ข้ามไปเนื้อหา

แกรี มัวร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกรี มัวร์
แกรี มัวร์ ในการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน​ ปี ค.ศ. 2008
แกรี มัวร์ ในการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน​ ปี ค.ศ. 2008
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดRobert William Gary Moore
เกิด4 เมษายน ค.ศ. 1952(1952-04-04)
ที่เกิดกรุงเบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือ​, สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011(2011-02-06) (58 ปี)
เมืองเอสเตโปนา จังหวัดมาลากา
แคว้นอันดาลูซิอา, ประเทศสเปน
แนวเพลงบลูส์ร็อก, ฮาร์ดร็อก, เฮฟวีเมทัล, บลูส์, แจ๊สฟิวชัน
อาชีพนักดนตรี, นักแต่งเพลง​, โปรดิวเซอร์เพลง
เครื่องดนตรีร้องนำ, กีตาร์, เบส, ฮาร์โมนิกา, คีย์บอร์ด
ช่วงปี1969 – 2011
เว็บไซต์Official website

โรเบิร์ต วิลเลียม แกรี มัวร์ (อังกฤษ: Robert William Gary Moore, 4 เมษายน ค.ศ. 1952 – 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011) [1] หรือ แกรี มัวร์ ​เป็นนักกีตาร์, นักร้องและนักแต่งเพลง ชาวไอร์แลนด์เหนือ มีผลงานทางดนตรีส่วนใหญ่ในแนวเพลงบลูส์ร็อก, เฮฟวีเมทัล, แจ๊สฟิวชัน​ โดยได้รับการยกย่องจากวงการเพลงให้เป็นหนึ่งในมือกีตาร์ที่มีฝีมือระดับอัจฉริยะคนหนึ่งของโลก[2][3][4][5]

มัวร์เกิดและเติบโตที่กรุงเบลฟาสต์ประเทศไอร์แลนด์เหนือ​ และได้เข้าร่วมวงดนตรีในกรุงเบลฟาสต์หลายวงในช่วงวัยรุ่น ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตที่กรุงดับลินสาธารณรัฐไอร์แลนด์​ จากนั้นเขาได้มาเป็นสมาชิกใหม่ของวงสกิดโรว์ ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวบลูส์ร็อกชื่อดังของไอร์แลนด์ แทนที่ฟิล ลินอตต์ นักร้องนำคนเก่าที่แยกออกไปก่อตั้งวงทินลิซซี​ ต่อมาเขาได้ออกจากวงสกิดโรว์และได้มาเข้าร่วมวงทินลิซซีของฟิล ลินอตต์ ก่อนที่จะร่วมวงโคลอสเซียมทู วงดนตรีแนวโพรเกรสซิฟแจ๊สร็อก​ หลังจากนั้นเขาได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเองหลายชุดโดยมีบทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักรเช่นเพลง เอาท์ อินเดอะ ฟีลด์ ที่ขึ้นถึงอันดับ 5 (ค.ศ. 1975)​ และเพลง ปารีเซียง วอล์คเวย์ ที่ขึ้นถึงอันดับ 8 (ค.ศ. 1979)​ โดยอัลบั้มที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดของเขาคืออัลบั้ม สทิล ก็อท เดอะ บลูส์ ที่ได้รับการรับรองระดับทองคำจากสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา​ และเพลงสทิล ก็อท เดอะ บลูส์ ในอัลบั้มชุดนี้เป็นซิงเกิลที่สามารถขึ้นถึงอันดับ 97 ในบิลบอร์ดฮอต 100​ของสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1991[6]

นอกจากนี้แกรี มัวร์ ยังเป็นมือกีตาร์ที่ได้ร่วมแสดงสดบนเวทีคอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินชื่อดังระดับโลกมากมายเช่น บี.บี. คิง, จอร์จ แฮร์ริสัน​ หรือ อัลเบิร์ต คอลลินส์

ประวัติ

[แก้]

มัวร์เริ่มอาชีพการแสดงดนตรีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่ออายุเพียง 17 ปี เคยแสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีในระดับตำนานเช่น บี. บี. คิง, อัลเบิร์ต คิง, จอร์จ แฮร์ริสัน มาร์ก นอฟเลอร์ เดวิด กิลมอร์ เขามีผลงานทดลองในแนวทางต่างๆ มากมาย ทั้งดนตรีร็อก แจ๊ส บลูส์ คันทรี อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดร็อก และเฮฟวีเมทัล [7]

ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คืออัลบัมและซิงเกิล Still Got the Blues ในปี 1990 ผลงานชิ้นนี้ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนท่อนโซโลกีตาร์มาจากผลงานเพลงในปี 1974 ชื่อ Nordrach ของวงดนตรีเยอรมันชื่อ Jud's Gallery [8] มัวร์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าเขาไม่รู้จักเพลงดังกล่าว ศาลเยอรมันมีคำตัดสินเมื่อปี 2008 ว่ามัวร์อาจไม่ได้จงใจ [9] แต่เนื่องจากทำนองเพลงทั้งสองใกล้เคียงกันมากจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมัวร์ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเจอร์เกน วินเทอร์ หัวหน้าวง Jud's Gallery เป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้ระบุ [9]

แกรี มัวร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยวัยเพียง 58 ปี ขณะเดินทางไปพักผ่อนในประเทศสเปนกับแฟนสาว สันนิษฐานว่าเนื่องจากอาการหัวใจล้มเหลวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ [10]

ในประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทยบทเพลง ปารีเซียง วอล์คเวย์ ได้ถูกวง วีไอพี วงดนตรีแนวฮาร์ดร็อกของประเทศไทย ​นำมาบรรเลงในอัลบั้มบันทึกการแสดงสด​ V.I.P Europa Live 1982 ซึ่งเป็นการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน โดยในอัลบั้มบันทึกการแสดงสดดังกล่าว เพลงนี้ถูกใช้ชื่อว่า Night in Bangkok

นอกจากนี้เพลง Empty Rooms ของแกรี มัวร์ ยังเคยถูกแหลม มอริสัน​ นำมาคัฟเวอร์ในอัลบั้ม แหลม มอริสัน On The Rock ซึ่งเป็นอัลบั้มบรรเลงเพลงของศิลปินต่างประเทศ และวงไมโครได้นำเพลงนี้มาบรรเลงและขับร้องฉบับภาษาไทยในชื่อเพลง จำฝังใจ ในอัลบั้มร็อค เล็ก เล็ก ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของวง โดยเนื้อร้องภาษาไทยแต่งโดยนิติพงษ์ ห่อนาค

อ้างอิง

[แก้]
  1. "R.I.P. Gary Moore (Thin Lizzy) (1952 – 2011)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-11. สืบค้นเมื่อ 2011-02-08.
  2. "Gary Moore, Thin Lizzy guitarist, dies aged 58". BBC News. 6 February 2011. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  3. Perrone, Pierre (8 February 2011). "Gary Moore: Virtuoso guitarist who had his biggest hits with Phil Lynott and Thin Lizzy". The Independent. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  4. McIlwaine, Eddie (8 February 2011). "Gary Moore: Thin Lizzy guitar virtuoso who blazed a unique trail through rock and roll". Belfast Telegraph. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  5. Buskin, Richard. "Gary Moore 'Parisienne Walkways'". Sound on Sound. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  6. "Gary Moore - Chart History". Crapfromthepast.com. สืบค้นเมื่อ 2013-07-26.
  7. Gary-moore.com
  8. http://www.spiegel.de/kultur/musik/0,1518,594279,00.html
  9. 9.0 9.1 Dave Graham. "Ex-Thin Lizzy guitarist loses German plagiarism case". Berlin. Reuters.
  10. Thin Lizzy star Gary Moore died of natural causes. Retrieved 7 Feb 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]