อาร์โน อัลลัน เพนเซียส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Arno Allan Penzias)
อาร์โน อัลลัน เพนเซียส
เกิด26 เมษายน ค.ศ. 1933(1933-04-26)
มิวนิก,  เยอรมนี
เสียชีวิต22 มกราคม ค.ศ. 2024(2024-01-22) (90 ปี)
ซานฟรานซิสโก, แคลิฟอร์เนีย,  สหรัฐ
สัญชาติ สหรัฐ
ศิษย์เก่าCCNY
มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
มีชื่อเสียงจากการแผ่รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (1978)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์
สถาบันที่ทำงานBell Labs

อาร์โน อัลลัน เพนเซียส (อังกฤษ: Arno Allan Penzias; 26 เมษายน ค.ศ. 1933 - 22 มกราคม ค.ศ. 2024) เป็นนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

เพนเซียสเกิดที่เมืองมิวนิก ประเทศสาธารณรัฐไวมาร์ (เยอรมนี) เมื่ออายุ 6 ขวบได้อยู่ในกลุ่มเด็ก ๆ ชาวยิวที่อพยพไปยังประเทศอังกฤษในปฏิบัติการช่วยเหลือ Kindertransport หกเดือนต่อมาผู้ปกครองของเขาได้หลบหนีจากพวกนาซีไปยังสหรัฐอเมริกา จากนั้นครอบครัวจึงได้ตั้งรกรากที่เมืองนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1940 เพนเซียสได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1946 เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยเมืองนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1954 จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้รับปริญญาโทในปี 1958 และปริญญาเอกในปี 1962

เพนเซียสเริ่มงานที่ Bell Labs ที่นิวเจอร์ซีย์ โดยทำงานเกี่ยวกับเครื่องรับคลื่นไมโครเวฟอย่างละเอียดสำหรับใช้ในการเฝ้าสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ ในปี ค.ศ. 1964 ขณะกำลังสร้างระบบเครื่องรับที่ละเอียดอ่อนที่สุด เขากับ โรเบิร์ต วูดโรว์ วิลสัน เพื่อนร่วมงาน ได้พบกับคลื่นวิทยุรบกวนที่พวกเขาไม่สามารถอธิบายได้ มันมีพลังงานต่ำเกินกว่าจะเป็นการแผ่รังสีที่มาจากทางช้างเผือก ทั้งยังมีลักษณะที่เหมือนกันในทุกทิศทาง พวกเขาจึงสันนิษฐานว่าเครื่องมือวัดของตนอาจถูกรบกวนจากแหล่งกำเนิดอื่นบนโลก ทั้งสองทำการทดลองใหม่อีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจยอมรับผลที่ว่าคลื่นวิทยุรบกวนนั้นมาจากเมืองนิวยอร์ก หลังจากทดลองตัดความเป็นไปได้ของแหล่งกำเนิดคลื่นรบกวนทั้งหมดแล้ว ทั้งสองจึงได้ประกาศการค้นพบของตน ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการอธิบายโดย โรเบิร์ต ดิค[1] ว่านั่นคือรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล ซึ่งเป็นเศษซากคลื่นวิทยุที่หลงเหลือมาจากบิกแบง การค้นพบนี้ช่วยยืนยันทฤษฎีบิกแบงให้แก่นักดาราศาสตร์ และช่วยแก้ปัญหาข้อสงสัยหลายประการที่เคยมีก่อนหน้านั้น

เพนเซียสกับวิลสันได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1978 ร่วมกับ Pyotr Leonidovich Kapitsa (งานของ Kapitsa ไม่เกี่ยวข้องกับงานของเพนเซียสและวิลสัน) ทั้งสองยังได้รับเหรียญรางวัล Henry Draper ในปีก่อนหน้านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Lehrer, Jonah (21 December 2009). "The Neuroscience of Screwing up". Wired (magazine). สืบค้นเมื่อ 21 December 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]