แหลม มอริสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แหลม มอริสัน กีตาร์คิง
ชื่อเกิดรุ่งศักดิ์ อิศรางกูร
รู้จักในชื่อแหลม มอริสัน / กีตาร์คิง / รุ่งศักดิ์ อิสราภรณ์ / วิชัย นวลแจ่ม / แหลมมอริสัน นวลแจ่ม
เกิด20 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (79 ปี)
ที่เกิดอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี, ประเทศไทย
แนวเพลงร็อก, เฮฟวี่ เมทัล, บลูส์ร็อก
อาชีพนักดนตรี
เครื่องดนตรีกีตาร์

รุ่งศักดิ์ อิศรางกูร (เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2487) ที่จังหวัดธนบุรี ต่อมาเจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็น วิชัย นวลแจ่ม และเปลี่ยนเป็น แหลมมอริสัน นวลแจ่ม ในเวลาต่อมา ส่วนชื่อใช้วงการที่เคยใช้ เช่น รุ่งศักดิ์ อิสราภรณ์ (แหลม) และ แหลม มอริสัน ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักที่สุด โด่งดังและเป็นที่รู้จักจากการเล่นดนตรีร็อกแอนด์โรลในสไตล์เฮฟวี่ เมทัล ตามผับหรือสถานบันเทิงต่าง ๆ ให้แก่ทหารเกณฑ์อเมริกันในช่วงสงครามเวียดนามในชื่อวง V.I.P. ที่จังหวัดอุดรธานี โดยชื่อ แหลม มอริสัน ได้มาจากเสียงร้องที่แหบแหลม เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และสามารถเล่นเพลงของจิม มอร์ริสัน นักร้องนำของวง เดอะ ดอร์ส วงร็อกสัญชาติอเมริกันชื่อดังในยุคนั้นได้เหมือนมาก ซึ่งหานักร้องนักดนตรีชาวไทยน้อยรายที่สามารถจะทำเช่นนี้ได้

เมื่อกองทัพอเมริกาเริ่มถอยทัพจากสงครามเวียดนาม ประกอบกับช่วงการชุมนุมขับไล่การตั้งฐานทัพของอเมริกาช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ใน พ.ศ. 2516 ทำให้วง V.I.P. ในขณะนั้นต้องหาแหล่งรายได้ใหม่กลับมาเล่นที่กรุงเทพได้สักพัก ก็เริ่มบินไปหางานเอาดาบหน้าที่ประเทศเยอรมันนี ซึ่งสมัยนั้นการเดินทางเข้าไปยังไม่ต้องขอวีซ่าและสามารถอยู่ได้ถึง 8 เดือน หวังว่าจะไปเล่นดนตรีในฐานทัพอเมริกาในเยอรมันนี แต่พอไปถึงกลับไม่ได้รับความนิยมเหมือนฐานทัพในประเทศไทย จากนั้นจึงเริ่มรับงานผับเล็กๆ ของเด็กนักเรียน ก่อนที่จะได้งานผับอื่นๆ ในเยอรมันนีแบบสัญญาจ้าง 2 อาทิตย์/ร้าน ก่อนที่จะมีเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งมาเป็นนายหน้าจัดหาผับให้วง ซึ่งการทัวร์ยุโรปครั้งนี้เป็นลักษณะรับจ้างเล่นในผับ ไม่ใช่การทัวร์จากการออกอัลบั้มแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีวงไทยในยุคนั้นได้ตามไปรับจ้างเล่นที่เยอรมัน เช่น วงไรเดอร์ ที่เล่นประจำอยู่โรงแรมคอนติเนนตัล และวงแฟนตาซีไฟว์ ส่วนวงจากเอเซียอื่นๆ ในขณะนั้นก็มีหลายๆ วงจากประเทศฟิลิปปินส์ไปเล่นดนตรีหากินอยู่ที่นั่นเช่นกัน[1]

ฉายา กีต้าร์คิง ของเมืองไทย ที่ แหลม มอริสัน มาจากการที่ได้เข้าประกวดการ Music Talent เมื่อปี 2523 ที่ Oberberghof (Pyramide Night Club) ในเมืองอุล์ม ประเทศเยอรมนี โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย โดยนายพิชัย สัตยาพันธุ์ ที่เป็นนายกสมาคมในขณะนั้น และแหลม มอริสันได้รับรางวัลชนะเลิศจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 35 กลุ่ม โดยโซโล่กีต้าร์ด้วยเพลง Beethoven-Symphony No.5 พร้อม Backing Track นั่นทำให้ชาวต่างชาติจะให้เกียรติยกย่องเรียกเขาว่า กีต้าร์คิง ของเมืองไทย [2] แต่ว่ารายการการประกวดดังกล่าว ไม่มีหลักฐานใดๆเลย แม้แต่ในหนังสือพิมพ์ของเมือง[3]

แหลม มอริสัน ได้ไปเล่นดนตรีในต่างประเทศหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์, สวีเดน, เดนมาร์ค และเยอรมนี และเคยร่วมเล่นกับไมเคิล แชงเกอร์ [ต้องการอ้างอิง] มือกีตาร์ของวง สกอร์เปี้ยน มาแล้ว ซึ่งเป็นมือกีตาร์ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นมือกีตาร์ระดับต้น ๆ ของโลก และไมเคิล แชงเกอร์ ก็ยอมรับในความสามารถของแหลม มอริสัน [ต้องการอ้างอิง]

แหลม มอริสัน ได้เล่นดนตรีตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเคยร่วมเล่นเป็นศิลปินรับเชิญหรือแบ็กอัพให้แก่ศิลปินไทยหลายคน หลายวง เช่น คาราบาว, โดม มาร์ติน เป็นต้น และในต้นปี พ.ศ. 2538 ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง มีเพลงโปรโมตชื่อ แรงต้านลม

แหลม มอริสัน ได้รับการยอมรับว่าเป็นมือกีตาร์ระดับต้น ๆ คนหนึ่งของประเทศไทย จนได้รับฉายาว่า "กีตาร์คิง" ซึ่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2538 ในอัลบั้ม 15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย ของคาราบาว ได้แต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ชื่อ กีตาร์คิงส์ เพื่อเป็นการยกย่องถึงแหลม มอริสัน ด้วย

ปัจจุบัน ยังคงเล่นดนตรีอยู่ที่ร้าน Blue Factory พัทยาใต้ ทุกคืนตั้งแต่เวลา 23.00 น.เป็นต้นไป และห้าง The Chilled ซอยเขาน้อย ทุกวันอังคาร และ ศุกร์ เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

ชีวิตครอบครัว สมรสกับ ตรีดาว พงศ์สุรีย์นันท์ แต่ต่อมาได้แยกทางกัน มีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ณัฐชา นวลแจ่ม (ชื่อเล่น: แนท) เป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ ซึ่งออกฉายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 [4] และปัจจุบันเป็นนักแสดงของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

สมาชิกวงวีไอพี ช่วงเล่นในค่าย G.I. และ Tour Europe (2514-2524)[แก้]

  • วิชัย นวลแจ่ม (แหลม มอริสัน) - กีตาร์, ร้องนำ
  • วิน คัมภีร์ - ร้องนำ (เสียชีวิตแล้ว)
  • ส.รอนิง - คีย์บอร์ด (เสียชีวิตแล้ว ในปี พ.ศ. 2561)
  • นิวัติ กองแก้ว - เบส, หัวหน้าวง
  • เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง - กลอง

สมาชิกวงแหลม มอริสัน ช่วงกลับมาไทย และ เล่นในพัทยา (2525-ปัจจุบัน)[แก้]

  • วิชัย นวลแจ่ม (แหลม มอริสัน) - กีตาร์, ร้องนำ
  • โอฬาร พรหมใจ - กีตาร์ (ต่อมาไปตั้งวง The Olarn Project)
  • โรเบิร์ด - เบส (ต่อมาไปตั้งวง Robert Band)
  • เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง - กลอง (ต่อมาไปตั้งวง Human Rock)

ผลงานเพลง วง LMG (Lam Morrison Group) อัลบั้ม Forever King (2538)[แก้]

  • ประเสริฐ สิทธิพงษ์ (หมู) - นักร้อง
  • แหลม มอริสัน (แหลม) - กีตาร์
  • อนุชา ใจดี (เล็ก) - เบส
  • รัตนพันธ์ นารารัตน์ - กลอง
  • วัฒนวงศ์ ว่องกิจ - คีย์บอร์ด

รายชื่อเพลง

1 ช่างใคร

2 โลกใบเก่า

3 สอดรู้สอดเห็น

4 ล่องลอย

5 This Is My Life

6 ลาวเทคโน

7 แรงต้านลม

8 หมื่นแสนล้านคำ

9 รอ

10 หมาโกย

11 Forever King

ผลงานร่วมกับศิลปินคนอื่น[แก้]

  • เรื่องเล่า นี่แหละทางรอด โดย สัญญลักษณ์ เทียมถนอน (2553) - จัดทำโดย บริษัท ปตท. จำกัด

ศิลปินรับเชิญ[แก้]

  • เป็นแขกรับเชิญพิเศษ โดยเล่นกีตาร์โซโล่ ในเพลง ไม่เป็นไร ในอัลบั้ม บ้าหอบฟาง ของ อัสนี วสันต์ (2529)
  • เป็นแขกรับเชิญพิเศษ โดยเล่นกีตาร์โซโล่ ในเพลง หมาแก่ ในอัลบั้ม ยิ้มเหงาๆ ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (2531)
  • เป็นแขกรับเชิญพิเศษ โดยเล่นกีตาร์โซโล่ ในเพลง เปิดก็อก, เอาแบบไหน, เพี้ยน ในอัลบั้ม กุหลาบไฟ ของ โดม มาร์ติน (2537)
  • เป็นแขกรับเชิญพิเศษ โดยเล่นกีตาร์โซโล่ ในเพลง น้ำจิ้ม ในอัลบั้ม อเมริกันอันธพาล ของ คาราบาว (2541)
  • เป็นแขกรับเชิญพิเศษ โดยเป็นนักร้องรับเชิญ ในเพลง ปืนโต ในอัลบั้ม Tourist ตัวฤทธิ์ ของ โจอี้ บอย (2542)

ผลงานภาพยนตร์[แก้]

  • วัยร็อกเพลงร้อน (2529)
  • พันธุ์ร็อกหน้าย่น (2546)

คอนเสิร์ต[แก้]

  • คอนเสิร์ต บ้าหอบฟาง (20 เมษายน 2529)
  • คอนเสิร์ต เวลคัม ทู อิสานเขียว (27 ธันวาคม 2530)
  • กระทิง คอนเสิร์ต เขาใหญ่ มหกรรมคอนเสิร์ตเพลงเพื่อชีวิต (23 ตุลาคม 2536)
  • คอนเสิร์ต ปิดทองหลังพระ (25 พฤษภาคม 2539)
  • คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 2 (29-30 มกราคม 2542)
  • คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 9 (5 เมษายน 2546)
  • คอนเสิร์ต สินเจริญ เชิญแหลก (31 มีนาคม 2550)
  • คอนเสิร์ต 12 ปี เสก Loso ใจสั่งมา (20 มิถุนายน 2552)
  • คอนเสิร์ต 40 ปี the legend of the guitar (20 - 21 พฤศจิกายน 2553)
  • คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 2 (11 ธันวาคม 2553)
  • คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 3 (10 ธันวาคม 2554)
  • คอนเสิร์ต จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 49 ร็อกไม่มีวันตาย มิตรภาพไม่มีวันเลือน (10 มิถุนายน 2555)
  • คอนเสิร์ต CHARITY ROCK CONCERT BY MARMALADE CLUB (17 พฤศจิกายน 2555)
  • คอนเสิร์ต กินลม ชมบาว (9 พฤศจิกายน 2556)
  • คอนเสิร์ต Sweat Rock & Friends The Charity Concert (10 ธันวาคม 2556)
  • คอนเสิร์ต 70 ปี แหลม มอริสัน เปิดกรุตำนานร็อค (20 สิงหาคม 2557)
  • คอนเสิร์ต 40 ปี เสก โลโซ 40 แต่รู้สึกเหมือน 14 (2 พฤศจิกายน 2557)
  • คอนเสิร์ต Elvis Tribute Concert To Elvisoot By Elvisoot JR (24 มกราคม 2559)
  • คอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว (27 สิงหาคม 2559)
  • คอนเสิร์ต คือเพื่อน เพื่อหารายได้มอบให้ เต้ย ไฮร็อก (12 มิถุนายน 2560)
  • คอนเสิร์ต History Festival 2018 (23 ธันวาคม 2561)
  • คอนเสิร์ต ชีวิตสัมพันธ์ Rock On The Beach (11 มกราคม 2562)
  • คอนเสิร์ต รวมใจราชาแห่งร็อค (21 สิงหาคม 2562)
  • คอนเสิร์ต Pattaya Music Festival 2019 (14 มิถุนายน 2562)
  • คอนเสิร์ต Pong Fest (1 กุมภาพันธ์ 2563)
  • คอนเสิร์ต JAM FOR LAM (18 กุมภาพันธ์ 2565)
  • คอนเสิร์ต Live Music Benefit For Lam Morrison (21 กรกฏาคม 2565)
  • คอนเสิร์ต FOR GUITAR KING (5 กันยายน 2565)
  • คอนเสิร์ต ชะ อม วิว Rock Festival (13 มกราคม 2567)

ข้อพิพาทเรื่องเพลง Night in Bangkok ลอก Parisienne walkways ของแกรี่ มัวร์[แก้]

วง V.I.P. ช่วงทัวร์ยุโรปเล่นเพลงสากลล้วนอยู่แล้ว มีเพลงบรรเลงเพลงหนึ่ง ได้ทำนองมาจากเพลง Parisienne Walkways ของแกรี่ มัวร์ จากอัลบั้ม Back on the Streets (1978) ซึ่งตอนเล่นสดในยุโรปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอวง V.I.P. กลับมาเมืองไทย (ปี 2525) ได้มีการนำบันทึกแสดงสดมาอัดเป็นแผ่นไวนิลและเทปคลาสเซ็ทขาย มีการตั้งชื่อเพลงบรรเลงนี้ว่า Night in Bangkok และวง V.I.P. ก็ได้ออก TV และก็มีการแนะนำชื่อเพลงนี้ว่า เพลง Night in Bangkok ในเรื่องนี้จึงมีคนต่อว่าพี่เขามากว่าก๊อปเพลง หรือไม่ให้เครดิตต้นฉบับ ซึ่งในเรื่องนี้พี่แหลมก็ไม่เคยมาตอบโต้อะไรเลย เหมือนยอมรับกลายๆว่าก๊อปเขามาจริงๆ แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรเพราะเวลาแกยิ้มหวานทุกคนก็หายโกรธแล้ว (ยิ้มน่ารัก)89

และฉายา Guitar King ท่านได้มาจากการแข่งกีตาร์ทาเลนท์ที่ประเทศเยอร์มันเมื่อปี 2524 แต่มีบางคนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้จะหมั่นไส้คำว่า Guitar King (ราชากีตาร์) แต่หลังๆเนื่องจากท่านอายุมากแล้ว จะออกลีลาโน้ตเพี้ยนและโซโล่ไปเรื่อยทำให้บางคนไปด่าแกตามเวปบอร์ดและมีข้อสงสัยถึงคำว่า Guitar King นั้นคู่ควรกับพี่แหลมอยู่หรือไม่ แต่พี่แกก็ไม่เคยเดือดร้อนอะไรเพราะคำว่า Guitar King นั้นคนอื่นพากันเรียกแกแต่แกไม่เคยเรียกตัวเอง

ปัจจุบัน พี่แหลม มีอาการป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ และมีลูกหลานญาติมิตรคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง

อ้างอิง[แก้]

  1. โกอินเตอร์ กับ วงร็อค V.I.P l Express Song EP. 25 l ศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส, สืบค้นเมื่อ 2023-04-12
  2. "On the rock พูดคุยกับตำนาน 5ขุนพลHeavy/Hard Rockของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2015-07-23.
  3. "เดอะ กีตาร์ คิง - ดูหนังออนไลน์". https://movie.trueid.net. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  4. บทสัมภาษณ์ ณัฐชา นวลแจ่ม นางเอกสุดซี้ด ลูกไม้ใต้ต้น 'กีตาร์คิง' หน้า 18-19 หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

2. http://www.oknation.net/blog/kilroy/2008/04/08/entry-2