ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมมารดาจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่าน

เจ้าจอมมารดาจีน

เกิดจีน
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370
เสียชีวิต14 มิถุนายน พ.ศ. 2448 (78 ปี)
ชื่ออื่นหม่อมจีน ลดาวัลย์ ณ อยุธยา
คู่สมรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี
บุตรพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

เจ้าจอมมารดาจีน (21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2448)[ต้องการอ้างอิง] เป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เป็นพระชนนีของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งทั้งหมดเป็นพระอรรคชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] และยังเป็นขรัวยายของเจ้าฟ้า จึงได้รับเกียรติยศใช้คำนำหน้านามว่า เจ้าจอมมารดา เป็นกรณีพิเศษ[2]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตตอนต้น

[แก้]

เจ้าจอมมารดาจีน มีบุรพชนเชื้อสายจีน สืบเชื้อสายมาถึงบิดาของท่านชื่อ "แส้" แต่ใช้แซ่อะไรไม่เป็นที่ทราบ[3] กล่าวกันว่าเจ้าจอมมารดาจีนในวัยสาวนั้นเป็นหญิงงาม มีผิวขาวอมชมพู มีลักษณะใกล้เคียงกับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งเป็นบุตรสาว แต่ท่านมีร่างเล็กกว่า เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 อธิบายถึงรูปพรรณของเจ้าจอมมารดาจีนไว้ว่า "...พระวิมาดาเธอฯ มีพระรูปพระโฉมเหมือนท่านเจ้าจอมมารดาจีนพระมารดาของท่านซึ่งสวยมาก ข้าพเจ้าเห็นท่านเมื่อชรามีผิวหนังเหี่ยวย่นตกกระแล้ว แต่กระนั้นหน้าท่านก็ยังสวยจิ้มลิ้มพริ้มเพราอยู่นักหนา ผิวก็สวยขาวแดง แต่ร่างเล็ก พระวิมาดาเธอฯ ท่านจำเริญพระกายกว่าจึงทำให้มีสง่าขึ้น..."[4]

ครอบครัว

[แก้]

เจ้าจอมมารดาจีนได้เข้าเป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเอมน้อย ถือเป็นหม่อมชั้นใหญ่ จึงมีคำนำหน้านามว่า หม่อมจีน ตามธรรมเนียม[5] ท่านมีพระธิดาสามพระองค์ ได้แก่

  1. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระนามเดิม หม่อมเจ้าบัว (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2389 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2444) รับราชการเป็นพระอรรคชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี[6]
  2. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว (26 มกราคม พ.ศ. 2397 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430) รับราชการเป็นพระอรรคชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์[7]
  3. พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระนามเดิม หม่อมเจ้าสาย (4 กันยายน พ.ศ. 2406 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2472) รับราชการเป็นพระอรรคชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสและธิดา 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี[8]

ด้วยความที่เจ้าจอมมารดาจีนเป็นพระชนนีของพระอรรคชายาทั้งสามพระองค์ และยังเป็นขรัวยายของเจ้าฟ้าอีกหกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมจีน ขึ้นเป็น เจ้าจอมมารดาจีน เป็นกรณีพิเศษ[5] และเป็นเจ้าจอมมารดาขรัวยายท่านที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการสถาปนาเจ้าจอมมารดางิ้ว พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี[2] ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมมารดาจีนจึงอาศัยอยู่ร่วมกับพระอรรคชายา และหลาน ๆ ภายในพระบรมมหาราชวัง[5]

ถึงแก่อสัญกรรม

[แก้]

เจ้าจอมมารดาจีน ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สิริอายุ 78 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศไม้สิบสอง ฉัตรเครื่องสูง 5 ชั้น จำนวน 12 คัน แวดล้อมเป็นเกียรติยศ และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมประจำศพ วันละ 4 รูป และเครื่องประโคมศพ กลองชนะ 5 คู่ จ่าปี 1 และเลี้ยงพระเช้า 4 รูป เพล 4 รูป มีกำหนด 3 เดือน[ต้องการอ้างอิง]

เกียรติยศ

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 – ไม่ทราบปี : จีน
  • ไม่ทราบปีไม่ทราบปี : หม่อมจีน ในพระองค์เจ้าลดาวัลย์
  • ไม่ทราบปี – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2448 : เจ้าจอมมารดาจีน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  2. 2.0 2.1 สุจิตร ตุลยานนท์, พันโท (28 สิงหาคม 2565). "สำรวจ "สตรี" ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษในสมัยรัชกาลที่ 1-8". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 162
  4. ศรุตานุสรณ์, หน้า 140
  5. 5.0 5.1 5.2 ศรุตานุสรณ์, หน้า 142
  6. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 167
  7. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 161
  8. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 155-157
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ฝ่ายน่า แลฝ่ายใน, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๕, ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๕๐๐

บรรณานุกรม

[แก้]
  • สดับ ในรัชกาลที่ 5, เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์. ศรุตานุสรณ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2526. 176 หน้า.
  • ส. พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554. 368 หน้า.