ระบุว่าสหราชอาณาจักรยังสามารถอยู่ในตลาดเดี่ยวยุโรป (ESM) เพียงแค่สหราชอาณาจักรยอมรับเสรีภาพการเคลื่อนไหวสี่ประการ ได้แก่ เสรีภาพสำหรับสินค้า ทุน บริการและแรงงาน[42] ในเดือนตุลาคม นายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์เน้นว่าการยุติเขตอำนาจของกฎหมายอียูและการเคลื่อนไหวเสรีจากทวีปยุโรปเป็นลำดับความสำคัญของสหราชอาณาจักร โดยบริษัทอียูมีเสรีภาพเต็มที่ในการค้าในสหราชอาณาจักรและ ESM[43][44]

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 เมย์เสนอให้บริเตนและรัฐสมาชิกอียูอื่นรับประกันสองฝ่ายซึ่งสิทธิอยู่อาศัยของพลเมืองอียูที่ไม่ใช่บริติช 3.3 ล้านคนในสหราชอาณาจักรและพลเมืองบริติช 1.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป เพื่อแยกชะตากรรมของพลเมืองเหล่านี้ไม่ให้มีการต่อรองระหว่างการเจรจาเบร็กซิต[45] แม้รัฐอียูส่วนใหญ่เห็นชอบในทีแรก แต่ประธานสภายุโรป ตุสก์ ร่วมกับรัฐสมาชิกเยอรมนีขัดขวางข้อเสนอดังกล่าว[46]

ในเดือนมกราคม 2017 นายกรัฐมนตรีเมย์นำเสนอวัตถุประสงค์การเจรจา 12 ข้อและยืนยันว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะไม่แสวงสมาชิกภาพตลาดเดี่ยวถาวร[47] เธอยังเรียกร้องให้ยุติเขตอำนาจของศาลยุติธรรมยุโรป ความตกลงศุลกากรใหม่ที่ไม่รวมพิกัดศุลกากรภายนอกร่วมและนโยบายพาณิชย์ร่วมของอียู การยุติเสรีภาพการเดินทางของประชาชน ความร่วมมือด้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย การร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเข้าร่วมกับรัฐบาลที่โอนอำนาจของส่วนกลางให้ท้องถิ่น การธำรงพื้นที่เดินทางร่วมกับไอร์แลนด์ และการสงวนสิทธิแรงงานที่มีอยู่เดิม[48] หัวหน้านักเจรจาของรัฐสภายุโรป กีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ (Guy Verhofstadt) ตอบว่าจะไม่มี "การเลือกเชอร์รี" โดยสหราชอาณาจักรในการเจรจา[49]

การเจรจารอบแรก (ปี 2017)[แก้]

ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสำหรับการเจรจาเริ่มในวันที่ 29 มีนาคม 2017 เมื่อสหราชอาณาจักรมอบจดหมายแจ้งความการถอนตัวอย่างเป็นทางการ ด้านแมร์เคิลยืนยันว่าอียูจะไม่อภิปรายความร่วมมือโดยไม่ชำระสะสางเงื่อนไขการออกจากอียูเสียก่อน

นักเจรจาสหราชอาณาจักรและอียูตกลงว่าการเจรจาขั้นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิการอยู่อาศัยเป็นพิเศษ จะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2017 (หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาฝรั่งเศสทันที) และการเจรจาสมบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตกลงการค้า จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2017 (ทันทีหลังการเลือกตั้งสหพันธรัฐเยอรมัน ค.ศ. 2017)[50][51][52]

วันที่ 29 เมษายน 2017 ทันทีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก หัวหน้ารัฐบาลรัฐสมาชิกที่เหลือ 27 ประเทศตกลงแนวทางการเจรจาที่ตุสก์เตรียม[53] แนวทางดังกล่าวยึดมุมมองว่าข้อ 50 อนุญาตการเจรจาสองระยะ ซึ่งสหราชอาณาจักรตกลงข้อผูกมัดทางการเงินและประโยชน์ตลอดชีวิตของพลเมืองอียูในบริเตนก่อน แล้วการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตจึงจะเริ่มได้[54] ในระยะแรก รัฐสมาชิกจะเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจ่าย "ใบแจ้งหนี้หย่าร้าง" ซึ่งทีแรกประมาณว่ามีมูลค่า 52,000 ล้านปอนด์[55] และหลังมีข้อเรียกร้องทางการเงินเพิ่มจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและโปแลนด์ มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 92,000 ล้านปอนด์[56] รายงานของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปของสภาขุนนางบริเตน ซึ่งจัดพิมพ์ในวันที่ 4 มีนาคม 2017 แถลงว่าหากมีไม่มีข้อตกลงหลังเบร็กซิตเมื่อสิ้นสุดระยะเจรจา สหราชอาณาจักรอาจถอนตัวได้โดยไม่ต้องชำระเงิน[57]

วันที่ 22 พฤษภาคม 2017 สภายุโรปให้อำนาจนักเจรจาเริ่มการเจรรจาเบร็กซิตและสภาฯ รับคำสั่งการเจรจา[58] การเจรจาวันแรกเกิดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งเดวิสและไมเคิล บาร์เนียร์ ตกลงให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิการอยู่อาศัยก่อน ส่วนเดวิสยอมรับว่าการอภิปรายเรื่องชายแดนไอร์แลนด์เหนือจะต้องรอความตกลงการค้าในอนาคต[59] วันที่ 22 มิถุนายน 2017 นายกรัฐมนตรีเมย์รับประกันว่าพลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างชอบด้วยกฎหมายทุกคนจะไม่ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ และยื่นขอเสนอให้พลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเกินห้าปีจนถึงเส้นตายที่ยังไม่ระบุระหว่างเดือนมีนาคม 2017 ถึงมีนาคม 2019 มีสิทธิเช่นเดียวกับพลเมืองสหราชอาณาจักร บนเงื่อนไขว่าอียูให้ข้อเสนอเดียวกันแก่พลเมืองบริติชที่อาศัยอยู่ในอียูอย่างชอบด้วยกฎหมาย[60] อย่างไรก็ดี นักเจรจาอียูไม่ยอมให้[61] ซึ่งปฏิเสธการเร่งความตกลงว่าด้วยผู้อาศัยนอกประเทศเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน 2017[62] และนักเจรจาหวังว่าศาลยุโรปจะยังคงมีเขตอำนาจในสหราชอาณาจักรในประเด็นเกี่ยวกับพลเมืองอียู ตามเป้าหมายการเจรจาซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2017[63][64]

การเจรจารอบสองเริ่มในกลางเดือนกรกฎาคม 2017 มีความคืบหน้าในปัญหาชายแดนไอร์แลนด์เหนือ นักเจรจาสหราชอาณาจักรขอให้แจกแจงข้อเรียกร้อง "ใบแจ้งนี้หย่าร้าง" โดยละเอียด และนักเจรจาอียูวิจารณ์ข้อเสนอสิทธิพลเมืองของสหราชอาณาจักร[65] เดวิด เดวิสไม่ผูกมัดกับการชำระเงินสุทธิของสหราชอาณาจักรแก่อียูในเรื่องใบแจ้งหนี้หย่าร้างที่มีคำร้อง ส่วนไมเคิล บาร์เนียร์ไม่ประนีประนอมข้อเรียกร้องของเขาให้ศาลยุติธรรมยุโรปยังคงมีเขตอำนาจเหนือสิทธิของพลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิต[66] โดยปฏิเสธข้อเสนอให้มีองค์กรระหว่างประเทศใหม่ซึ่งมีผู้พิพากษาสหราชอาณาจักรและอียู[67]

วันที่ 16 สิงหาคม 2017 รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดเผยเอกสารกลุ่มแรก ๆ ซึ่งระบุรายละเอียดของความทะเยอทะยานของบริเตนหลังเบร็กซิต โดยอภิปรายข้อตกลงการค้าและศุลกากร[68] วันที่ 23 สิงหาคม เทรีซา เมย์ประกาศว่าบริเตนจะออกจากเขตอำนาจโดยตรงของศาลยุติธรรมอียูเมื่อระยะเวลาเปลี่ยนผ่านตามแผนสิ้นสุด แต่ทั้งศาลบริติชและศาลยุติธรรมอียูจะยังมองคำวินิจฉัยของอีกฝ่ายหลังจากนั้นเช่นกัน[69] เอกสารจุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรฉบับหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนสิงหาคมเรียกร้องไม่ให้มีการจำกัดสินค้าที่มีอยู่ในตลาดสหราชอาณาจักรและอียูเพิ่มเติม[70]

การเจรจารอบสามเริ่มเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2017 มีความขัดแย้งกันในเรื่องการระงับข้อพิพาททางการเงิน หนังสือพิมพ์ ไอริชไทมส์ อธิบายว่านักเจรจาบริติชเรียกกรอบการเงินประจำหลายปี (MFF หรือ Maff) เจ็ดปีสำหรับช่วงปี 2014–2020 ที่รัฐสมาชิกและรัฐสภายุโรปเห็นพ้องว่าเป็น "เครื่องมือวางแผน" สำหรับช่วงเวลาถัดไปมิใช่ข้อผูกมัดทางการเงินที่มีผลผูกพันตามกฎหมายต่อรัฐสมาชิก กรณีของบริเตนคือ MFF ตั้งเพดานงบประมาณภายใต้หลายหัวเรื่องและต่อมามีการทบทวนมูลวิวัติระหว่างกระบวนการงบประมาณประจำปีซึ่งจะเป็นข้อผูกมัดตามกฎหมายจริงต่อแต่ละรัฐ ซึ่งขัดต่อระเบียบวิธีของคณะกรรมาธิการอียูสำหรับการคำนวณใบแจ้งหนี้เบร็กซิตของสหราชอาณาจักรที่รวมการหาร MFF ออกเป็นสัดส่วนตามที่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐเคยตกลงกันไว้[71] ส่วนในปัญหาชายแดนไอร์แลนด์มีความคืบหน้าโดยฝ่ายบริติชรับประกันการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของพลเมืองอียูภายใต้พื้นที่เดินทางร่วมอันประกอบด้วยไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร[72]

วันที่ 5 กันยายน 2017 เดวิสกล่าวว่า มีความคืบหน้ารูปธรรมในช่วงฤดูร้อนในด้านอย่างการคุ้มครองสิทธิของชาวบริติชผู้อาศัยอยู่นอกประเทศในอียูในการเข้าถึงสาธารณสุขและด้านอนาคตของชายแดนไอร์แลนด์ ขณะที่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันมากในเรื่อง "ใบแจ้งหนี้หย่าร้าง"[73] วันที่ 9 กันยายน คณะกรรมาธิการอียูจัดพิมพ์เอกสารเจรจาหลายฉบับ รวมทั้งฉบับหนึ่งที่อียูประกาศว่าเป็นความรับผิดชอบของสหราชอาณาจักรที่จะเสนอทางออกสำหรับชายแดนไอร์แลนด์หลังเบร็กซิต เอกสารดังกล่าวคาดการณ์ทางออก "เอกลักษณ์" ซึ่งจะได้รับอนุญาตที่นี่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ทางออกไอร์แลนด์ที่พิเศษดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นแผ่นแบบสำหรับความสัมพันธ์หลังเบร็กซิตกับรัฐสมาชิกอียูอื่น[74]

วันที่ 22 กันยายน 2017 เมย์ประกาศรายละเอียดข้อเสนอเบร็กซิตเพิ่มเติม[75][76] โดยนอกจากเสนอเงิน 20,000 ล้านยูโรในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสองปีและการยอมรับผู้เข้าเมืองชาวยุโรปต่อไปแล้ว[77] ยังเสนอ "ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแบบใหม่" กับอียู และยังคงมีส่วนร่วมต่อไปในโครงการที่ถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เช่น โครงการวิทยาศาสตร์และความมั่นคง[76][75] เธอยังยืนยันว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ขวางทางข้อเสนอสำหรับบูรณาการอียูเพิ่มของยุงเคอร์[76][75] บาร์เนียร์ต้อนรับข้อเสนอของเมย์ว่า "สร้างสรรค์" แต่ "ต้องแปลเป็นจุดยืนการเจรจาเพื่อให้เป็นความก้าวหน้าที่มีความหมาย" ด้วย[78]

การเจรจารอบสี่เริ่มในวันที่ 25 กันยายน โดยบาร์เนียร์ประกาศ่ว่าเขาไม่มีอาณัติจากอียู27 ให้อภิปรายข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านที่เมย์เสนอ เดวิสย้ำว่าสหราชอาณาจักรสามารถปฏิบัติตามข้อผูกมัดที่ให้ระหว่างเป็นสมาชิกอียูเฉพาะในบริบทข้อตกลง "ความเป็นหุ้นส่วนพิเศษ" ในอนาคตกับอียูเท่านั้น[79] ผู้เจรจาของอียูระบุว่าต้องบรรลุความตกลงระหว่างบริเตนกับอียูภายในเดือนตุลาคม 2018 เพื่อให้มีเวลาสำหรับรัฐสภาของชาติต่าง ๆ เห็นชอบกับเบร็กซิต[78]

การเจรจาระยะที่สอง (ปี 2018)[แก้]

ในเดือนธันวาคม 2017 ผู้นำอียูประกาศความตกลงเริ่มการเจรจาระยะใหม่ โดยเริ่มเจรจาเรื่องระยะเปลี่ยนผ่านหลังเดือนมีนาคม 2019 ในต้นปี 2018 และการเจรจาความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–อียูในอนาคต ร่วมทั้งด้นการค้าและความมั่นคงจะเริ่มในเดือนมีนาคม[80]

วันที่ 19 มิถุนายน 2018 สหราชอาณาจักรและอียูจัดพิมพ์แถลงการณ์ร่วมที่ระบุเค้าโครงความตกลงในระดับนักเจรจา ไมเคิล บาร์เนียร์ยกย่อง "การอุทิศตนและการผูกมัด" ของทีมเจรจาสองฝ่าย และว่ามีความคืบหน้าในด้านศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และความตกลงนิวเคลียร์ยุโรป ยูราตอม[81][82]

วันที่ 12 กรกฎาคม 2018 เมย์และคณะรัฐมนตรีบริเตนบางส่วนจัดพิมพ์ข้อเสนอความตกลงความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู ที่สื่อบริติชหลายสำนักเรียก แผนเชกเกอส์ ซึ่งมีการสรุปในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รัฐมนตรีเบร็กซิต เดวิส ลาออกโดยให้เหตุผลว่ามาจากความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม[83] ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอริส จอห์นสัน ลาออกตามในวันรุ่งขึ้น[84]

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2018 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีบริติชเห็นชอบร่างความตกลงการถอนตัว[85][86] วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีเบร็กซิต โดมินิก ราบ, สมาชิกคณะรัฐมนตรี เอสเทอร์ แม็กเวย์ และรัฐมนตรีด้อยอาวุโสหลายคนลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเอกสาร[87]

วันที่ 19 ธันวาคม 2018 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผนการปฏิบัติสำรอง "ไม่มีข้อตกลง" ในบางภาคส่วน ที่เกี่ยวกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร "ในเวลา 100 วัน"[88]

หลังการออกเสียงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2018 สมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรละเมิดเอกสิทธิ์ของรัฐสภาฐานไม่ยอมให้คำแนะนำทางกฎหมายสมบูรณ์ที่เคยได้รับต่อผลของเงื่อนไขการถอนตัวที่มีการเสนอแก่รัฐสภา[89] ประเด็นสำคัญในคำแนะนำครอบคลุมผลทางกฎหมายของความตกลง "แผนรับมือ" (backstop) ที่ว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรส่วนที่เหลือ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับชายแดนศุลกากรระหว่างอียูและสหราชอาณาจักร และการแสดงเจตนาเป็นนัยต่อความตกลงวันศุกร์ประเสริฐ ซึ่งนำไปสู่การยุติเดอะทรับเบิลส์ในไอร์แลนด์เหนือ และโดยเจาะจงว่าสหราชอาณาจักรจะแน่ใจว่าสามารถออกจากอียูในสำนึกเชิงปฏิบัติหรือไม่ ภายใต้ข้อเสนอร่างนั้น

วันรุ่งขึ้น มีการจัดพิมพ์คำแนะนำ คำถามคือ "อะไรเป็นผลกระทบทางกฎหมายของการที่สหราชอาณาจักรตกลงพิธีสารการถอนตัวต่อไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือโดยเฉพาะผลที่สอดคล้องกับข้อ 5 และ 184 ของความตกลงการถอนตัวหลัก" โดยคำแนะนำมีว่า

พิธีสารผูกมัดสหราชอาณาจักรและอียู [ย่อหน้า 3] และคาดหมายว่าจะบรรลุทางออกปัญหาชายแดนและศุลกากรในอนาคตขั้นสุดท้าย [ย่อหน้า 5, 12, 13] แต่ "ตั้งใจให้พิธีสารฯ ยังอยู่แม้เมื่อชัดเจนว่าการเจรจาล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด" [ย่อหน้า 16] และ "โดยสรุป แบบร่างปัจจับนของพิธีสารฯ ... ไม่มีกลไกที่น่าจะทำให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพศุลกากรทั่วสหราชอาณาจักรโดยปราศจากความตกลงตามมาอย่างชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งยังเป็นจริงอยู่แม้ภาคียังเจรจาอยู่อีกหลายปีต่อมา และแม้แต่ภาคีเชื่อว่าการเจรจาล้มเหลวอย่างชัดเจนแล้ว และไม่มีแผนความตกลงความสัมพันธ์ในอนาคต" [ย่อหน้า 30][89]

วันที่ 10 ธันวาคม 2018 นายกรัฐมนตรีบริติชเลื่อนการออกเสียงข้อตกลงเบร็กซิตของตนในสภาสามัญชน เมื่อเผชิญกับเค้าลางความปราชัยในสภาสามัญชน[90] ตัวเลือกนี้ทำให้เมย์มีเวลาต่อรองกับ ส.ส. แถวหลังพรรคอนุรักษนิยมและอียู แม้อียูเคยปัดการอภิปรายเพิ่มเติมไปแล้ว กลุ่มวิจัยยุโรป ส่วนหนึ่งของพรรคอนุรักษนิยมที่สนับสนุนเบร็กซิต "แข็ง" คัดค้านสนธิสัญญาความตกลงการถอนตัวที่เสนอของนายกรัฐมนตรี สมาชิกคัดค้านการใส่แผนรับมือไอร์แลนด์ในความตกลงฯ สมาชิกกลุ่มยังคัดค้านการชำระสะสางทางการเงิน 39,000 ล้านปอนด์กับสหภาพยุโรป และว่าความตกลงนี้จะส่งผลให้สหราชอาณาจักรยังคงปฏิบัติตามระเบียบของอียูในพื้นที่นโยบายหลัก และยังคงเขตอำนาจของศาลยุติธรรมยุโรปเหนือการตีความความตกลงและกฎหมายยุโรปจะยังใช้ได้ในสหราชอาณาจักร[91]

ความตกลงการถอนตัวและการขยายเวลา (ปี 2019)[แก้]

วันที่ 15 มกราคม 2019 สภาสามัญชนออกเสียง 432 ต่อ 202 คัดค้านความตกลงการถอนตัว นับเป็นการแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาครั้งใหญ่สุดของรัฐบาลสหราชอาณาจักร[92][93][94] ไม่นานจากนั้น ฝ่ายค้านยื่นมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล,[95] ซึ่งถูกปฏิเสธด้วยเสียง 325 ต่อ 306 เสียง[96]

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2019 รัฐบาลแพ้เสียงเห็นชอบข้อตกลงอีกครั้งด้วยคะแนน 391 ต่อ 242[97]

วันที่ 20 มีนาคม 2019 นายกรัฐมนตรี เทรีซา เมย์ เขียนจดหมายถึงประธานสภายุโรป ดอนัลด์ ตุสก์ ขอให้เลื่อนเบร็กซิตเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2019[98] วันที่ 21 มีนาคม เมย์ให้เหตุลต่อการประชุมสุดยอดที่ประชุมยุโรปในบรัสเซลส์ หลังเมย์ออกจากที่ประชุม ผู้นำอียูที่เหลืออภิปรายจนสุดท้ายปฏิเสธวันที่ 30 มิถุนายน และเสนอตัวเลือกระหว่างวันที่เบร็กซิตสองวันแทน วันที่ 22 มีนาคม 2019 มีการตกลงตัวเลือกการขยายเวลาระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและที่ประชุมยุโรป[35] ทางเลือกแรกคือ หาก ส.ส. ปฏิเสธความตกลงของเมย์สัปดาห์หน้า เบร็กซิตจะมีกำหนดวันที่ 12 เมษายน 2019 ไม่ว่าจะมีความตกลงหรือไม่ หรืออีกทางหนึ่ง สามารถขอการขยายเวลาและการผูกมัดให้เข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ค.ศ. 2019 ทางเลือกที่สองมีว่าหาก ส.ส. เห็นชอบความตกลงของเมย์ เบร็กซิตจะมีกำหนดวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 วันที่หลังนี้เป็นวันก่อนการเริ่มการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป[99] หลังรัฐบาลดูเหมือนไม่มีหลักประกัน ความกังวลเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการเปลี่ยนแปลงที่มีการเสนอ (เนื่องจากมีวันที่ออกที่เป็นไปได้สองวัน) เมื่อวันก่อน[100][101] วันที่ 27 มีนาคม 2019 ทั้งสภาขุนนางและสภาสามัญชนเห็นชอบกฎหมายอุปกรณ์เปลี่ยนวันที่ออกเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 หากมีการเห็นชอบความตกลงการถอนตัว หรือวันที่ 12 เมษายน 2019 หากไม่มีการเห็นชอบ[102][103] มีการลงนามการแก้ไขกฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อวันรุ่งขึ้น[35]

มีการนำความตกลงการถอนตัวกลับเข้าสภาสามัญชนโดยไม่มีความเข้าใจแนบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม[104] ญัตติสนับสนุนความตกลงการถอนตัวของรัฐบาลแพ้ 344 ต่อ 286 เสียง[105]

หลังรัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบความตกลงการถอนตัวภายในวันที่ 29 มีนาคม สหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากอียูตามกฎหมายในวันที่ 12 เมษายน ในวันที่ 10 เมษายน 2019 การเจรจารอบดึกในบรัสเซลส์มีผลให้ขยายเวลาอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019 โดยเทรีซา เมย์ขอให้ขยายเวลาอีกครั้งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขของการขยายเวลารอบใหม่นี้ หากความตกลงการถอนตัวผ่านก่อนเดือนตุลาคม เบร็กซิตจะเกิดขึ้นในวันแรกของเดือนถัดไป อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรมีข้อผูกพันให้จัดการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนตุลาคม หรือออกจากอียูในวันที่ 1 มิถุนายนโดยไม่มีข้อตกลง[106][107]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Brexit timeline: key dates in the UK's divorce from the EU". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 24 July 2019.
  2. DAvis Butler. "The 1975 Referendum" (PDF). Eureferendum.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-15. สืบค้นเมื่อ 19 May 2016.
  3. แปลจากต้นฉบับ: "Do you think the UK should stay in the European Community (Common Market)?"
  4. "Research Briefings - The 1974-75 UK Renegotiation of EEC Membership and Referendum". Researchbriefings.parliament.uk. สืบค้นเมื่อ 19 May 2016.
  5. Nicholas Watt (29 June 2012). "Cameron defies Tory right over EU referendum: Prime minister, buoyed by successful negotiations on eurozone banking reform, rejects 'in or out' referendum on EU". The Guardian. London, UK. สืบค้นเมื่อ 2 July 2012. David Cameron placed himself on a collision course with the Tory right when he mounted a passionate defence of Britain's membership of the EU and rejected out of hand an 'in or out' referendum.
  6. Sparrow, Andrew (1 July 2012). "PM accused of weak stance on Europe referendum". The Guardian. London, UK. สืบค้นเมื่อ 2 July 2012. Cameron said he would continue to work for 'a different, more flexible and less onerous position for Britain within the EU'.
  7. "David Cameron promises in/out referendum on EU". BBC News. BBC. 23 January 2013. สืบค้นเมื่อ 23 April 2016.
  8. "David Cameron sets out EU reform goals". BBC News. 11 November 2015. สืบค้นเมื่อ 16 January 2016.
  9. "Cameron: MPs will be allowed free vote on EU referendum – video" (Video). The Guardian. 5 January 2016. สืบค้นเมื่อ 9 January 2016. The PM also indicates Tory MPs will be able to take differing positions once the renegotiation has finished
  10. Hughes, Laura; Swinford, Stephen; Dominiczak, Peter (5 January 2016). "EU Referendum: David Cameron forced to let ministers campaign for Brexit after fears of a Cabinet resignation". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-05. สืบค้นเมื่อ 9 January 2016.
  11. "EU referendum outcome: PM statement, 24 June 2016". gov.uk. สืบค้นเมื่อ 25 June 2016.
  12. "ตลาดหุ้นทั่วโลกกระอัก! ยูเคออกจากอียู เงินยูโรอ่อนค่ามากสุดตั้งแต่ใช้" ไทยรัฐ. 24 มิถุนายน 2016
  13. Khetani-Shah, S. & Deutsch, J. (2017). Brexit timeline: From referendum to EU exit (Politico Pro).
  14. Elliott, Larry. "No-deal Brexit would plunge Britain into a recession, says OBR". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2019-07-22.
  15. "Brexit: MPs back bid to block Parliament suspension". BBC News. 2019-07-18.
  16. Patrick Wintour (22 July 2016). "UK officials seek draft agreements with EU before triggering article 50". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 12 October 2016.
  17. Renwick, Alan (19 January 2016). "What happens if we vote for Brexit?". The Constitution Unit Blog. สืบค้นเมื่อ 14 May 2016.
  18. Wright, Ben (26 February 2016). "Reality Check: How plausible is second EU referendum?". BBC News. BBC. สืบค้นเมื่อ 14 May 2016.
  19. In a leaflet sent out before the referendum, the UK government stated "This is your decision. The Government will implement what you decide." "Why the Government believes that voting to remain in the European Union is the best decision for the UK. The EU referendum, Thursday, 23 June 2016" (PDF).
  20. "Brexit: David Cameron to quit after UK votes to leave EU". BBC News. BBC. 24 June 2016. สืบค้นเมื่อ 24 June 2016.
  21. Cooper, Charlie (27 June 2016). "David Cameron rules out second EU referendum after Brexit". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 27 June 2016.
  22. Ram, Vidya. "U.K. govt. must get Parliament nod for Brexit: Supreme Court". The Hindu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 8 March 2017.
  23. Bowcott, Owen; Mason, Rowena; Asthana, Anushka (24 January 2017). "Supreme court rules parliament must have vote to trigger article 50". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 9 February 2017.
  24. "Brexit: MPs overwhelmingly back Article 50 bill". BBC. 1 February 2017. สืบค้นเมื่อ 1 February 2017.
  25. "Article 50: May signs letter that will trigger Brexit". BBC News. 28 March 2017. สืบค้นเมื่อ 28 March 2017.
  26. Tusk, Donald [@eucopresident] (29 March 2017). "The Article 50 letter. #Brexit" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  27. Stamp, Gavin; Hunt, Alex (28 March 2017). "Theresa May officially starts Brexit process". BBC News. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  28. 10 DOWNING STREET, LONDON SW1A 2AA 29 March 2017
  29. "Brexit is reversible, says author of Brexit treaty". The Independent. 21 February 2017.
  30. "a revocation of notification [by Article 50] needs to be subject to conditions set by all EU27, so that it cannot be used as a procedural device or abused in an attempt to improve on the current terms of the United Kingdom's membership""European Plenary sitting 10 April 2017". European Parliament. 10 April 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2017.
  31. Bowcott, Owen (16 November 2018). "Government takes Brexit article 50 case to UK supreme court". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 20 November 2018.
  32. Court, The Supreme. "Permission to appeal determination in the matter of Secretary of State for Exiting the European Union (Appellant) v Wightman and others (Respondents)". Supremecourt.uk (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-31. สืบค้นเมื่อ 20 November 2018.
  33. 33.0 33.1 Brexit ruling: UK can cancel decision, EU court says BBC Scotland, 10 December 2018
  34. 34.0 34.1 "Key dates in Brexit process". Reuters. 2 February 2018. สืบค้นเมื่อ 13 February 2019.
  35. 35.0 35.1 35.2 "Statutory Instruments – 2019 No. 859 – Exiting The European Union – The European Union (Withdrawal) Act 2018 (Exit Day) (Amendment) (No. 2) Regulations 2019" (PDF). The Stationery Office Limited. 11 April 2019. สืบค้นเมื่อ 13 April 2019.
  36. "European Union (Withdrawal) Act 2018". legislation.gov.uk. 2018. sec. 20(1). สืบค้นเมื่อ 13 February 2019. “exit day” means 29 March 2019 at 11.00 p.m.(and see subsections (2) to (5)); Subsections (2) to (5) provide the option of amending the date by a Ministerial Regulation "if the day or time on or at which the Treaties are to cease to apply to the United Kingdom in accordance with Article 50(3) of the Treaty on European Union is different from that specified in the definition of “exit day” in subsection (1)." Article 50(3) of the Treaty on European Union states: The Treaties shall cease to apply to the State in question from the date of entry into force of the withdrawal agreement or, failing that, two years after the notification referred to in paragraph 2, unless the European Council, in agreement with the Member State concerned, unanimously decides to extend this period.
  37. The UK legislation states the day and hour as "29 March 2019 at 11.00 p.m." in the knowledge that the UK Interpretation Act 1978 s.4 (a) prescribes that "An Act or provision of an Act comes into force where provision is made for it to come into force on a particular day, at the beginning of that day".
  38. Walker, Nigel (6 February 2019). "House of Commons Briefing Paper 7960, summary". House of Commons. สืบค้นเมื่อ 16 February 2019.
  39. "Directives for the negotiation of an agreement with the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland setting out the arrangements for its withdrawal from the European Union (Section II.8)". Europa (web portal). สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  40. Rankin, Jennifer (3 October 2016). "EU commission still refuses UK talks before article 50 triggered". The Guardian.
  41. "Juncker on populist right-wingers: "I want to stand against these forces"". 31 October 2016. สืบค้นเมื่อ 31 October 2016.
  42. "Brexit-Bundestagsdebatte: Mit Merkel wird es kein Rosinenpicken für die Briten geben" [Brexit parliamentary debate: With Merkel there will be no cherrypicking for the British]. Die Welt. 28 June 2016. สืบค้นเมื่อ 14 May 2017.
  43. "Theresa May – her full Brexit speech to Conservative conference". The Independent. 2 October 2016. สืบค้นเมื่อ 14 May 2017.
  44. Mason, Rowena (5 October 2016). "Theresa May's Conservative party conference speech – key points analysed". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 14 May 2017.
  45. Hope, Christopher (23 November 2016). "British expats set to be granted right to carry on living in EU with Theresa May 'close to reciprocal rights deal'". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 18 January 2017.
  46. Swinford, Steven (29 November 2016). "Angela Merkel says "nein" to Theresa May's calls for early deal on rights of EU migrants and British ex-pats". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 18 January 2017.
  47. "Brexit: Theresa May to trigger Article 50 by end of March". BBC News. 2 October 2016. สืบค้นเมื่อ 16 October 2016.
  48. "The government's negotiating objectives for exiting the EU: PM speech". Gov.uk. 17 January 2017.
  49. Kuenssberg, Laura (17 January 2017). "Brexit: UK to leave single market, says Theresa May". BBC. สืบค้นเมื่อ 14 May 2017.
  50. Nikos Chrysoloras (2 April 2017). "Your Guide to Key Dates in the Brexit Negotiations". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 23 June 2017.
  51. Roberts, Dan (20 June 2017). "Brexit: UK caves in to EU demand to agree divorce bill before trade talks". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2019. สืบค้นเมื่อ 9 September 2017.
  52. "Merkel lobt May-Angebot zum Brexit [Merkel praises May's offer on Brexit]". Die Zeit. Hamburg. 23 June 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 June 2017. สืบค้นเมื่อ 23 June 2017.
  53. "European Council (Art. 50) guidelines for Brexit negotiations". Council of the European Union Website. Council of the European Union. 29 April 2017. สืบค้นเมื่อ 14 April 2017.
  54. Foster, Peter (29 April 2017). "EU Brexit guidelines: What's in the document, and what it really means". The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 14 May 2017.
  55. "Divorce settlement or leaving the club? A breakdown of the Brexit bill" March 2017, A breakdown of the Brexit bill (2017)
  56. Worstall, Tim (3 May 2017). "It Is To Laugh at Their Mistake – EU's Brexit Bill Claim Now At €100 Billion". Forbes. สืบค้นเมื่อ 15 May 2017.
  57. "Brexit: UK 'not obliged' to pay divorce bill say peers". BBC News. 4 March 2017.
  58. "Council (Art 50) authorises the start of Brexit talks and adopts negotiating directives – Consilium". Europa (web portal).
  59. "Brexit: UK caves in to EU demand to agree divorce bill before trade talks", The Guardian, 19 June 2017. Retrieved 20 June 2017
  60. Boffey, Daniel (22 June 2017). "Donald Tusk echoes John Lennon to suggest UK could stay in EU". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 23 June 2017.
  61. Abert, Eric (27 June 2017). "Brexit: les expatriés, premier bras de fer entre Londres et Bruxelles [Brexit: Expatriates, the first armwrestling match between London and Brussels]". Le Monde. Paris. สืบค้นเมื่อ 27 June 2017.
  62. Bush, Stephen (2 May 2017). "Theresa May and Jean-Claude Juncker's dinner leaked because no-one thinks Brexit will work". New Statesman. สืบค้นเมื่อ 15 May 2017.
  63. "Brexit-Verhandlungen: London will EU-Bürger in Grossbritannien halten" [Brexit negotiations: London wants to keep EU citizens in Britain]. Neue Zürcher Zeitung. 26 June 2017. สืบค้นเมื่อ 27 June 2017.
  64. "Reality Check: Britain and EU at odds over citizens' rights". BBC News. 27 June 2017. สืบค้นเมื่อ 27 June 2017.
  65. "EU and UK 'singing from same hymn sheet' on Northern Ireland". The Irish Times. 20 July 2017. สืบค้นเมื่อ 20 July 2017.
  66. Nuspliger, Niklus (20 July 2017). "Zweite Verhandlungsrunde in Brüssel: London bleibt zu Brexit-Rechnung unverbindlich" [Second round of negotiations in Brussels: London remains non-committal to Brexit bill]. Neue Zürcher Zeitung. สืบค้นเมื่อ 21 July 2017.
  67. "Brexit: UK and EU at odds over "exit bill"". BBC News. 21 July 2017. สืบค้นเมื่อ 21 July 2017.
  68. "UK forwarders: Brexit customs proposal short on details". joc.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-22. สืบค้นเมื่อ 2019-08-24.
  69. "PM: UK leaving EU court's jurisdiction". BBC. 23 August 2017. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  70. "Brexit: Jean-Claude Juncker criticises UK's position papers". BBC News. 30 August 2017. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
  71. "Huge gulf in negotiations on UK's Brexit bill". The Irish Times. 31 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2 September 2017.
  72. "Major breakthrough in Irish strand of Brexit talks". The Irish Times. 1 September 2017. สืบค้นเมื่อ 2 September 2017.
  73. "Brexit: "Significant differences" over exit bill says Davis". BBC News. 5 September 2017. สืบค้นเมื่อ 5 September 2017.
  74. "Don't use Irish border as test case for EU–UK border, says Barnier". The Irish Times. 7 September 2017. สืบค้นเมื่อ 7 September 2017.
  75. 75.0 75.1 75.2 Guardian Wires (22 September 2017). "Theresa May's Brexit speech in Florence". YouTube. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  76. 76.0 76.1 76.2 "Keep EU trade as it is until 2021 – May". BBC. 22 September 2017. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  77. CNN, Laura Smith-Spark. "UK PM seeks to break Brexit deadlock". CNN. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  78. 78.0 78.1 "The Latest: EU's Brexit Chief Welcomes 'Constructive' Speech". USNews.com. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  79. "Hopes and frustrations as Brexit talks resume after May speech". Reuters. 24 September 2017. สืบค้นเมื่อ 28 September 2017.
  80. "Brexit: EU leaders agree to move talks to next stage". BBC News. 15 December 2017. สืบค้นเมื่อ 19 December 2017.
  81. "Commons set for Brexit vote showdown". BBC News. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
  82. "Joint statement from the negotiators of the European Union and the United Kingdom Government on progress of negotiations under Article 50 TEU" (PDF). Consilium.eu. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
  83. Stewart, Heather (9 July 2018). "Brexit secretary David Davis resigns plunging government into crisis". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 1 August 2018.
  84. Stewart, Heather; Crerar, Pippa; Sabbagh, Dan (9 July 2018). "May's plan 'sticks in the throat', says Boris Johnson as he resigns over Brexit". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 August 2018.
  85. "Brexit: Cabinet backs draft agreement". BBC News. 14 November 2018. สืบค้นเมื่อ 15 November 2018.
  86. "Draft Agreement on the withdrawal of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland from the European Union and the European Atomic Energy Community, as agreed at negotiators' level on 14 November 2018". European Commission. 14 November 2018. สืบค้นเมื่อ 15 November 2018.
  87. "Brexit: Dominic Raab and Esther McVey among ministers to quit over EU agreement". BBC News. 15 November 2018. สืบค้นเมื่อ 15 November 2018.
  88. .European Commission - Press release, Brussels, 19 December 2018
  89. 89.0 89.1 "Brexit: Legal advice warns of Irish border 'stalemate'". BBC News. 5 December 2018. สืบค้นเมื่อ 24 December 2018.
  90. "Theresa May calls off vote on Brexit deal after massive opposition from Tory rebels". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 10 December 2018. สืบค้นเมื่อ 11 December 2018.
  91. Boffey, Daniels (10 December 2018). "EU figures rule out concessions as May postpones Brexit vote". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 29 December 2018.
  92. "Brexit: Theresa May's deal is voted down in historic Commons defeat". BBC News. BBC. 15 January 2019. สืบค้นเมื่อ 16 January 2019.
  93. Voce, Antonio; Clarke, Seán; Voce, Antonio; Clarke, Seán. "How did your MP vote on May's Brexit deal?". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 15 January 2019.
  94. "PM's Brexit deal rejected by huge margin". BBC News. 15 January 2019.
  95. Stewart, Heather (15 January 2019). "Theresa May loses Brexit deal vote by majority of 230". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 15 January 2019.
  96. Rayner, Gordon; Maidment, Jack; Crisp, James; Yorke, Harry (16 January 2019). "No confidence vote result: Theresa May wins confidence vote but is snubbed by Jeremy Corbyn over cross-party Brexit talks". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 17 January 2019.
  97. "Brexit: MPs reject Theresa May's deal for a second time". BBC News. 13 March 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2019. สืบค้นเมื่อ 19 March 2019.
  98. "Brexit: 'Tired' public needs a decision, says Theresa May". BBC News. 20 March 2019.
  99. "Brexit: Theresa May to urge MPs to back deal as delay agreed". BBC News. 22 March 2019. สืบค้นเมื่อ 22 March 2019.
  100. Ciaran McGrath (26 March 2019). "Get us out NOW! May's Brexit delay 'UNLAWFUL' – MPs issue shock legal block". Daily Express. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019. ...Brexiteer MPs led by Sir Bill Cash have written to Mrs May warning of their "serious legal objections" to her decision to delay Article 50, and hence Brexit, beyond March 29. ... The Government is confident a proposed law change altering the Brexit date is "legally correct" in response to concerns raised by lawyers. Ministers were pressed over the legality of the statutory instrument (SI) to change the exit day of the UK's withdrawal from the EU by Lord Pannick, who successfully led the Supreme Court Article 50 case against the Government. ... The concern centres on the SI, due to be debated by peers and MPs on Wednesday, containing two alternative exit days.
  101. "Amendment to the Motion – Business of the House – Motion to Agree – in the House of Lords at 3:06 pm on 26th March 2019". TheyWorkForYou. 26 March 2019. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019. ...Lord Pannick: ... A number of lawyers have expressed concern about the legality of this statutory instrument. The concern is that it sets out two alternative exit days: 12 April or 22 May.
  102. Andrew Sparrow; Jedidajah Otte (27 March 2019). "All eight indicative vote options on Brexit defeated by MPs – as it happened". Guardian. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019. The statutory instrument needs to be passed by both the Commons and the Lords. In the Lords peers passed it earlier today, without a division
  103. Daniel Thomas (27 March 2019). "MPs vote down rival Brexit plans as May offers to resign – as it happened". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019. MPs delay Brexit date by 441 to 105
  104. "Brexit: MPs face new vote on withdrawal deal". BBC News. 29 March 2019. สืบค้นเมื่อ 29 March 2019.
  105. "Brexit: Brexit: MPs reject May's EU withdrawal agreement". BBC News. 29 March 2019. สืบค้นเมื่อ 29 March 2019.
  106. "New Brexit deadline set for 31 October" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 11 April 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2019. สืบค้นเมื่อ 11 April 2019.
  107. European Council (10 April 2019). "Special meeting of the European Council (Art. 50) (10 April 2019) – Conclusions" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2019. สืบค้นเมื่อ 11 April 2019.

บทอ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]