โยอาคิม ไพเพอร์
โยอาคิม ไพเพอร์ | |
---|---|
ชื่อเล่น | ย็อคเคิน (Johann) |
เกิด | 30 มกราคม ค.ศ. 1915 เบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 จังหวัดโอต-โซน ประเทศฝรั่งเศส | (61 ปี)
รับใช้ | ไรช์เยอรมัน |
แผนก/ | วัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส |
ประจำการ | ค.ศ. 1933–45 |
ชั้นยศ | เอ็สเอ็ส-โอเบอร์ชตวร์มบันน์ฟือเรอร์ (พันโท) |
หน่วย | กองพลยานเกราะเอ็สเอ็สที่ 1 |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่สอง |
บำเหน็จ | กางเขนอัศวินติดใบโอ๊กคาดดาบ |
งานอื่น | พอร์เชอและฟ็อลคส์วาเกิน |
โยอาคิม ไพเพอร์ (เยอรมัน: Joachim Peiper) ชื่อเล่น ย็อคเคิน (Jochen) เป็นเจ้าหน้าที่สัญญาบัตรของวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส เคยเป็นผู้ช่วยประจำตัวของไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ผู้นำองค์การเอ็สเอ็ส เขาถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามจากการที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบการสังหารหมู่เชลยชาวอเมริกันที่มาลเมดีย์
ประวัติ
[แก้]ย็อคเคินเกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1915 ที่กรุงเบอร์ลิน ครอบครัวเป็นชนชั้นกลางซึ่งมีพื้นเพอยู่ในภูมิภาคไซลีเชียของจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรชายคนที่สามของร้อยเอกวัลเดอมาร์ ไพเฟอร์ (Waldemar Peiper) นายทหารบกซึ่งเข้าร่วมรบในแอฟริกาตะวันตกและตุรกีระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1]
ในปี 1926 ย็อคเคินตามพี่ชายของเขาที่ชื่อว่าฮอสท์ (Horst) เข้าร่วมกิจการลูกเสือ ในช่วงนี้พวกเขาเริ่มมีความสนใจทางด้านทหาร ในปี 1933 ย็อคเคินเข้าสมัครเข้าร่วมองค์การยุวชนฮิตเลอร์ และสมัครเข้าร่วมองค์การเอ็สเอ็สในปลายปีเดียวกัน[2] และเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนาซีในปี 1938
พี่ชายของย็อคเคินเข้าร่วมกับเอ็สเอ็สเช่นกัน ฮอสท์ทำหน้าที่ทหารยามของค่ายกักกันจากนั้นจึงเข้าร่วมในยุทธการที่ฝรั่งเศส พี่ชายของเขาเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในปี 1941 ทางการไม่เคยอธิบายการตาย มีข่าวลือว่าฮอสท์เป็นเกย์และถูกบังคับโดยคนในหน่วยให้ฆ่าตัวตาย
เจ้าหน้าที่เอ็สเอ็ส
[แก้]ระหว่างการชุมนุมที่เนือร์นแบร์คในปี 1934 แม้ย็อคเคินตัวไม่สูงและกำยำเท่ากับเจ้าหน้าที่เอ็สเอ็สคนอื่น แต่เขามีใบหน้าที่หล่อเหลามากพอเป็นที่สะดุดตาไฮน์ริช ฮิมเลอร์[3] ผู้นำองค์การเอ็สเอ็ส ฮิมเลอร์มองว่าย็อคเคินเป็นดั่งภาพเสมือนของชายอารยันในอุดมคติ หลังจากวันนั้น ย็อคเคินถูกส่งตัวเข้าหลักสูตรปั้นบุคลากรชั้นนำขององค์การเอ็สเอ็ส
ในปี 1935 ย็อคเคินถูกโอนตัวไปสังกัดกองพลไลพ์ชตันดาร์เทอ เอ็สเอ็ส อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หน่วยอารักขาส่วนตัวของฮิตเลอร์และเป็นหน่วยทหารระดับแถวหน้าสุดของวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส ย็อคเคินเป็นเจ้าหน้าที่ที่ฉายแววรุ่งมาก เขาถูกส่งให้ไปโรงเรียนเอ็สเอ็ส-ยุงเคอร์ในเมืองเบราน์ชไวค์ เพื่อฝึกสอนให้เป็นผู้นำแถวหน้าขององค์การเอ็สเอ็สในอนาคต ในปี 1936 ย็อคเคินได้ติดยศเป็นอุนเทอร์ชตวร์มบันน์ฟือเรอร์ (เทียบเท่าร้อยตรี) และในปี 1938 เขาได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการประจำตัวไฮน์ริช ฮิมเลอร์ และเลื่อนเป็นผู้ช่วยของฮิมเลอร์ในปีถัดมา
ย็อคเคินเข้าร่วมต่อสู้ทั้งบนแนวรบด้านตะวันออกซึ่งปะทะกับกองทัพแดงและแนวรบด้านตะวันตกซึ่งปะทะกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและได้รับบำเหน็จเป็นเหรียญกางเขนอัศวินประดับด้วยใบโอ๊คและดาบ กองพลยานเกราะของย็อคเคินถูกจับกุมโดยหน่วยทหารสหรัฐเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 1945[4]
หลังสงคราม
[แก้]หลังสิ้นสุดสงคราม ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 ไพเพอร์ถูกพิพากษาโดยศาลอาชญากรรมสงครามว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐพิจารณาโทษใหม่เหลือเพียงโทษจำคุก ไพเพอร์ติดคุกจริงเพียงสิบเอ็ดปีเศษและถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนธันวาคม 1956
หลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ไพเพอร์ได้ทำงานให้กับทั้งบริษัทพอร์เชอและฟ็อลคส์วาเกิน ก่อนที่จะย้ายไปอาศัยยังเมืองชนบทในจังหวัดโอต-โซน ประเทศฝรั่งเศสเมื่อค.ศ. 1972 ที่นั้นเขาได้แปลหนังสือจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาเยอรมันภายใต้ชื่อว่า Rainer Buschmann เขาใช้ชีวิตในฝรั่งเศสอย่างระมัดระวังและไม่เปิดเผยอดีตของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในค.ศ. 1976 เขาถูกอดีตแนวร่วมปลดปล่อยฝรั่งเศสจดจำได้ และถูกสังหารด้วยระเบิดมือในบ้านพักเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1976 ตรงกับวันบัสตีย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Weingartner 2004, pp. 21–22.
- ↑ Dienstaltersliste der Schutzstaffel der NSDAP. Stand vom 1. Dezember 1936, S. 239, Nr. 7632.
- ↑ Parker 2014, pp. 11–12.
- ↑ Parker 2014, p. 134.