เจดีย์ชเวซี่โกน
เจดีย์ชเวซี่โกน | |
---|---|
ရွှေစည်းခုံ စေတီတော် | |
ศาสนา | |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย | เถรวาท |
สถานะ | เปิด |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | ญองอู้ ภาคมัณฑะเลย์ พม่า |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 21°11′43″N 94°53′38″E / 21.19528°N 94.89389°E |
สถาปัตยกรรม | |
ผู้ก่อตั้ง | พระเจ้าอโนรธามังช่อ และ พระเจ้าจานซิต้า |
เริ่มก่อตั้ง | คริสต์ศตวรรษที่ 11 |
เสร็จสมบูรณ์ | คริสต์ศตวรรษที่ 12 |
ความสูงสูงสุด | 48.8 เมตร (160 ฟุต) |
เจดีย์ชเวซี่โกน, เจดีย์ชเวซี่โคน หรือ เจดีย์ชเวสิกอง (พม่า: ရွှေစည်းခုံ စေတီတော်) เป็นวัดในเมืองญองอู้ ใกล้พุกามในพม่า เป็นต้นแบบเจดีย์แบบพม่า การก่อสร้างเจดีย์ชเวซี่โกน เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. 1587–1620) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรพุกามใน พ.ศ. 1602–1603 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 1645 ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาพระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมากและได้รับการบูรณะใหม่หลายครั้ง ในการบูรณะเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการบูรณะโดยใช้แผ่นทองแดงกว่า 30,000 แผ่น อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม
เชื่อกันว่าเจดีย์ชเวซี่โกนเป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและพระทันตธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจดีย์มีรูปทรงระฆังคว่ำมีการปิดประดับทองคำเปลว ฐานเจดีย์มีหลายชั้น เจดีย์เป็นทรงตัน ฐานระเบียงเจดีย์มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้นเล่าเรื่องในนิทานชาดก ที่ทางเข้าของเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถาน บริเวณโดยรอบล้อมด้วยวิหารและศาลเจ้าขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สี่องค์ของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ทั้งสี่ทิศ ที่ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนะ 37 ตน โดยมีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นหัวหน้านะ สร้างจากไม้แกะสลักอย่างประณีตตามแบบศิลปะพม่า บริเวณเจดีย์ชเวซี่โกนยังมีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานซิต้า
ที่ตั้ง
[แก้]เจดีย์ชเวซี่โกนตั้งอยู่ใกล้กับเมืองพุกาม (หรือรู้จักในสมญานามว่า "ดินแดนแห่งเจดีย์พันองค์")[1] บนที่ราบชเวซี่โกน เมืองญองอู้[2]
ประวัติ
[แก้]พงศาวดารพม่าบันทึกว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อ (ได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากพระสงฆ์ชาวมอญสมัยอาณาจักรสุธรรมวดี)[2] ได้ริเริ่มการก่อสร้างพระเจดีย์ระหว่าง พ.ศ. 1602–1603 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตด้วยอุบัติเหตุระหว่างออกล่าสัตว์ เนื่องจากถูกกระบือเผือกขวิด ใน พ.ศ. 1620[3][4]: 151, 156 [5][6] โดยอ้างอิงตามพงศาวดารของพระองค์ จุดที่สร้างพระเจดีย์เกิดจากช้างเผือกเสี่ยงทายของพระองค์อัญเชิญพระอุณหิสธาตุ (กระดูกหน้าผาก) ของพระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า ถ้าช้างเผือกหยุดเดินลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น ช้างเผือกของพระองค์เดินมาหยุดอยู่ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี พระองค์จึงดำริให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่ตรงนั้น ดังนั้นชื่อเจดีย์ชเวซี่โกน จึงหมายถึง "เจดีย์ทองบนพื้นทราย" ในภาษาพม่า[1][7]
พระเจดีย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า (พ.ศ. 1627–1655) ขณะที่ฐานระเบียงเจดีย์ด้านล่างถูกสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ส่วนโครงสร้างที่เหลือถูกสร้างในสมัยพระเจ้าจานซิต้า การก่อสร้างเสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 1629 และพระพุทธรูปสี่องค์ในระดับพื้นดินรอบพระเจดีย์เชื่อว่าถูกสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน[3][6] พระเจดีย์เป็นแบบจำลองของพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย[8]
พระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ได้รับการบูรณะใหม่เป็นครั้งคราว และได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2094–2124) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 26 ใน พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพุกาม ยอดฉัตรและองค์เจดีย์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องบูรณะครั้งใหญ่ ปัจจุบันการบริจาคเพื่อบูรณะเจดีย์ได้รับแรงศรัทธาอย่างมาก โดยมีแผ่นทองแดงมากกว่า 30,000 แผ่นซึ่งได้รับบริจาคจากผู้ศรัทธาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปิดทองขององค์เจดีย์เสร็จสิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2526–2527 และอีกครั้งในช่วงเวลาเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม[5]
รูปแบบ
[แก้]เจดีย์ชเวซี่โกนเป็นต้นแบบของเจดีย์แบบพม่า[4] เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ[8] โดยดัดแปลงมาจากทรงเจดีย์ของชาวมอญ[9][5] ซึ่งกลายเป็นคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมต้นแบบของเจดีย์หลายแห่งที่สร้างขึ้นในพม่า[2] มีบันได, ประตู, และยอดฉัตรขนาดใหญ่ประดับอัญมณี[2][5][8] พระสารีริกธาตุ ที่เชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์คือพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) พระอุณหิสธาตุ (กระดูกหน้าผาก) จากแปร และพระทันตธาตุ จากประเทศศรีลังกา[10] ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนะ 37 ตน โดยมีท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของอินเดียที่มีอาวุธเป็นสายฟ้า[11] เป็นหัวหน้านะสร้างจากไม้แกะสลักอย่างประณีตตามแบบศิลปะพม่า ซึ่งเชื่อว่าเก่าแก่กว่า 900 ปี ศาลนะ 37 ตนได้รับการสร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสารีริกธาตุ[10]
พระเจดีย์มีฐานระเบียงเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรงตัน ความสูงถูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานถึงยอดฉัตร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจากฐานถึงปลายยอดมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ฐานระเบียงเจดีย์ทั้งสี่ทิศมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เพื่อให้ผู้ศรัทธานมัสการ ฐานระเบียงเจดีย์เหล่านี้มีการประดับเล่าเหตุการณ์ชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและเรื่องราวในพุทธศาสนา การตกแต่งภายในแม้ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงตันแต่มีทางขึ้นที่เชื่อมต่อกัน รอบพระเจดีย์มีทางเดินแคบ ๆ ที่ปูด้วยแผ่นกระเบื้องซึ่งได้จากผู้ศรัทธาในการบริจาคเงินและอธิษฐานขอพร[7]
ที่ทางเข้าพระเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถานที่เรียกว่า ชินเต ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายสิงโตขนาดใหญ่[12] ทางเข้าสู่พระเจดีย์ทั้งสี่ทางมีทางใต้และทางตะวันตกเท่านั้นที่มีการเปิดใช้งาน มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้น 550 แผ่นซึ่งเล่าเรื่องในนิทานชาดกประดับบนฐานระเบียงสามชั้นของเจดีย์ โดยก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 584 แผ่นซึ่งบางส่วนได้สูญหาย ฐานเจดีย์มีสี่ชั้นบนสุดเป็นชั้นแปดเหลี่ยมรองรับองค์เจดีย์ ที่มุมระเบียงฐานเจดีย์บนสุดทั้งสี่ด้านมีการจำลององค์เจดีย์ขนาดเล็กเอาไว้ตามมุม ด้านล่างของฐานเจดีย์มีบาตรจำลอง แจกันสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลวและมีดอกไม้สัมฤทธิ์ประดับโดยรอบ บริเวณรอบนอกของพระเจดีย์มีวิหารและศาลาไม้ตกแต่งตามแบบศิลปะพม่า[13]
ที่ระดับพื้นดินมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าสี่รูปที่มีความสูง 12 ถึง 13 ฟุต (3.7 ถึง 4.0 เมตร)[3] ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าสี่องค์ในภัทรกัปนี้ ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศของวัด พระกกุสันธพุทธเจ้าอยู่ทางทิศเหนือ พระโกนาคมนพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศตะวันออก พระกัสสปพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศใต้ และพระโคตมพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศตะวันตก พระพุทธรูปเหล่านี้ทั้งหมดถูกสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์[11] ด้านล่างพระพุทธรูปพระกัสสปพุทธเจ้า มีร่องรอยการแกะสลักอย่างประณีตบนแผ่นหินทราย[3] แผ่นหินเหล่านี้ถูกแกะสลักเป็น "ใบโพธิ์" ขนาดใหญ่[14] ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์มงคล ยังมีจิตรกรรมฝาผนังตามทางเดิน เพื่อทำให้ผู้เยี่ยมชมประทับใจในการเดินเข้าไปยังพระพุทธรูป[3]
ด้านนอกของกำแพงที่ล้อมรอบเจดีย์ชเวซี่โกน มีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานซิต้า[15]
ความเชื่อ
[แก้]ความเชื่อ 9 ประการของเจดีย์ชเวซี่โกน
- ยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม
- กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระเจดีย์ จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์
- เงาพระเจดีย์จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไป ถือว่าเป็นลางร้าย)
- ภายในเขตองค์พระเจดีย์ สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัดจำนวน (ไม่เคยเต็ม)
- มีการให้ทานด้วยข้าวสุกร้อน ๆ ทุกเช้า (ไม่ว่าเราจะตื่นเช้าสักเพียงใด จะพบข้าวสุกในบาตรอยู่ก่อนหน้าเราเสมอ)
- เมื่อตีกลองใบใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม
- แม้พระเจดีย์จะตั้งอยู่บนพื่นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอก จะเกิดภาพลวงตาคล้ายพระเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง
- ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในอาณาเขตขององค์พระเจดีย์
- มีต้นพิกุล ซึ่งจะออกดอกตลอดทั้งปี (ปรกติจะออกปีละครั้ง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 SK 2011, p. 147.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "Shwezigon Pagoda at Pagan". British Library On Line gallery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2015.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Gärtner 1994, p. 286.
- ↑ 4.0 4.1 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "Shwezigon Paya Temple (built late 11th century)". Asian Historical Architecture. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
- ↑ 6.0 6.1 "No. 25. Pugahm Myo [Pagan], Carved doorway". British Library On Line gallery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
- ↑ 7.0 7.1 Jarzombek & Prakash 2011, p. 91.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 "Pagan (Myanmar)". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
- ↑ Encyclopædia Britannica 2008, p. 835.
- ↑ 10.0 10.1 Harvey 2000, p. 33.
- ↑ 11.0 11.1 Köllner & Bruns 1998, p. 124.
- ↑ "No. 24. Pugahm Myo [Pagan]: Entrance to the Shwe Zeegong Pagoda". British Library On Line gallery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2015.
- ↑ Köllner & Bruns 1998, p. 123.
- ↑ Gärtner 1994, p. 279.
- ↑ "History of Shwezigon Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2015.
บรรณานุกรม
[แก้]- Gärtner, Uta (1994). Tradition and Modernity in Myanmar: Proceedings of an International Conference Held in Berlin from May 7th to May 9th, 1993. LIT Verlag Münster. ISBN 978-3-8258-2186-9.
- Harvey, G.E. (1 กรกฎาคม 2000). History of Burma. Asian Educational Services. ISBN 978-81-206-1365-2.
- Encyclopædia Britannica (1 พฤษภาคม 2008). Encyclopedia of World Religions. Encyclopædia Britannica, Inc. ISBN 978-1-59339-491-2.
- Jarzombek, Mark M.; Prakash, Vikramaditya (4 ตุลาคม 2011). A Global History of Architecture. John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-90248-6.
- Köllner, Helmut; Bruns, Axel (1998). Myanmar (Burma). Nelles. ISBN 978-3-88618-415-6.
- SK, Lim (1 พฤศจิกายน 2011). Asia Civilizations: Ancient to 1800 AD. Asiapac Books Pte Ltd. ISBN 978-981-229-594-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Myanmar Tourist Attractions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 เมษายน 2012.
- Pictorial Guide to Pagan. Rangoon: Ministry of Culture. 1975 [1955].