เมืองยาง

พิกัด: 21°50′45″N 99°41′11″E / 21.84583°N 99.68639°E / 21.84583; 99.68639
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองยาง

မိုင်းယန်း
เมืองยางตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เมืองยาง
เมืองยาง
ที่ตั้งของเมืองยางในประเทศพม่า
พิกัด: 21°50′45″N 99°41′11″E / 21.84583°N 99.68639°E / 21.84583; 99.68639
ประเทศประเทศพม่า พม่า
รัฐรัฐฉาน ฉาน
ภูมิภาคฉานตะวันออก
จังหวัดจังหวัดเชียงตุง
อำเภอ อำเภอเมืองยาง
พื้นที่
 • ทั้งหมด0.96 ตร.กม. (0.37 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2019)[1]
 • ทั้งหมด4,396 คน
 • ความหนาแน่น4,587.3 คน/ตร.กม. (11,881 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+6.30 (MST)

เมืองยาง (พม่า: မိုင်းယန်းမြို့; ไทใหญ่: မိူင်းယၢင်း၊ ဝဵင်း; อังกฤษ: Mong Yang town) เป็นเมืองแห่งหนึ่งในดินแดนของชาวไทขืน ตามประวัติศาสตร์แล้วส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะเมืองบริวารขึ้นกับเมืองเชียงตุง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่ติดต่อกับดินแดนสิบสองปันนา ด้วยเหตุนี้จึงมีการรับเอาประชากรและอิทธิพลในด้านต่างๆ จากชาวไทลื้อ ชาวฮ่อ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่างๆ เข้ามาผสมผสานปะปนด้วย ปัจจุบันเมืองยางมีฐานะเป็นเมือง (မြို့/Town, เทียบเท่ากับเทศบาลเมือง) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นศูนย์กลางการปกครองของอำเภอเมืองยาง แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะไม่รวมถึงพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ตามข้อตกลงกับรัฐบาลพม่า

ชื่อ[แก้]

คำว่า “ยาง” ในชื่อเมือง มีความหมายว่า เป็นจุดหมายสุดท้ายที่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะไม่เดินทางกลับ “เมืองยาง” จึงมีความหมายว่า เป็นเมืองปลายทาง หรือเมืองสำหรับการลี้ภัย[2]

สมญาเมือง[แก้]

เมืองยาง มีสมญาว่า "เมืองแห่ง 32 แคว้น, 32 กำ, 6 เวียง, 13 หนอง, 3 จอม, 4 อ่าง, 8 ป่า, 12 ยาง, 8 ม่อน, 4 กอง"[3] โดยมีที่มาจากชื่อสถานที่ที่ตั้งอยู่ภายในเขตปกครองของเมืองยางในอดีต

หกเวียง[แก้]

ประกอบด้วย

  1. เวียงเชียงไชย
  2. เวียงเหล็ก
  3. เวียงกลาง
  4. เวียงแก้ว
  5. เวียงเมืองยาง
  6. เวียงหลวง

สิบสามหนอง[แก้]

ประกอบด้วย

  1. หนองสามหล่าย
  2. หนองซาวหาม — เป็นหนองน้ำตั้งอยู่ในเขตเวียงเมืองยาง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านเวียงเหล็กและหมู่บ้านเชียงหิน ชื่อของหนองน้ำแห่งนี้มีที่มาจากในสมัยก่อนเป็นหนองน้ำที่มีปลาชุกชุม ปลาที่จับได้แต่ละครั้งมีจำนวนมากจนต้องใช้คนร่วมยี่สิบคน (ซาว) หามกลับ ปัจจุบันมีการตัดถนนผ่านกลาง ทำให้หนองน้ำถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน นอกจากนี้ยังถูกบุกรุกจากเจ้าของพื้นที่รอบข้าง ทำให้พื้นที่ของหนองน้ำมีขนาดเล็กลง
  3. หนองลาว
  4. หนองโฮก
  5. หนองก๋อ
  6. หนองป๋อ
  7. หนองก้าง
  8. หนองหวาย
  9. หนองอ้อ
  10. หนองไชย
  11. หนองม้า
  12. หนองคำ
  13. หนองแปง


แปดป่า[แก้]

ประกอบด้วย

  1. ป่าแดง
  2. ป่ากลาง
  3. ป่าโนน
  4. ป่าใหม่
  5. ป่าสถาน
  6. ป่าส้าน
  7. ป่ารม
  8. ป่าวัว

สิบสองยาง[แก้]

ประกอบด้วย

  1. ยางจง
  2. ยางไฅ้
  3. บ้านยาง
  4. ยางพร้าว
  5. ยางตอง
  6. ยางเกี๋ยงหอม
  7. ยางฝาง
  8. ยางกู่ม
  9. ยางเกี๋ยงหมอก
  10. ยางแล
  11. ยางแคว้น
  12. ยางเลา

แปดม่อน[แก้]

ประกอบด้วย

  1. ม่อนแกะ
  2. ม่อนอ่างกลาง
  3. ม่อนม้าก่ำ
  4. ม่อนช้าง
  5. ม่อนง้า
  6. ม่อนอ่างลอง
  7. ม่อนอ่างขาก
  8. ม่อนอ่างขาง

สี่กอง[แก้]

ประกอบด้วย

  1. สวนกอง
  2. กองแค
  3. กองเกื่อน
  4. กองซาง

สามจอม[แก้]

ประกอบด้วย

  1. จอมสนุก — ตั้งอยู่ในเขตบ้านป่าโนน เวียงเมืองยาง อำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง
  2. จอมศรี — ตั้งอยู่ในเขตบ้านน้ำ เมืองสือลื่อ เขตปกครองพิเศษหมายเลข 4 (เมืองลา)
  3. จอมแจ้ง — ตั้งอยู่ในเขตบ้านป่าส้าน ตำบลหัวสิบบ้านคา เมืองสือลื่อ เขตปกครองพิเศษหมายเลข 4 (เมืองลา)


สี่อ่าง[แก้]

ประกอบด้วย

  1. อ่างกลาง
  2. อ่างลอง
  3. อ่างขาก
  4. อ่างขาง

ประวัติ[แก้]

ประวัติศาสตร์ในช่วงแรก[แก้]

จากหนังสือประวัติเมืองยาง โดยอาจารย์ขนานใส่ยอน บ้านหัวกาด ได้กล่าว่า เมืองยางถูกก่อตั้งโดยอ้ายรุ่งเมื่อ พ.ศ. 1442 อย่างไรก็ตาม ในบันทึกของจีนเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าได้กล่าวว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอาณาจักรน่านเจ้าได้ขยายดินแดนมาถึงพม่า รวมถึงทางตอนเหนือของไทย ลาว และเวียดนาม โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อเมืองยาง[4] จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้เมืองยางอาจยังไม่ได้ถูกจัดตั้ง หรือยังเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก

นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกฉบับหนึ่งกล่าวถึงการสร้างเมืองยางของพี่น้องชาวไตหกคนจากเมืองข่า (မိုင်းကာမှ) ปีศักราชที่กล่าวไว้นั้นเก่าแก่กว่าเอกสารฉบับอื่น คือ พ.ศ. 1176 แต่เรื่องราวได้กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการสถาปนาเมืองเชียงตุงแล้ว และเจ้าเมืองยางได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าเมืองเชียงตุง นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเพิ่มเติมว่าเมืองยางแต่เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของเมืองหลวยในปัจจุบัน[2] ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองยางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 10 กิโลเมตร

เรื่องราวของเมืองยางที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเชียงตุงครั้งแรกนั้น กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2062 เมืองยางได้เข้าร่วมกับเมืองแลมและเมืองหลวยให้การสนับสนุนเจ้าสายคอ (พระญาศรีวิชัยราชา) ในการชิงเมืองเชียงตุงจากเจ้าหน่อแก้ว (พระญาจอมศักดิ์) โดยมีการระบุถึงตัวเจ้าเมืองแลมว่า คือเจ้าฟ้าราบ แต่ไม่ได้ระบุตัวผู้ที่เป็นเจ้าเมืองยาง เมืองยางในขณะนั้นจึงต้องได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยน่าจะอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของเมืองเชียงตุง เป็นเมืองที่มีขนาดและความสำคัญน้อยกว่าเมืองแลม ที่มีเชื้อพระวงศ์ปกครอง[5]

ถูกระชับอำนาจจากเมืองเชียงตุง[แก้]

พ.ศ. 2066  พระญาแก้วยอดเชียงราย  กษัตริย์เมืองเชียงใหม่  ได้ยกทัพมาช่วยเจ้าสามเชียงคงชิงเมืองเชียงตุงจากเจ้าใส่พรหม  เจ้าใส่พรหมสู้ไม่ได้  ต้องหนีภัยไปอยู่ที่ “เมืองหลวย-ยาง” แล้วสั่งสมกำลังกลับมาชิงเมืองคืนจากเจ้าสามเชียงคงได้ แต่ก็ครองเมืองเชียงตุงอยู่ได้ไม่ถึงปี จากนั้นในปีถัดมา เมืองหลวยและเมืองยาง ก็พากันแข็งข้อต่อเจ้าฟ้าเชียงตุงพระองค์ใหม่ คือท้าวคำฟู (พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) แต่ไม่สำเร็จ โดยการกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีการบันทึกถึงชื่อของผู้นำการกบฏไว้ ในช่วงเวลานี้ เมืองยางและเมืองหลวยจึงน่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ในระดับทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกัน สภาพบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์จนใช้เป็นแหล่งสะสมไพร่พลและทรัพยากรเพื่อทำศึกสงครามได้ แต่ก็ยังไม่ใช่เมืองที่มีความสำคัญถึงขั้นที่จะแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์สำคัญมาปกครอง[6]

พ.ศ. 2102 ท้าวคำฟู (พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) เจ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้น ได้ส่งสมณทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี เพื่อขอสวามิภักดิ์กับทางพม่า ซึ่งเมืองยางก็น่าจะตกเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของทางพม่าพร้อมกับเมืองเชียงตุงในคราวนี้[7]

พ.ศ. 2108 เมืองแลมได้ยกทัพมาตีเมือง “หลวย-ยาง” ชาวเมืองต้องพากันหลบหนี จากนั้นทัพเมืองแลมก็ไปตีได้เมืองแผนก่อนจะกลับบ้านเมืองตน อีกสองปีถัดมาล้านช้างได้ยกทัพมาชิงตัวนางแก้วรูปทิพย์ที่เมืองเชียงตุง เจ้าแก้วบุญนำ (พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้น จำต้องหนีออกจากเมือง รอจนทัพล้านช้างยกกลับไปแล้วจึงเสด็จกลับเข้าเมืองได้[8]

พ.ศ. 2111 เมืองแงนแข็งข้อต่อเมืองเชียงตุง แล้วไปชักชวนเมืองแลมให้มาตีเมืองยาง โดยเจ้าเมืองยางในขณะนั้นคือบิดาของพระมเหสีของเจ้าแก้วบุญนำ (พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา)[9]

ในช่วงเวลานี้ดินแดนแถบเมืองเชียงตุงและเมืองยางจึงน่าจะไม่มีความมั่นคง ตกอยู่ในการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบ้านเมืองรายรอบที่เข้มแข็งกว่า การเมืองภายในก็ยังมีความวุ่นวายจากผู้ที่เสียผลประโยชน์อันเนื่องจากการที่เมืองเชียงตุงได้เข้าไปสวามิภักดิ์กับพม่า ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยางและเชียงตุงนั้น ภายหลังจากที่ท้าวคำฟู (พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) ได้ปราบกบฏเมืองหลวย-เมืองยางในปี พ.ศ. 2067 แล้ว เมืองเชียงตุงก็เข้าควบคุมเมืองยางไว้แน่นหนาขึ้น มีการแต่งตั้งให้ผู้ที่มีความใกล้ชิดและไว้เนื้อเชื้อใจได้ไปปกครอง นอกจากนี้ การกล่าวถึงเมืองยางก็ไม่ได้กล่าวคู่กับชื่อเมืองหลวยโดยตลอดเหมือที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลานี้พื้นที่บริเวณเมืองยางและเมืองหลวยกำลังถูกคุกคามจากศัตรู จึงมีการวางแผนรับมือโดยเลือกใช้เมืองยางเป็นที่มั่นตั้งรับการรุกรานของศัตรูเพียงจุดเดียว จึงมีการอพยพผู้คนจากเมืองหลวยให้ย้ายมาสมทบกันอยู่ที่เมืองยาง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเมืองยางให้มีเพิ่มมากขึ้น

เป็นเมืองสำคัญของเชียงตุง ในรัชสมัยของเจ้าแก้วบุญนำ และต้นรัชสมัยของเจ้าคำท้าว[แก้]

พ.ศ. 2125 มีบันทึกว่าผู้ครองเมืองยางคือเจ้าคำท้าว พระโอรสของเจ้าแก้วบุญนำ (พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง โดยพระองค์ทรงนำไพร่พลร่วมกับเมืองอื่น ๆ ยกไปปราบปรามเจ้าคำแรบเมืองแสนหวี ตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์พม่า ในช่วงที่เจ้าคำท้าวปกครองเมืองยางนี้ พระองค์ได้รับมอบหมายจากพระบิดาให้นำทัพไปรบกับหัวเมืองสิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. 2129 เป็นผู้นำนางแก้วคำ (นางอิ่นแก้ว) พระขนิษฐา ไปถวายแก่กษัตริย์พม่าเมื่อ พ.ศ. 2131 และเป็นผู้นำไพร่พลไปปราบเมืองงิมเมื่อ พ.ศ. 2135 สะท้อนว่า ทรงเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าแก้วบุญนำเป็นอย่างมาก การแต่งตั้งให้เจ้าคำท้าวครองเมืองยาง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมืองยางเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในช่วงเวลานี้[9]

เมื่อเจ้าแก้วบุญนำสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2139 เจ้าคำท้าวได้ขึ้นครองเมืองเชียงตุงแทนพระบิดา ทรงพระนามว่า “พระญาสุธรรมราชา” แล้วทรงตั้งพระโอรสผู้หนึ่งให้ขึ้นครองเมืองยางแทน แสดงว่าเมืองยางยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ แต่หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2163 และเกิดความวุ่นวายในรัชสมัยของเจ้าเกี๋ยงคำ (พระญาแก้วปราบนรินทรา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงพระองค์ต่อมา โดยหัวเมือนต่าง ๆ ได้พากันแข็งข้อ จนเกิดการสู้รบระหว่างกันเป็นเวลานาน ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวกลับไม่ปรากฏบทบาทของเมืองยาง[10]

เป็นเมืองสั่งสมกำลังเพื่อสู้รบกับเชียงตุง ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์นยองยานของพม่า[แก้]

เรื่องราวของเมืองยางปรากฏอีกครั้งในราว พ.ศ. 2280 หลังจากที่เจ้าหม่องมิ้วถูกชาวเมืองเชียงตุงขับไล่ และพม่าได้แต่งตั้งให้เจ้าติถนันทราชาขึ้นครองเมืองเชียงตุงแทน เจ้าหม่องมิ้วได้นำชาวเมืองหลวย เมืองยาง มาชิงเอาเมืองเชียงตุง แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเจ้าหม่องมิ้วเลือกที่จะสวามิภักดิ์กับทางพม่า แต่พระโอรส คือ เจ้าปิงและเจ้ากาง ไม่ยอม ได้มาตั้งมั่นสั่งสมกำลังอยู่ที่เมืองยาง และได้เข้าไปพึ่งพาอำนาจของจีน ฝ่ายพม่าและเชียงตุงพยายามปราบปราม สามารถตีเมืองยางได้แต่ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ ฝ่ายเจ้าปิงและเจ้ากางเมื่อตั้งตัวได้ก็สั่งสมกำลังยกมาล้อมเมืองเชียงตุง แต่ไม่สามารถตีเอาเมืองเชียงตุงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการสู้รบทำให้เมืองเชียงตุงทำนาเพาะปลูกข้าวไม่ได้ ก่อให้เกิดความอดยาก เจ้าเมืองสาม (พระญาจุฬามณีสิริเมฆภูมินทร์) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในเวลานั้นจึงต้องทิ้งเมืองเชียงตุงลงไปอยู่อังวะใน พ.ศ. 2309[11]

บทบาทของเมืองยางในช่วงเวลานี้ นอกจากจะเป็นแหล่งสั่งสมไพร่พลและทรัพยากรเพื่อทำการสู้รบกับเมืองเชียงตุงแล้ว ยังเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวในการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างพม่าและจีน แต่ในที่สุดฝ่ายพม่าก็สามารถเข้ามามีอำนาจเหนือเมืองยาง เมื่อเจ้ากางได้รับการแต่งตั้งจากพม่าให้ปกครองเมืองเชียงตุงแทนเจ้าเมืองสาม

พ.ศ. 2328 พม่าได้ขึ้นไปปราบปรามหัวเมืองสิบสองพันนา โดยได้นัดร่วมไพร่พลกันที่เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งเมืองเชียงตุงได้เลือกเส้นทางเดินทัพผ่านเมืองยาง ก่อนจะเข้าไปร่วมทัพกับทางพม่าเพื่อทำศึกต่อไป ตอกย้ำว่าเมืองยางในช่วงเวลานี้ได้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าและเมืองเชียงตุง[12]

เป็นเมืองสั่งสมกำลัง ในช่วงการขยายอำนาจของเมืองเชียงใหม่[แก้]

ราว พ.ศ. 2345-2348 เมืองเชียงใหม่ยกทัพมาตีเมืองเชียงตุง เจ้ากองไตย (ศิริชัยโชติสารัมภยะ สารกยะภูมินท์นรินทาเขมาธิปติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในเวลานั้นสู้ไม่ได้ จึงหนีมาประทับที่เมืองยาง ฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาช่วยแต่ก็ถูกทัพของเชียงใหม่ตีแตกไป เจ้ากองไตยจึงตัดสินใจเข้าสวามิภักดิ์กับทางเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่ก็ให้พระองค์กลับมาครองเมืองเชียงตุงตามเดิม แต่เมื่อทัพเชียงใหม่ยกกลับไปแล้ว ฝ่ายพม่าก็ส่งทหารขึ้นมาควบคุมเมืองเชียงตุงอีก โดยในช่วงเวลานี้ฝ่ายพม่าได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับเจ้ากองไตย เนื่องจากเห็นว่าพระองค์เคยหันไปเข้ากับทางเชียงใหม่มาก่อน ต่อมาเมื่อเมืองเชียงใหม่ได้ยกทัพมาขับไล่พม่าไปได้ และพยามกวาดต้อนผู้คนรวมถึงเชื้อพระวงศ์ไปยังเมืองเขียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้ากองไตยได้ตัดสินพระทัยยินยอมติดตามทัพเชียงใหม่ไป อย่างไรก็ตาม เจ้ามหาขนานดวงแก้ว พระอนุชา ไม่ยอมสวามิภักดิ์กับทางเชียงใหม่ แต่ก็ไม่คิดกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจพม่า จึงได้ลี้ภัยมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองยาง สั่งสมกำลังตั้งตัวเป็นอิสระจากทั้งพม่าและเชียงใหม่อยู่ได้ระยะหนึ่ง สามารถรับมือทัพเชียงใหม่ที่ยกมาล้อมใน พ.ศ. 2355 ได้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินพระทัยเข้าสวามิภักดิ์กับพม่า เมื่อ พ.ศ. 2357 [13][14] (พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูนไชย, ประชุมพงศาวดาร ภาค 3 ตอน 3 บันทึกว่าเป็น พ.ศ. 2352)

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันได้เกิดความวุ่นวายที่เมืองเชียงรุ่ง มีบันทึกว่า เมื่อ พ.ศ. 2351 เจ้ามหาวัง เจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายอำนาจของพม่า ได้ลอบติดต่อกับพระอินราชา ขุนนางเมืองน่าน ซึ่งขึ้นกับฝ่ายสยาม ที่เมืองยาง จากนั้นต่อมาใน พ.ศ. 2391 เมื่อความขัดแย้งภายในเมืองเชียงรุ่งทวีรุนแรงเพิ่มขึ้น มหาไชยอุปราช เชื้อพระวงศ์เมืองเชียงรุ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม ได้ยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองยางเพื่อจะทำสงครามสู้รบกับมหาไชยงาดำ เชื้อพระวงศ์เมืองเชียงรุ่งเชื้อสายเมืองพง ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายฮ่อ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของจีน[15]

สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ที่เกิดความวุ่นวายในเมืองเชียงตุงเมื่อราว พ.ศ. 2345 เป็นต้นมา พื้นที่บริเวณเมืองยางได้กลับไปมีสภาพเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวในการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายต่างๆ อีกครั้ง โดยนอกจากฝ่ายพม่าและจีนแล้ว สยามก็พยายามเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ด้วย ส่งผลให้เมืองยางมิได้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจน และยังสามารถดำรงตนเป็นเมืองอิสระได้ในระยะเวลาหนึ่งด้วย

สถานะในปัจจุบัน[แก้]

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดเมืองยางก็ได้อยู่ภายใต้อำนาจของพม่า มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงตุง และเมื่อเมือเชียงตุงได้ตัดสินใจเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ภายหลังจากที่อังกฤษผนวกพม่าเข้าเป็นอาณานิคมของตนแล้ว เมืองยางก็ได้เข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษพร้อมกับเมืองเชียงตุงด้วย จากนั้นเมื่อพม่าประกาศเอกราชจากอังกฤษ เมืองยางก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่ามาจนถึงปัจจุบัน

โดยในปัจจุบัน อาณาเขตอำนาจปกครองของเมืองยางได้ถูกจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง ส่วนตัวเมืองของเมืองยางนั้น ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตปกครองระดับเมือง (မြို့/Town) ขึ้นกับอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน

ผู้ปกครองเมืองยางในยุคอดีต[แก้]

ผู้ปกครองเมืองยางในยุคอดีต เท่าที่รวบรวมได้ มีดังนี้

# ผู้ปกครองเมือง ปีที่ครองเมือง หมายเหตุ
1 พี่น้องชาวไต 6 คน จากเมืองข่า ประมาณพุทธศตวรรษ 1100
2 เจ้าเมืองหลวงดงโฮ ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
3 เจ้าพรหมจักรหลวงแคว้นหู ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
4 เจ้าคำแขกบ้านหูเหนือ ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
5 เจ้าคำเขียวม่อนเชียงชัย ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
6 เจ้าหนองสามหล่าย ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
7 เจ้าคำแดง ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786)
8 เจ้าใส่พรหม พ.ศ. 2066 ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง
9 บิดาของมเหสีของเจ้าแก้วบุญนำ ก่อน พ.ศ. 2111
10 เจ้าคำท้าว ก่อน พ.ศ. 2125 - 2139
11 โอรสของเจ้าคำท้าว พ.ศ. 2139 - ไม่ทราบ
12 เจ้าปิงและเจ้ากาง ประมาณ พ.ศ. 2280 ร่วมกันปกครอง
13 เจ้ากองไท ประมาณ พ.ศ. 2345 ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง
14 เจ้ามหาขนานดวงแสง ถึงปี พ.ศ. 2357 ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง

ที่ตั้งและภูมิประเทศ[แก้]

เมืองยางตั้งอยู่ที่พิกัดประมาณ 20° 50' 45" เหนือ และ 99° 41' 11" ตะวันออก ขนาดตัวเมืองวัดจากด้านตะวันออกถึงด้านตะวันตกยาวประมาณ 2.0 กิโลเมตร วัดจากด้านเหนือถึงด้านใต้ยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 0.96 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลัษณะพื้นที่เป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาและที่ราบเชิงเขา อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ที่ประมาณ 3 องศาเซลเซียส มีฝนตกประมาณ 90 วันต่อปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในฤดูฝนอยู่ที่ประมาณ 900 มิลลิเมตร[2]


ข้อมูลภูมิอากาศของเมิองยาง
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 22
(72)
26
(79)
30
(86)
30
(86)
28
(82)
25
(77)
24
(75)
24
(75)
25
(77)
24
(75)
23
(73)
22
(72)
25.3
(77.5)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 9
(48)
10
(50)
15
(59)
18
(64)
19
(66)
19
(66)
18
(64)
18
(64)
18
(64)
16
(61)
13
(55)
10
(50)
15.3
(59.5)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 6
(0.24)
2
(0.08)
5
(0.2)
14
(0.55)
26
(1.02)
30
(1.18)
31
(1.22)
31
(1.22)
30
(1.18)
28
(1.1)
17
(0.67)
9
(0.35)
229
(9.02)
แหล่งที่มา: World Weather Online[20]

เขตการปกครอง[แก้]

การจัดแบ่งเขตพื้นที่หมู่บ้านในเมืองยาง

เมืองยาง ในปัจจุบันมีสถานะเปรียบเทียบได้กับเทศบาลเมือง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 แขวง (ရပ်ကွက်/Ward)[16] แต่จะเรียกกันว่าหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย

  1. เซตาน (ဈေးတန်း)
  2. ป่าใหม่ (ပါမိုင်)
  3. เวียงเหล็ก (ဝိန်းလိတ်)
  4. ป่าโนน (ပါနွန်း)
  5. เมืองเป็ง (မိုင်းပိန်း)
  6. เชียงหิน (ကျိုင်းဟင်)
  7. หัวกาด (ဟိုကပ်)
  8. ฮ่อใต้ (ဟော်တိုက်)
  9. หมอกใหม่ (မောက်မိုင်)
  10. ฮ่อกลาง (ဟော်ကန်)
  11. ม่อนแกะ (မွန်ကဲ)

ข้อมูลประชากร[แก้]

จากข้อมูลที่ทำการสำรวจใน พ.ศ. 2562 ประชากรของเมืองยางมีทั้งสิ้น 4,396 คน ลดลงจากการการทำสำมะโนประชากรเมื่อ พ.ศ. 2557 จำนวน 570 คน หรือร้อยละ 11.5 มีประชากรเพศชายมากกว่าประชากรเพศหญิงเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.4 หรือราวสองในสามของประชากรทั้งหมด ศาสนาที่มีผู้นับถือรองลงไปคือศาสนาคริสต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 หรือราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด โดยประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนมาก (88.3%) จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าใหม่และหมู่บ้านเวียงเหล็ก ประชากรนอกเหนือจากนั้นจะนับถือนัตและความเชื่ออื่นๆ ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1

# แขวง (หมู่บ้าน) ข้อมูลจากการสำรวจ
เมื่อ พ.ศ. 2562
เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง[17]
ข้อมูลจาก
การสำมะโนประชากร
เมื่อ พ.ศ. 2557[18]
ภาษา
ไทย
ภาษา
พม่า
ชาย หญิง รวม พุทธ คริสต์ นัต อื่นๆ หลังคา
เรือน
ชาย หญิง รวม
1 เซตาน ဈေးတန်း 526 461 987 947 24 - 16 167 454 357 811
2 ป่าใหม่ ပါမိုင် 331 314 645 24 621 - - 169 422 377 799
3 เวียงเหล็ก ဝိန်းလိတ် 311 253 564 195 368 - 1 109 313 216 529
4 ป่าโนน ပါနွန်း 59 61 120 120 - - - 25 57 65 122
5 เมืองเป็ง မိုင်းပိန်း 107 103 210 210 - - - 35 79 77 156
6 เชียงหิน ကျိုင်းဟင် 169 181 350 265 85 - - 198 677 398 1,075
7 หัวกาด ဟိုကပ် 84 89 173 140 - 27 6 45 117 116 233
8 ฮ่อใต้ ဟော်တိုက် 99 82 181 181 - - - 30 86 69 155
9 หมอกใหม่ မောက်မိုင် 85 84 169 155 - 14 - 36 87 84 171
10 ฮ่อกลาง ဟော်ကန် 337 316 653 429 4 220 - 99 240 230 470
11 ม่อนแกะ မွန်ကဲ 171 173 344 298 18 23 5 76 229 216 445
รวมทั้งสิ้น 2,279 2,117 4,396 2,964 1,120 284 28 989 2,761 2,205 4,966
สัดส่วน 51.8% 48.2% 100.0% 67.4% 25.5% 6.5% 0.6% 55.6% 44.4% 100.0%

โครงสร้างพื้นฐาน[แก้]

การคมนาคม[แก้]

แผนที่แสดงถนนสายหลักในเขตอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

เมืองยางสามารถติดต่อกับพื้นที่อื่นด้วยเส้นทางทางบก โดยมีระยะทางจากเมืองยางถึงเมืองสำคัญข้างเคียงดังนี้[19]

# จุดหมาย ที่ตั้ง ระยะทาง
(กม.)
1 สือลื่อ (ဆီလူး) เขตปกครองพิเศษ 4 12.4
2 เมืองแผน (မိုင်းဖျန်) เขตปกครองพิเศษ 2 20.3
3 หัวเตา (ဟိုတောင်း) เขตปกครองพิเศษ 2 35.4
4 เมืองขาก (မိုင်းခတ်) อำเภอเมืองขาก จังหวัดเชียงตุง 35.4
5 เมืองลา (မိုင်းလား) อำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง 60.5
6 เมืองป๊อก (မိုင်းပေါက်) เขตปกครองพิเศษ 2 80.5
7 เชียงตุง (ကျိုင်းတုံ) อำเภอเชียงตุง จังหวัดเชียงตุง 117.5

การศึกษา[แก้]

เมืองยางมีโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมปลาย 1 แห่ง คือโรงเรียนการศึกษาพื้นฐานระดับมัธยมปลายเมืองยาง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านม่อนแกะ[20]

การสาธารณสุข[แก้]

เมือยางมีโรงพยาบาล 1 แห่ง คือโรงพยาบาลเมืองยาง เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเวียงเหล็ก มีขนาด 25 เตียง[21]

วัฒนธรรมประเพณี[แก้]

ศาสนสถาน[แก้]

ศาสนสถานในศาสนาพุทธ[แก้]

  • วัดราชฐานหลวงป่าแดง — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าโนน เป็นวัดประธานของเมือง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เชื่อว่าได้รับการสถาปนาขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษ 2000 ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธนิกายวัดป่าแดงเผยแพร่เข้ามาที่เมืองเชียงตุง ศรัทธาวัดประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป่าโนน บ้านเมืองเป็ง บ้านเชียงหิน และบ้านหัวกาด
  • วัดเซตาน — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเซตาน เป็นวัดไทใหญ่
  • วัดหลวงป่ากลาง — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านฮ่อใต้
  • วัดราชฐานหลวงม่อนแกะ — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านม่อนแกะ
  • พระธาตุจอมสนุก — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าโนน
  • พระธาตุดงโฮ — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเซตาน

ศาสนสถานในคริสต์ศาสนา[แก้]

  • โบสถ์บ้านเวียงเหล็ก — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเวียงเหล็ก
  • โบสถ์บ้านป่าใหม่ — ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าใหม่

เทศกาลประจำปี[แก้]

  • ประเพณีควายชน — จัดขึ้นในช่วงต้นปี ณ บริเวณสนามกีฬาเอนกประสงค์ ตรงข้ามวัดป่ากลาง โดยการจัดงานจะจัดหลังการจัดงานควายชนที่เมืองหลวย
  • ประเพณีงานบุญพระธาตุจอมสนุก และงานบุญบั้งไฟ — จัดขึ้นพร้อมกันในวันเพ็ญเดือน 7 (หรือเดือน 9 ในปีอธิกมาส) ตามปฏิทินไทขืน ซึ่งจะตรงกับวันวิสาขบูชา โดยงานบุญพระธาตุฯ จะถูกจัดขึ้นในช่วงเช้าถึงเที่ยง ส่วนงานบุญบั้งไฟจะเริ่มต้นด้วยการนำบั้งไฟไปร่วมแห่เวียนรอบพระธาตุฯ พร้อมกับการจัดงานบุญพระธาตุฯ เพื่อถวายบั้งไฟเป็นพุทธบูชา ซึ่งเรียกว่าการเวียนตาน (เวียนทาน) จากนั้นในช่วงบ่ายจึงนำบั้งไฟไปจุด ณ บริเวณที่ว่างใกล้หนองอ้อ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงเมืองยาง และเนื่องจากชาวบ้านฝ่ายหญิงจะถูกระดมมาช่วยทำอาหารสำหรับงานบุญพระธาตุฯ จึงเรียกงานบุญพระธาตุฯ ว่าเป็นงานผู้หญิง คู่กับงานบุญบั้งไฟ ที่เรียกว่าเป็นงานผู้ชาย เพราะเป็นงานที่ชาวบ้านฝ่ายชายส่วนใหญ่จะพากันไปช่วยกันตระเตรียมงาน
  • ประเพณีเลี้ยงเจ้าเมืองหลวง — จัดขึ้นภายหลังจากการจัดงานบุญพระธาตุจอมสนุก (ปี พ.ศ. 2566 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน) โดยในวันนี้ชาวเมืองยางจะนำดอกไม้และข้าวต้มหัวหมู (ข้าวต้มแหลม) ไปถวายเจ้าเมืองหลวง ซึ่งเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของอดีตพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ณ เรือนเก่าข้างสวนสาธารณะกลางเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคุ้มพระยาเมือง จากนั้นชาวเมืองยางจะนำย่ามใส่เสบียงอาหารและร่มแขวนไว้ที่ประตูบ้าน เพื่อให้เทวดาบ้านนำติดตัวไปร่วมพิธีทำบุญที่เจ้าเมืองหลวงจัดขึ้น แล้วก็พากันออกจากบ้านไปอยู่ที่วัด เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ขบวนแห่งานบุญของเจ้าเมืองหลวงพบเห็น
  • ประเพณีทอดกฐินรวม — จัดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนหลังวันออกพรรษา โดยกองกฐินที่ตั้งขึ้นเพื่อจะทอดในเวียงเมืองยางนั้น จะทำการทอดพร้อมกันโดยไม่มีการระบุว่าจะถูกนำไปทอดให้แก่วัดใด จากนั้นเมื่อทำการแห่ขบวนกองกฐินทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็จะมีการจับสลากเพื่อกำหนดวัดที่กองกฐินแต่ละกองจะถูกนำไปทอดต่อไป
  • ประเพณีฉลองข้าวหัวใหม่ — เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในกลุ่มคริสตศาสนิกชน เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นประเพณีที่อาจได้รับอิทธิพลมาจากการเฉลิมฉลองในวันขอบคุณพระเจ้าของทางตะวันตก โดยปกติจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ หมู่บ้านป่าใหม่

อ้างอิง[แก้]

  1. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 6. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]
  2. 2.0 2.1 2.2 ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [2]
  3. ใส่ยอด บ้านหัวกาด เมืองยาง, อาจารย์ขนาน. "ประวัติเมืองยาง." ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
  4. Wang, Zhenping (2013). "Tang China in Multi-Polar Asia: A History of Diplomacy and War." University of Hawaii Press.
  5. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 42. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [3]
  6. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 44 และ 47. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [4]
  7. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 47. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [5]
  8. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 48. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [6]
  9. 9.0 9.1 ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 49. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [7]
  10. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 51-53. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [8]
  11. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 56-58. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [9]
  12. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 59. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [10]
  13. ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 60-62. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [11]
  14. ทวี สว่างปัญญางกูร (2527). "ตำนานเมืองยอง" หน้า 61-67. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [12] เก็บถาวร 2022-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  15. ประชุมพงศาวดาร, ภาคที่ 9, เรื่องที่ 1. "พงศาวดารเมืองเชียงรุ้ง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [13]
  16. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [14]
  17. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 6. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [15]
  18. Department of Population. Ministry of Labour, Immigration and Population. The 2014 Myanmar Population and Housing Census, Shan State, Kengtund District, Mineyan Township Report, หน้า 8. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [16]
  19. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 18. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [17]
  20. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 23. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [18]
  21. ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 29. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [19]