เรือง เรืองวีรยุทธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือง เรืองวีรยุทธ
ภาพหมู่สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก พลเอกเรือง นั่งหน้าคนที่ 3 จากซ้าย
ปลัดกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
30 พฤศจิกายน 2488 – 20 พฤศจิกายน 2490
ก่อนหน้าพลเอก จิร วิชิตสงคราม
ถัดไปพลโท หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
บุญเรือง วีระหงส์

?
เสียชีวิต?
ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ พลเอก

พลเอก เรือง เรืองวีรยุทธ (?-?) หรือ ขุนเรืองวีรยุทธ อดีตนายทหารบกและนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิก คณะราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อดีต ปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตจเรทหารบก อดีตเจ้ากรมพลาธิการทหารบก อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ว่าราชการภาค ๒

พลเอกเรืองมีนามเดิมว่า บุญเรือง วีระหงส์ จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในปัจจุบันพร้อมกับรับพระราชทานยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2466[1] หลังจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเรืองวีรยุทธ ศักดินา ๖๐๐ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2473 [2]

ในเหตุการณ์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พลเอกเรืองซึ่งในขณะนั้นมียศเป็นร้อยโทและเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คณะราษฎร ได้ทำหน้าที่เดินทางติดตาม พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของคณะราษฎรเพื่อไปคุมพระองค์ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากที่ประทับ วังบางขุนพรหม มายัง พระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นกองบัญชาการของคณะราษฎร

ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านขณะมียศเป็น ร้อยเอก[3] เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2[4] เมื่อมีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ ขุนเรืองวีรยุทธ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2485[5] พร้อมกับใช้ชื่อราชทินนามเป็นชื่อสกุลว่า เรืองวีรยุทธ แทน วีระหงส์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485[6]

ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2487 พลเอกเรืองขณะมียศเป็น พันเอก[7] และดำรงตำแหน่งเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมเตรียมการทหารอีกตำแหน่งหนึ่งโดยให้พ้นจากตำแหน่ง สารวัตรใหญ่ทหาร[8] โดยได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศ พลตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[9]

ต่อมาในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 พลตรีเรืองพ้นจากตำแหน่ง เจ้ากรมเตรียมการทหาร คงเหลือเพียงแต่ตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เพียงตำแหน่งเดียว[10] กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน ปีเดียวกันได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม[11] โดยได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พลโท เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489[12]

กระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลโทเรืองพ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง จเรทหารบก แทน พลตรีเดช เดชประดิยุทธ์ ที่ไปดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก[13] จากนั้นในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลโทเรืองพ้นจากตำแหน่ง จเรทหารบก และให้ไปดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมพลาธิการทหารบก[14]โดยในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภากรรมการทหารผ่านศึกแทนที่ พลโทจอน บูรณะสงครามที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน[15] แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี 9 เดือน พลโทเรืองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเจ้ากรมพลาธิการทหารบก ไปสำรองราชการกองทัพบก โดยมี พลตรี ปรุง รังสิยานนท์ รองเจ้ากรมพลาธิการทหารบก ขึ้นมารับตำแหน่งแทน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 [16] ต่อมาพลโทเรืองซึ่งขณะนั้นสำรองราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม[17]ได้โอนย้ายมารับราชการที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496[18] ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2496 พลโทเรืองได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการภาค ๒ พร้อมกับนายทหารอีก 2 ท่านที่โอนย้ายมาพร้อมกันคือ พลอากาศโท หลวงเจริญจรัมพร (เจริญ เจริญจรัมพร) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการภาค ๓ และ พลตรี หลวงกัมปนาทแสนยากร (กำปั่น อุตระวณิชย์) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการภาค ๕[19]

โดยยศทางทหารสุดท้ายคือ พลเอก ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500[20]

งานด้านการศึกษา[แก้]

ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2486 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พลเอกเรืองขณะมียศเป็น พันเอก เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร [21] ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2488 โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ได้ดำรงตำแหน่งสืบต่อไป [22]

ยศ[แก้]

  • 3 ธันวาคม พ.ศ. 2466 - ร้อยตรี
  • 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 - ร้อยโท[23]
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2476 - ร้อยเอก
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2478 - พันตรี[24]
  • 28 ธันวาคม พ.ศ. 2482 - พันโท[25]
  • 19 มิถุนายน พ.ศ. 2484 - พันเอก
  • 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 - พลตรี
  • กรกฎาคม พ.ศ. 2489 - พลโท
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2500 - พลเอก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานยศทหารบก (หน้า ๒๗๘๕)
  2. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๙๕๕)
  3. ประกาศพระราชทานยศทหาร (หน้า ๒๖๓)
  4. พระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พุทธศักราช ๒๔๗๖
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ (หน้า ๑๗๘)
  6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล (หน้า ๓๔๘)
  7. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า ๑๘๒๘)
  8. เรื่องย้ายและแต่งตั้งนายทหาร
  9. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า ๒๒๙๒)
  10. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ (หน้า ๙๗๒)
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  14. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ (หน้า ๓๐๖๙)
  15. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภากรรมการทหารผ่านศึก
  16. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  17. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  18. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
  19. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งผู้ว่าราชการภาค
  20. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  21. เรื่อง ตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
  22. เรื่อง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
  23. พระราชทานยศ (หน้า ๕๕๖)
  24. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า ๒๑๓)
  25. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า ๓๓๑๙)
  26. บัญชีรายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ป. พัน ๒ หน้า ๒๒๕๓)
  27. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า ๒๙๕๑)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-28. สืบค้นเมื่อ 2020-01-28.
  28. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  29. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า ๖๓๔๖)
  30. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๙, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๒