หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติกันยายน พ.ศ. 2441
สิ้นพระชนม์22 เมษายน พ.ศ. 2455 (13 ปี)
ราชสกุลดิศกุล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเภา (กันยายน พ.ศ. 2441 — 22 เมษายน พ.ศ. 2455) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม (สกุลเดิม สนธิรัตน์) หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ถึงชีพิตักษัยด้วยพระโรคพิษสุนัขบ้า การถึงชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

เหตุแห่งการถึงชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ 13 เรื่องอนามัย ซึ่งระบุไว้ว่าในปี พ.ศ. 2455 ขณะนั้นพระองค์ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยครอบครัวได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จออกไปประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม บ่ายวันหนึ่งมีสุนัขบ้าวิ่งเข้ามาในเรือนรับรองอันเป็นที่ประทับของพระองค์และได้กัดขาหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ซึ่งทรงหกล้มขณะทรงวิ่งหนีสุนัขบ้า ปรากฏเป็นแผลรอยเขี้ยว 2 แผล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงรีบสืบหาแพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในเวลานั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแนะนำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่งตัวหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ไปรักษายังสถาบันปาสเตอร์ที่เมืองไซง่อน อินโดจีนของฝรั่งเศส เนื่องจากที่นั่นมียาสำหรับรักษาโรคนี้ แต่เรือเดินทะเลประจำทางที่ไปไซ่ง่อนได้ออกเดินทางไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน จำเป็นต้องรอถึง 15 วัน จึงจะมีเรือลำใหม่เข้ามาที่พระนคร จึงได้แต่รักษาอาการตามแบบแพทย์แผนไทยจนแผลหาย หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน เช้าวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2455 หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์มีอาการของโรคกลัวน้ำ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตามแพทย์ฝรั่งให้มาตรวจอาการ จึงทราบว่าหมดทางรักษาแล้ว อาการของหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ได้ทรุดลงอย่างรวดเร็วและถึงชีพิตักษัยในเวลาดึกของค่ำวันนั้น

ประติมากรรมสำริดรูปหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่สถานเสาวภา

เมื่อหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ถึงชีพิตักษัย นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้แนะนำพระองค์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพขึ้นเพื่อผลิตยารักษาและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วย เพราะทรงเคยเห็นกิจการของสถาบันปาสเตอร์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อครั้งเสด็จไปราชการในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2434 มาก่อน พระองค์จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงิน และได้จัดตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยริมโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2456 (ในเวลานั้นเรียกว่า "ปัสตุรสภา") ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 กิจการดังกล่าวได้โอนจากกระทรวงมหาดไทยไปอยู่ในความดูแลของกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดสยาม โดยใช้สถานที่เดิมเป็นที่ทำการไปพลางก่อน และในปี พ.ศ. 2465 ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่ทำการแห่งใหม่ในชื่อสถานเสาวภาจนถึงปัจจุบัน

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • Jeffary Finestone. สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ : บริษัทกู๊ดวิว เพรส จำกัด, พ.ศ. 2543.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 10. เก็บถาวร 2017-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พระนคร: เขษมบรรณกิจ, พ.ศ. 2503. หน้า 287-292.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]