ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิชนพื้นเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สิทธิชนพื้นเมือง (Indigenous Rights) หมายถึงสิทธิของกลุ่มชนซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอยู่แต่ดั้งเดิมมาก่อนที่ประชาชนซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานหรือทำการรุกรานจับจองเป็นอาณานิคม เช่น ชาวอเมริกันพื้นเมือง (อินเดียนแดง) เผ่าต่าง ๆ ในอเมริกา ชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย ชาวมาวรีในนิวซีแลนด์ เป็นต้น โดยที่คำว่าชนพื้นเมือง หมายถึงกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการก่อตั้งอาณานิคมหรือรัฐชาติและมีระบบการเมืองและวัฒนธรรมต่างไปจากการเมืองและวัฒนธรรมหลักของรัฐซึ่งพื้นที่ของชนพื้นเมืองนั้นตั้งอยู่

หลักเกณฑ์ที่สหประชาชาติใช้ในการพิจารณาชนพื้นเมือง คือ (อ้างอิงจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ)[1]

  • กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการมาถึงของผู้มีวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติที่แตกต่าง
  • กลุ่มคนที่แยกตัวโดดเดี่ยวจากวัฒนธรรมหลักรายรอบและรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้
  • กลุ่มคนที่ถูกแบ่งแยกแม้จะไม่เป็นทางการด้วยชาติ สังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปด้วยโครงสร้างของรัฐ

อรรถาธิบาย

[แก้]

สิทธิชนพื้นเมืองนั้นนอกจากจะระบุอยู่ในสิทธิมนุษยชนพื้นฐานแล้ว ยังรวมถึงสิทธิในการครอบครองดินแดนดั้งเดิม สิทธิในการรักษาภาษา วัฒนธรรม และศาสนาซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นชนพื้นเมืองไว้ โดยรัฐจะต้องให้การคุ้มครองหรือให้อิสระสำหรับชนพื้นเมืองในการตัดสินใจเลือกอัตลักษณ์ของตนเองโดยไม่พยายามกลืนกินทางวัฒนธรรมหรือพยายามกำจัดให้หมดไป รวมถึงการป้องกันผลกระทบทางอ้อมอันส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชนพื้นเมือง เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในดินแดนของชนพื้นเมือง รวมไปจนถึงวาทกรรมการ “พัฒนา” ในมิติอื่น ๆ ที่หลายครั้งมองผู้คนเป็นอุปสรรคในกระบวนการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาที่ทำให้อัตลักษณ์ของชนพื้นเมืองถูกดูดกลืน หรือหลอมรวมกับวัฒนธรรมและความเจริญชุดใหม่ อันเป็นผลจากการพัฒนาโดยคนภายนอก

ปัจจุบันสิทธิชนพื้นเมืองได้รับการรับรองและอาศัยปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง ค.ศ. 2007 เป็นหลัก กฎหมายเกี่ยวกับชนพื้นเมืองของรัฐที่ลงนามรับรองต้องปรับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในปฏิญญา (สหประชาชาติ)[2] แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นชนพื้นเมืองในหลาย ๆ ที่ อาทิ พม่า ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการกดขี่ และใช้ความรุนแรงจากรัฐในการปราบปราม ฉะนั้นปัญหาสำคัญ ณ เวลานี้จึงอยู่ที่การทำให้สิทธิชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้รับการรับรองเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ของประเทศ มีสิทธิในการเลือกตั้ง ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และได้รับการปฏิบัติให้เป็นสากลเฉกเช่นเดียวกันกับสิทธิมนุษยชน

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

[แก้]

ประเทศไทยยังไม่มีการรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองใด ๆ แม้จะมีชนพื้นเมืองอยู่มากก็ตาม เช่น ชนชาวมอเก็นหรือชาวเล (Morken), ชาวซาไกหรือสินอย (Sakai, Senoi), ชนชาวชอง (Chong), ชนชาวเซมังหรือเงาะป่า (Semang), ชาวลัวะ (Lua), ชาวไทเขิน (Tai Kheun), ชาวมลาบรีหรือผีตองเหลือง (Mlabri), ชาวกะเหรี่ยง, ชาวไทยเบิ้ง, ชาวไทยเชื้อสายมลายู เป็นต้น

ปัญหาชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยที่ปรากฏชัด เช่น ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มม้งและชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ซึ่งมีจำนวนหลายแสนคนที่ถูกละเลย และได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งจากส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ปกครองในพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะพวกเขาถูกมองว่ามิใช่ชนพื้นเมืองของไทย หากแต่เป็น “ผู้อพยพ” ที่ลี้ภัยการเมือง หรือ หลบหนีมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นชนกลุ่มน้อย (ที่มีมาก) เหล่านี้จึงไม่ได้มีมีสถานะเป็นพลเมืองไทย และเป็นเหตุให้ถูกปฏิบัติด้วยการแบ่งแยกและกีดกัน โดยเฉพาะการได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานมาโดยตลอด เช่น การให้บุตรหลานได้รับการเล่าเรียนในโรงเรียนปกติเฉกเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ ที่มีสถานะเป็นพลเมืองไทย เป็นต้น

ชนพื้นเมืองในแทบทุกประเทศทั่วโลกมักกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในปัจจุบันของประเทศนั้น ความเป็นชนกลุ่มน้อยมักจะทำให้เป็นผู้ด้อยสิทธิ แม้ว่า “สิทธิมนุษยชน” ที่เป็น “สิทธิทางศีลธรรม” (Moral Rights) จะได้รับการรับรองในฐานะที่เป็นสิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ “สิทธิทางกฎหมาย” (Legal Rights) อาจไม่ได้รับการคุ้มครองเสมอไป เช่น กำหนดกติกาในทางกฎหมายอันจะทำให้ชนพื้นเมืองเดิมตามตะเข็บชายแดนไม่อาจมีสัญชาติหรือมีภูมิลำเนาในประเทศ หรือไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่สามารมีตัวแทนในระบบการเมือง ในประเด็นนี้เอง ประเทศไทยควรทบทวนการกำหนดสถานภาพในทางกฎหมายของบุคคล และตรวจสอบว่าได้สร้างอุปสรรคในการให้สัญชาติหรือภูมิลำเนา และสิทธิตามกระบวนการทางการเมืองแก่ชนพื้นเมืองอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.ohchr.org/english/issues/indigenous/groups/groups-01.htm เก็บถาวร 2005-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  2. สหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.un.org/esa/socdev/unpfii/en/drip.html.
  3. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2557), คำและแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่, เข้าถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ใน http://www.fes-thailand.org/wb/media/documents/Democ%20Terms%20and%20Concept%20Handbook_Final28112014_compressed%282%29.pdf เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน