ข้ามไปเนื้อหา

วาฬบรูด้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Balaenoptera edeni)
วาฬบรูด้า
ภาพถ่ายจากบนอากาศ
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นย่อย: Eutheria
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
วงศ์: Balaenopteridae
สกุล: Balaenoptera
สปีชีส์: B.  edeni
ชื่อทวินาม
Balaenoptera edeni
Anderson, 1879
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของวาฬบรูด้าหรือวาฬแกลบ
ชื่อพ้อง[1]
  • Balaenoptera brydei Olsen, 1913

วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ (อังกฤษ: Bryde's whale, Eden's whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balaenoptera edeni) เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae โดยชื่อ วาฬบรูด้า เป็นการตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติ แก่กงสุลชาวนอร์เวย์ ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ชื่อโยฮัน บรูด้า

ลักษณะและการกระจายพันธุ์

[แก้]

มีจุดเด่นที่ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตาม แนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลม ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ และเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ

วาฬบรูด้าพบกระจายพันธุ์ในท้องทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ในอ่าวไทย สามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบบ่อยที่ทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวก็มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่น ๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำจะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง จุดเด่นของวาฬบรูด้า คือ ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ มีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลม และมีความยาวเป็นร้อยละ 10 ของความยาวลำตัว ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง พาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจากปากบนมีจำนวน 250-370 แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว 60 เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15.5 เมตร หนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา จำนวน 250-370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน, เคย, ปลาขนาดเล็ก และหมึก[2]

วาฬบรูด้าพบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี วาฬบรูด้าจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัวทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร มีอายุยืนได้ถึง 50 ปี เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ[2]

วาฬบรูด้าในประเทศไทย

[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พื้นที่อ่าวไทยพบว่าเป็นแหล่งอาศัยและศึกษาเกี่ยวกับวาฬบรูดาแหล่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยไปแล้ว เมื่อพบจำนวนประชากร 2-20 ตัว ขนาดที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งประเมินว่ามีจำนวนประชากรราว 35 ตัว และทำการจำแนกอัตลักษณ์ได้แล้วกว่า 30 ตัว พร้อมกับมีการตั้งชื่อให้ด้วย[3] โดยเมื่อสำรวจพบวาฬ จะมีการจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัวด้วยวิธีการถ่ายภาพ (Photo-ID) ศึกษาตำหนิบริเวณครีบหลังเป็นจุดหลัก และใช้ตำหนิรอง เช่น ตำหนิตามลำตัว หัว ปาก ซี่กรอง และหาง มาประกอบ[4]

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 พบฝูงวาฬบรูด้า ในบริเวณที่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น และมีการสำรวจพบมากขึ้น โดยอาหารสำคัญของวาฬฝูงนี้ก็คือ ปลากะตัก[5] และพบด้วยว่าวาฬบรูด้าที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยนี้มีขนาดเล็กกว่าวาฬบรูด้าที่พบที่อื่นทั่วโลก จึงเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติมาก และสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวาฬชนิดใหม่ ที่กำลังจะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นชนิดใหม่ด้วย[2]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 พบฝูงวาฬบรูด้าประมาณ 40 ตัว อยู่ใกล้พื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด โดยพบหาอาหารกินที่ทะเลบางขุนเทียน และจากการเฝ้าศึกษาพบว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของอ่าวไทยด้วย[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Reilly, S.B., Bannister, J.L., Best, P.B., Brown, M., Brownell Jr., R.L., Butterworth, D.S., Clapham, P.J., Cooke, J., Donovan, G.P., Urbán, J. & Zerbini, A.N. (2008). Balaenoptera_brydei. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 26 February 2009.
  2. 2.0 2.1 2.2 [ลิงก์เสีย] ตื่นตาพบวาฬบรูด้า รวมฝูงในอ่าวไทย จากไทยโพสต์
  3. ไทยแหล่งข้อมูล'วาฬบรูด้า'มากสุดในเอเชีย จากไทยรัฐ
  4. Bryde's whale in Thailand[ลิงก์เสีย] โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
  5. พบ 'วาฬบรูด้า' ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาห่างฝั่ง 5 กม. จากไทยรัฐ
  6. ร้อยข่าวบลูสกาย, รายการทางบลูสกายแชนแนล โดย อัญชะลี ไพรีรักษ์ และสันติสุข มะโรงศรี: พฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Balaenoptera brydei ที่วิกิสปีชีส์