ห้างนายเลิศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ห้างนายเลิศ (อาคารมีโดมหลังคา) และอาคารสูง 7 ชั้น
คลองผดุงกรุงเกษม บริเวณย่านตลาดน้อยมองไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารสูง ๆ คือ ห้างนายเลิศ

ห้างนายเลิศ เป็นห้างสรรพสินค้าในอดีต บริเวณถนนเจริญกรุงเชิงสะพานพิทยเสถียร ในกรุงเทพมหานคร เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย[1] ห้างนายเลิศเป็นตึกสูง 7 ชั้น ถือเป็นอาคารสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองในกรุงเทพมหานคร[2]

ประวัติ[แก้]

นายเลิศหรือต่อมาคือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้ทำงานที่ห้างวินเซอร์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าของชาวตะวันตก เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงริเริ่มที่จะทำห้างสรรพสินค้าของตัวเอง โดยได้เปิดห้างพร้อมโรงแรม เมื่อ พ.ศ. 2437 ขณะที่นายเลิศอายุ 22 ปี[3]

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งนายเลิศอายุได้ราว 70 ปี เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจของนายเลิศประสบปัญหาจากสงคราม ห้างสรรพสินค้าดำเนินไปต่อไม่ได้ เพราะไม่สามารถรับสินค้ายุโรปเข้ามาขายได้ ต้องหันไปซื้อขายกับญี่ปุ่นเท่านั้น ภายหลังห้างนายเลิศได้ปิดกิจการลง โดยดำเนินกิจการมาเกือบ 5 ทศวรรษ

การดำเนินกิจการ[แก้]

ห้างสรรพสินค้าเน้นจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ เช่น จักรซิงเกอร์ ผลไม้กระป๋องยุโรป จักรยาน สังกะสี[4] ใต้ถุนตึกเป็นที่ตั้งของ "บาร์นายเลิศ" ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม Hotel de la Paix บาร์นายเลิศโด่งดังเรื่องการเสิร์ฟวิสกี้ออนเดอะร็อก เนื่องจากนายเลิศเป็นทั้งผู้นำเข้าแอลกอฮอลล์และเจ้าของโรงงานน้ำแข็ง[5]

อาคารนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทเดินอากาศสยามแห่งแรกที่นายเลิศร่วมก่อตั้ง รวมถึงบริษัทเดินเรือเมล์ ชั้นล่างของตึกนายเลิศนี้เป็นโรงน้ำแข็ง ยังมีห้องเย็นขนาดใหญ่ที่คนสามารถเดินเข้าไปได้ อาจถือได้ว่าเป็นห้องเย็นแห่งแรกของสยาม ห้องเย็นนี้เพื่อเก็บของสดที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ ไส้กรอกเยอรมัน ไก่งวงทั้งตัว หมูแฮมทั้งขา ผลไม้สดนำเข้า เช่น องุ่น ส้มจากต่างประเทศ และเนยก้อนใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของกรุงเทพ โดยมีกลุ่มลูกค้าคือชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่บริเวณถนนสี่พระยา ถนนสุรวงศ์ ถนนเจริญกรุง ถนนสีลม และถนนสาทร[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รู้จัก นายเลิศ ผู้ก่อตั้งโรงแรมแห่งแรก ของคนไทย ในสมัย ร.5". MONEY LAB.
  2. 2.0 2.1 วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. "การเปลี่ยนแปลงของย่านบางรักภายหลังการตัดถนนเจริญกรุง สมัยรัชกาลที่ 4 -6 (พ.ศ. 2394-2468)". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. "เริ่ดสะแมนแตน คำไทย แขกเขมรทำ". มิวเซียมสยาม.
  4. "บ้านปาร์คนายเลิศ : เรือนไม้สักร้อยกว่าปีใจกลางเพลินจิต ของนักธุรกิจเจ้าของกิจการ รถเมล์ขาวนายเลิศ". เดอะคลาวด์.
  5. "ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : 'เลิศสะมันเตา'ภูมิพระยาฯ นักธุรกิจแห่งสยาม". แนวหน้า.