การใช้ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จดหมายจากเทเรซา เมย์ ใช้ข้อ 50

การใช้ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร เป็นก้าวสำคัญของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ที่เรียกกันทั่วไปว่า เบร็กซิต นั้น การใช้ข้อ 50 (2) เป็นการแจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะมนตรียุโรปซึ่งความจำนงของรัฐสมาชิกในการออกจากสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มการเจรจาออกตามที่กำหนดโดยสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป

กระบวนการออกจากสหภาพยุโรปนั้นเริ่มด้วยการลงประชามติซึ่งจัดในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งเห็นชอบให้บริเตนออกจากสหภาพยุโรป ในเดือนตุลาคม 2559 นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เทเรซา เมย์ ประกาศว่าจะใช้ข้อ 50 ใน "ไตรมาสแรกของปี 2560"[1] วันที่ 24 มกราคม 2560 ศาลสูงสุดวินิจฉัยในคดีมิลเลอร์ด้วยเสียงข้างมากว่ากระบวนการดังกล่าวมิอาจเริ่มได้โดยปราศจากพระราชบัญญัติอนุญาต และวินิจิฉัยเป็นเอกฉันท์ค้านข้อเรียกร้องของรัฐบาลสกอตแลนด์เรื่องการโอนอำนาจของส่วนกลางให้ส่วนท้องถิ่น ต่อมาในเดือนมีนาคม 2560 จึงมีการตราพระราชบัญญัติ (การแจ้งออกจาก) สหภาพยุโรปปี 2017 (European Union (Notification of Withdrawal) Act 2017) ซึ่งมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีใช้ข้อ 50 ได้

การใช้ข้อ 50 ของสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 เมื่อเซอร์ทิม บาร์โรว์ ผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักรประจำสหภาพยุโรป มอบจดหมายที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ลงนาม ให้แก่ดอนัลต์ ตุสก์ ประธานคณะมนตรียุโรปในกรุงบรัสเซลส์ อย่างเป็นทางการ[2] จดหมายดังกล่าวยังมีความจำนงของสหราชอาณาจักรในการออกจากประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปด้วย หมายความว่า สหราชอาณาจักรจะเลิกเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปภายในเดือนเมษายน 2562 เว้นแต่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเห็นพ้องกันให้ขยายเวลาการเจรจา[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Brexit: Theresa May to trigger Article 50 by end of March". BBC News. 2 October 2016. สืบค้นเมื่อ 16 October 2016.
  2. Castle, Stephen (29 March 2017). "U.K. Initiates 'Brexit' and Wades into a Thorny Thicket". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2 April 2017.
  3. Bloom, Dan (29 March 2017). "Brexit Day recap: Article 50 officially triggered on historic day as Theresa May warns: 'No turning back'". Daily Mirror. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.