กนู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โครงการกนู)
เครื่องหมายการค้าของกนู

โครงการ กนู (อังกฤษ: GNU) เป็นชื่อของโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการ ริเริ่มโดยริชาร์ด สตอลแมน เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการเพื่อให้เป็นซอฟต์แวร์เสรี ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ แก้ไข ปรับปรุง หรือจำหน่ายฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ โครงการกนู ประกอบไปด้วย เคอร์เนล ไลบรารี คอมไพเลอร์ โปรแกรมระบบ และ โปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ

คำว่า กนู (IPA: /ɡəˈnuː/ เกอะนู หรือ /ˈnjuː/ นยู ในบางประเทศ) เป็นคำย่อแบบกล่าวซ้ำ มาจากคำเต็มว่า GNU's Not Unix (กนูไม่ใช่ยูนิกซ์) [1] เพราะระบบกนูพัฒนาให้เหมือนระบบยูนิกซ์แต่ไม่ได้ใช้ซอร์สโคดของยูนิกซ์เลย

พ.ศ. 2549 เคอร์เนลทางการของกนู คือ Hurd ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผู้ใช้ระบบกนูส่วนใหญ่เลือกโดยใช้ลินุกซ์เป็นเคอร์เนล อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านั้นมักจะถูกเรียกว่า ลินุกซ์ ซึ่งถ้าจะให้ถูกต้องแล้ว ควรจะเรียกว่า ระบบกนู/ลินุกซ์ (GNU/Linux systems) เพราะใช้ลินุกซ์เป็นเคอร์เนล ส่วนซอฟต์แวร์ส่วนอื่น ๆ มาจากโครงการกนู

โปรแกรมหลายตัวในโครงการ ก็ถูกปรับให้ทำงานในระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ได้ เช่น ไมโครซอฟท์วินโดวส์ บีเอสดี แมคโอเอส เป็นต้น

สัญญาอนุญาต GPL, LGPL และ GFDL ที่ใช้ในโครงการอื่น ๆ มากมาย ก็ริเริ่มจากกนู

ประวัติ[แก้]

กนูประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2526 ทางกลุ่มข่าว net.unix-wizards[2] และ net.usoft การพัฒนาซอฟต์แวร์เริ่มต้นเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2527 เมื่อ สตอลแมน ลาออกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยอ้างลิขสิทธิ์ในตัวซอฟต์แวร์และแทรกแซงการเผยแพร่ในรูปแบบซอฟต์แวร์เสรี สำหรับชื่อ"กนู" นั้น สตอลแมน ได้แนวความคิดจากการเล่นคำแบบต่าง ๆ และจากเพลง The Gnu ของวง Flanders and Swann

เป้าหมายของโครงการก็คือสร้างระบบปฏิบัติการเสรีทั้งระบบ ที่ผู้ใช้สามารถศึกษาซอร์สโคด แก้ไขการทำงานของซอฟต์แวร์ และเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่แก้ไขต่อไปยังคนอื่นได้โดยเสรี เหมือนกับที่เคยเป็นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และ 1970 แนวความคิดนี้นำออกตีพิมพ์เป็นบทความ GNU Manifesto ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 ทางวารสาร Dr. Dobb's Journal of Software Tools

ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ต้องเริ่มต้นเขียนจากศูนย์ แต่ซอฟต์แวร์เสรีที่มีอยู่แล้วก็นำมาใช้ด้วย ตัวอย่าง เช่น ระบบเรียงพิมพ์ TeX และระบบ X Window System คนที่เขียนกนูส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งบางส่วนเขียนในเวลาว่าง บางส่วนว่าจ้างโดยบริษัท สถานศึกษา หรือ องค์กรไม่แสวงหากำไรอื่น ๆ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 สตอลแมน จัดตั้ง Free Software Foundation (FSF) FSF จ้างโปรแกรมเมอร์จำนวนหนึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ทำจำเป็นสำหรับกนู ในช่วงสูงสุดเคยมีพนักงาน 15 คน FSF ยังเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์กนูบางตัว ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่เผยแพร่โดยใช้สัญญาอนุญาต GPL บางส่วนใช้ LGPL หรือสัญญาอนุญาตอื่น ๆ

เนื่องจากในขณะนั้น ยูนิกซ์ เป็นระบบปฏิบัติการที่นิยมมากตัวหนึ่ง กนูจึงออกแบบให้คล้ายกับยูนิกซ์มาก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถย้ายไประบบกนูได้สะดวก ยูนิกซ์ยังมีโครงสร้างแบบโมดูล จึงสามารถพัฒนาโครงการกนูแยกกันเป็นส่วน ๆ ได้

เมื่อกนูเริ่มมีบทบาท ธุรกิจหลายรายหันมาสนับสนุนการพัฒนา หรือขายซอฟต์แวร์และบริการทางเทคนิก บริษัทที่มีชื่อและประสบความสำเร็จที่สุดก็คือ Cygnus Software ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Red Hat

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-16. สืบค้นเมื่อ 2007-04-22.
  2. http://groups.google.com/group/net.unix-wizards/browse_thread/thread/f2dc1f44f33bf6ed

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]