อีนีอิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต้นฉบับ อีนีอิด ราวปี ค.ศ. 1470 ภาพประกอบโดยคริสโตโฟโร มาโยรานา
แผนที่การเดินทางของอีเนียส

อีนีอิด (อังกฤษ: Aeneid, ละติน: Aeneis) เป็นบทกวีมหากาพย์ภาษาละตินที่เขียนโดยเวอร์จิล ระหว่าง 29–19 ปีก่อนคริสตกาล[1] บอกเล่าเรื่องราวของอีเนียส เจ้าชายแห่งกรุงทรอยผู้เดินทางลี้ภัยไปยังดินแดนอิตาลีและกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวโรมัน เวอร์จิลประพันธ์มหากาพย์นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมการเมืองโรมันผันผวนจากสงครามครั้งสุดท้ายของสาธารณรัฐโรมัน และตั้งใจให้เป็นตำนานการถือกำเนิดและมหากาพย์ประจำชนชาติโรมัน แต่เมื่อเวอร์จิลเสียชีวิตเมื่อ 19 ปีก่อนคริสตกาล เขายังประพันธ์ อีนีอิด ไม่เสร็จสมบูรณ์ดีและสั่งเสียให้เผาต้นฉบับทิ้ง อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิเอากุสตุสมีรับสั่งให้ตีพิมพ์มหากาพย์นี้โดยให้มีการแก้ไขให้น้อยที่สุด[2] จึงมีนักวิชาการบางส่วนเสนอว่าจักรพรรดิเอากุสตุสอาจใช้มหากาพย์นี้ในการเสริมสร้าง "ความยิ่งใหญ่ของโรม" ในรัชกาลของพระองค์ และสร้างความชอบธรรมในการปกครองให้แก่ราชวงศ์ยูลิอุส-เกลาดิอุส[3]

บทกวี อีนีอิด ประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์มาตราหกคณะแด็กทิล (dactylic hexameter) มีความยาวทั้งสิ้น 9,896 บาท สามารถแบ่งออกได้เป็น 12 บท โดย 6 บทแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของอีเนียสจากกรุงทรอยไปยังอิตาลี ส่วน 6 บทหลังเป็นเรื่องราวชัยชนะของอีเนียสเหนือชาวละติน อันเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่กรุงโรม มีการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการแบ่งเนื้อหาเช่นนี้เป็นความพยายามของเวอร์จิลในการทำให้ อีนีอิด มีความทัดเทียมกับสองมหากาพย์ของโฮเมอร์ คือมีการเดินทางร่อนเร่แบบ โอดิสซีย์ และการสู้รบแบบ อีเลียด[4] เรื่องราวของ อีนีอิด เริ่มตอนกลางเรื่องแบบเดียวกับโฮเมอร์เมื่ออีเนียสนำกองเรือทรอยเดินทางไปที่ดินแดนอิตาลีตามคำทำนายที่ได้รับ แต่ระหว่างทางถูกเทพเจ้าขัดขวางจนต้องหลบเข้าฝั่งแอฟริกาและพบกับราชินีไดโดแห่งคาร์เธจ ซึ่งอีเนียสได้เล่าเหตุการณ์ให้พระนางฟังว่าเมืองของตนถูกชาวกรีกตีแตกจึงต้องอพยพผู้คนเดินทางระหกระเหินไปตามเมืองในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกก่อนจะมาขึ้นฝั่งที่นี่ ระหว่างที่อาศัยอยู่ที่คาร์เธจ อีเนียสและไดโดตกหลุมรักกัน แต่เทพเจ้ามาเตือนอีเนียสถึงคำทำนายทำให้อีเนียสต้องจำยอมเดินทางต่อ เมื่อไดโดทราบเรื่องพระนางเสียใจมากและผูกพยาบาทกับอีเนียสก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ความพยาบาทดังกล่าวปรากฏต่อมาในรูปสงครามพิวนิก ระหว่างชาวโรมันกับชาวคาร์เธจ)[5] จากนั้นอีเนียสเดินทางลงไปยมโลกตามคำแนะนำของเทพยากรณ์เพื่อพบกับวิญญาณของแอนไคซีส บิดาของตนผู้บอกเล่าอนาคตของโรม ต่อมาอีเนียสนำชาวทรอยมาตั้งรกรากที่ลาติอุมและปะทะกับเทอร์นัส กษัตริย์ของชาวรูทูลีจนนำไปสู่การดวลกันตัวต่อตัวระหว่างอีเนียสกับเทอร์นัส บทกวีจบลงเมื่ออีเนียสสังหารเทอร์นัสได้สำเร็จ

บทกวี อีนีอิด ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของเวอร์จิล[6] และเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของวรรณกรรมละติน[7] แก่นของเรื่องประกอบไปด้วยความขัดแย้ง โดยเริ่มต้นด้วยสงครามกรุงทรอย นำพาให้อีเนียสลี้ภัยไปที่คาร์เธจ ซึ่งการพรากจากราชินีไดโดทำให้พระนางสาปแช่งอีเนียส นำไปสู่ความขัดแย้งของชาวโรมันกับชาวคาร์เธจในเวลาต่อมา ก่อนจะจบลงด้วยสงครามระหว่างอีเนียสกับเทอร์นัส[8], pietas หรือการอุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมาย อันเป็นคุณธรรมสำคัญของโรมโบราณ[9] และ fatum หรือชะตาซึ่งมนุษย์และเทพเจ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถึงแม้ว่าเหล่าเทพเจ้าจะพยายามแทรกแซงก็ตาม[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Magill, Frank N. (2003). The Ancient World: Dictionary of World Biography, Volume 1. Routledge. p. 226. ISBN 1135457409.
  2. Sellar, William Young; Glover, Terrot Reaveley (1911). "Virgil". Encyclopædia Britannica. Vol. 28 (11th ed.). p. 112. สืบค้นเมื่อ 7 June 2012.
  3. Woodman, Anthony John; Woodman, Tony J.; West, David (1984). Poetry and Politics in the Age of Augustus. Cambridge, England, United Kingdom: CUP Archive. p. 180. ISBN 9780521245531.
  4. E.G. Knauer, "Vergil's Aeneid and Homer", Greek, Roman, and Byzantine Studies 5 (1964) 61–84. Originating in Servius's observation, tufts.edu
  5. Publius Vergilius Maro (2006). The Aeneid, translated by Robert Fagles, introduction by Bernard Knox (deluxe ed.). New York, New York 10014, U.S.A.: Viking Penguin. p. 26. ISBN 978-0-14-310513-8.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  6. "History of Latin Literature". HistoryWorld. สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
  7. Damen, Mark (2004). "Chapter 11: Vergil and The Aeneid". สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
  8. "Aeneid". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ July 10, 2020.
  9. Abad, Gemino (2003). "Virgils Aeneas: The Roman Ideal of Pietas". Singapore Management University. สืบค้นเมื่อ July 10, 2020.
  10. Fitzgerald, Robert, translator and postscript. "Virgil's The Aeneid". New York: Vintage Books (1990). 415.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]