โคเซ ฟูกูนางะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงฮู่เซิง
ประสูติ13 มีนาคม พ.ศ. 2483 (84 ปี)
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจุนเต็นโด โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
พระสวามีเค็นจิ ฟูกูนางะ (พ.ศ. 2511–ปัจจุบัน)
พระนามเต็ม
อ้ายซินเจว๋หลัว ฮู่เซิง
พระบุตรมาซาโกะ ฟูกูนางะ
สึเนอากิ ฟูกูนางะ
ยูกิโยชิ ฟูกูนางะ
ฮิโรโนบุ ฟูกูนางะ
โนริโกะ ฟูกูนางะ
ราชวงศ์ชิง
พระบิดาอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย
พระมารดาฮิโระ ซางะ

โคเซ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 嫮生โรมาจิFukunaga Kosei; ประสูติ 13 มีนาคม พ.ศ. 2483) มีพระนามเดิมว่า อ้ายซินเจว๋หลัว ฮู่เซิง (จีนตัวย่อ: 爱新觉罗•嫮生; จีนตัวเต็ม: 愛新覺羅•嫮生; พินอิน: Àixīn-Juéluó Hùshēng) หรือ โคเซ ไอชิงกากูระ (ญี่ปุ่น: 愛新覚羅•嫮生โรมาจิAishinkakura Kosei) เป็นหญิงชนชั้นมูลนายชาวญี่ปุ่นที่สืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์ชิงของจีน เป็นพระธิดาพระองค์เล็กของอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย พระราชอนุชาในจักรพรรดิผู่อี๋ กับฮิโระ ซางะ สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของจักรพรรดิโชวะ

พระประวัติ[แก้]

โคเซ ฟูกูนางะ มีพระนามเดิมว่า อ้ายซินเจว๋หลัว ฮู่เซิง ประสูติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2483 ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจุนเต็นโด กรุงโตเกียว เป็นพระธิดาพระองค์เล็กของอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย กับฮิโระ ซางะ สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น และเป็นพระภาคิไนยในจักรพรรดิผู่อี๋ผู้ครองราชบัลลังก์แมนจูภายใต้การการควบคุมของจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (2480–2488) มีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่งคือ ฮุ่ยเซิง (嫮生; พ.ศ. 2481–2500) ประสูติที่เมืองซินจิง เมืองหลวงของประเทศแมนจู (ปัจจุบันคือเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ประเทศจีน) หลังประสูติได้ไม่นาน ครอบครัวของพระองค์ย้ายกลับประเทศแมนจูในเดือนมิถุนายนปีเดียวกับที่เจ้าหญิงฮู่เซิงประสูติ ส่วนเจ้าหญิงฮุ่ยเซิงอยู่ในการดูแลของมาร์ควิสซาเนโตะ ซางะ พระอัยกาฝ่ายพระชนนี

หลังสิ้นสุดสงคราม ผู่เจี๋ยพระชนกถูกกองกำลังโซเวียตควบคุมพระองค์และถูกจองจำในทัณฑสถานเป็นเวลาห้าปีก่อนถูกส่งตัวไปยังประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2493 ซึ่งทรงถูกควบคุมตัวอยู่ภายในศูนย์จัดการอาชญากรสงครามฝู่ฉุน (Fushun War Criminals Management Centre) ส่วนเจ้าหญิงฮู่เซิง ฮิโระพระชนนี และจักรพรรดินีวั่นหรง พระปิตุลานีถูกควบคุมพระองค์ในเมืองซินจิง ซึ่งเวลาต่อมาจักรพรรดินีวั่นหรงเสด็จสวรรคตเพราะทรงขาดสารอาหารและทรงติดฝิ่นใน พ.ศ. 2489 เจ้าหญิงฮู่เซิงและฮิโระถูกย้ายไปจองจำที่เมืองเซี่ยงไฮ้ก่อนถูกส่งกลับประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2490 แต่ผู่เจี๋ยพระชนกนั้นยังถูกคุมขังและขาดการติดต่อ หลังเสด็จนิวัตประเทศญี่ปุ่น พระองค์และพระชนนีประทับอยู่ที่เรือนของมาร์ควิสซาเนโตะ ซางะ และได้พบกับเจ้าหญิงฮุ่ยเซิงอีกครั้ง ครั้น พ.ศ. 2500 เจ้าหญิงฮุ่ยเซิงก็ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมกับชายคนรักบนเขาอามางิ

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ผู่เจี๋ยได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลจีน หลังจากนั้นทรงเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน เจ้าหญิงฮู่เซิงและฮิโระซึ่งไม่ได้พบกับผู่เจี๋ยมานาน 16 ปี ได้เสด็จไปเยี่ยมพระบิดาในปีถัดมา ฮิโระตกลงใจที่จะตั้งรกรากอยู่กับผู่เจี๋ยในปักกิ่ง ส่วนเจ้าหญิงฮู่เซิงเสด็จกลับญี่ปุ่นและได้รับสัญชาติญี่ปุ่น ครั้น พ.ศ. 2506 เจ้าหญิงฮู่เซิงเสด็จไปประทับร่วมกับพระชนกชนนีที่ปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนเสด็จกลับญี่ปุ่น[1]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

เจ้าหญิงฮู่เซิงเสกสมรสกับเค็นจิ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 健治โรมาจิFukunaga Kenji) เมื่อ พ.ศ. 2511 ซึ่งตระกูลของทั้งสองมีความสนิทสนมกัน หลังเสกสมรส พระองค์ใช้พระนามว่า โคเซ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 嫮生โรมาจิFukunaga Kosei) และมีพระบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่[2][3]

  1. มาซาโกะ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 雅子โรมาจิFukunaga Masako)
  2. สึเนอากิ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 恒明โรมาจิFukunaga Tsuneaki)
  3. ยูกิโยชิ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 行良โรมาจิFukunaga Yukiyoshi)
  4. ฮิโรโนบุ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 浩伸โรมาจิFukunaga Hironobu)
  5. โนริโกะ ฟูกูนางะ (ญี่ปุ่น: 福永 典子โรมาจิFukunaga Noriko)

บทบาท[แก้]

ฟูกูนางะมีบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ปัจจุบันพระองค์ประทับอยู่ในเมืองนิชิโนมิยะ จังหวัดเฮียวโงะ

พ.ศ. 2556 พระองค์บริจาคและสิ่งของของผู่เจี๋ยกับฮิโระแก่มหาวิทยาลัยควันเซกากูอิง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 木繁, 舩. 皇弟溥傑の昭和史. Japan: Shinchosha. p. 185. ISBN 4103723017.
  2. "浜口家(和歌山県)". 閨閥学 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2019-04-09.
  3. "福永健治と嫮生| 関西学院大学博物館". 関西学院大学 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2021-10-27.
  4. "博物館開設準備室が愛新覚羅溥傑家関係資料を受贈 | KG News 2013年9月 | 関西学院 広報室". www.kwansei.ac.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-12. สืบค้นเมื่อ 2019-04-09.