สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
อับคาเซีย

Социалисттә Советтә Республика Аҧсны  (อับคาเซีย)
საბჭოთა სოციალისტური რესპუბლიკა აფხაზეთი  (จอร์เจีย)
Социалистическая Советская Республика Абхазия  (รัสเซีย)
1921–1931
ธงชาติอับคาเซีย
ธงชาติ
คำขวัญПролетарии всех стран, соединяйтесь!
Proletarii vsekh stran, soyedinyaytes'!
"ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!"
เพลงชาติИнтернационал
Internatsional
"The Internationale"
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียใน ค.ศ. 1921
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียใน ค.ศ. 1921
สถานะสิ้นสุดสถานะ
เมืองหลวงซูฮูมี
ภาษาทั่วไปภาษาอับคาเซีย, ภาษาจอร์เจีย, ภาษารัสเซีย
การปกครองสาธารณรัฐสังคมนิยม
สภานิติบัญญัติสภาโซเวียต
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
31 มีนาคม 1921
• สิ้นสุด
19 กุมภาพันธ์ 1931
ประชากร
• 1926[1]
201,016
สกุลเงินรูเบิล
ก่อนหน้า
ถัดไป
สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจีย
สาธารณรัฐปกครองตัวเองสังคมนิยมโซเวียตอับคาซ

สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย (อังกฤษ: Socialist Soviet Republic of Abkhazia; SSR Abkhazia)[a] เป็นสาธารณรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคคอเคซัสของสหภาพโซเวียต มีอาณาบริเวณครอบคลุมอับคาเซีย[b] และดำรงอยู่ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1921 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 สาธารณรัฐก่อตั้งขึ้นหลังการรุกรานจอร์เจียโดยกองทัพแดงใน ค.ศ. 1921 และคงสถานะเป็นรัฐเอกราชจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1921 ที่ซึ่งลงนามในข้อตกลงร่วมเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีความเหมือนกันกับสาธารณรัฐปกครองตัวเอง แต่ยังคงความเป็นเอกราชจากจอร์เจียรวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์บางประการที่มีแต่สาธารณรัฐสหภาพเต็มตัวเท่านั้นจึงมีได้ เช่น การมีกองทัพเป็นของตนเอง ผ่านสถานะของรัฐในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" (treaty republic) กับจอร์เจีย อับคาเซียเข้าร่วมในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ซึ่งรวมสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต่าง ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส คือ อาร์มีเนีย, อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย เช้าด้วยกันเป็นหน่วยสหพันธ์หนึ่ง หลังสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1922 สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1931 และเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐปกครองตัวเองสังคมนิยมโซเวียตอับคาซภายใต้สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย

สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีผู้นำคือเนสเตอร์ ลาโกบา ผู้ซึ่งตามตำแหน่งแล้ว เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร แต่ควบคุมสาธารณรัฐมากจนถึงจุดที่มักเรียกสาธารณรัฐกันอย่างขำขันว่าเป็น "ลาโคบีสถาน" (Lakobistan) ลาโกบามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกับผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน จึงส่งผลให้โครงการรวมที่นาในอับคาเซียถูกชะลอไปจนกว่าอับคาเซียจะถูกผนวกเข้ากับจอร์เจีย ในยุคนี้ อับคาเซียยังคงสถานะเป็นผู้นำในการผลิตยาสูบ โดยเป็นผู้เพาะปลูกอุปทานเกินครึ่งหนึ่งของยาสูบในสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ อับคาเซียยังผลิตผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น ชา, ไวน์ และผลไม้รสเปรี้ยว ส่งผลให้อับคาเซียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดในสหภาพโซเวียต สภาพอากาศแบบกึ่งร้อนชื้นของอับคาเซียยังทำให้อับคาเซียเป็นเป้าหมายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งสตาลินและผู้นำโซเวียตคนอื่น ๆ ล้วนมี ดาชา (บ้านพักตากอากาศ) อยู่ที่อับคาเซีย รวมถึงยังเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจเป็นเวลานานพอควรที่นี่เช่นกัน

อับคาเซียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่โดยปกติแล้วก็นำโดยชาวอับคาซ ซึ่งคิดเป็นไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ของประชากร กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ ชาวจอร์เจีย, ชาวอาร์มีเนีย, ชาวกรีก และชาวรัสเซีย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์อับคาซ แต่วัฒนธรรมของอับคาซก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากและผลจากนโยบายโคเรนีซัตซียาในเวลานั้นทำให้ภาษาอับคาซได้รับการสนับสนุน นโยบายเหล่านี้ยังสนับสนุนอัตลักษณ์ประจำชาติอับคาซ ซึ่งนำไปสู่การก่อกำเนิดชาตินิยมอับคาเซีย สิ่งสืบเนื่องหลักของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียคือถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เกิดสถานะทางภูมิศาสตร์ภายใต้ชื่ออับคาเซีย ถึงแม้สาธารณรัฐกึ่งเอกราชจะถูกลดทอนสถานะลงใน ค.ศ. 1931 ชาวอับคาซก็ไม่ได้หลงลืมว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียเคยดำรงอยู่ ภายใต้การมาถึงของกลัสนอสต์และเปเรสตรอยคาในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ผู้นำชาวอับคาซได้เรียกร้องให้รัฐของตนแยกออกมาเป็นเอกราชจากจอร์เจีย โดยอ้างถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียว่าเคนดำรงอยู่มาก่อน การเรียกร้องนี้นำไปสู่การรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย ค.ศ. 1925 อันนำไปสู่สงครามใน ค.ศ. 1992–1993 ระหว่างผู้แบ่งแยกดินแดนอับคาเซียกับจอร์เจีย และยังคงอยู่ถึงปัจจุบันในฐานะข้อพิพาทพรมแดนอับคาเซียกับจอร์เจีย

ประวัติศาสตร์[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

จักรวรรดิรัสเซียผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้รวบรวมอำนาจเหนือภูมิภาคเรื่อยมาไม่เกิน ค.ศ. 1864[2] ทางการรัสเซียซึ่งไม่เต็มใจสร้างหน่วยดินแดนเชิงชาติพันธุ์ (ethno-territorial units) จึงได้รวบรวมภูมิภาคนี้เข้ากันเป็นเขตผู้ว่าการกูไตส์[3] การเคลื่อนย้ายของประชากรขนาดใหญ่ทำให้องค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของอับคาเซียเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีชาวอับคาซหลายพันคนถูกขับไล่ออกไป และชาวมิงเกรเลียนเข้ามาแทนที่[4][5] หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ที่ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลง สถานะของอับคาเซียจึงเป็นที่ถกเถียงและมีความไม่แน่นอน[6] เนื่องจากอับคาเซียไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียแล้ว จึงมีการพิจารณาเข้าร่วมกับสาธารณรัฐที่สูงคอเคซัสเหนือใน ค.ศ. 1917 แต่ท้ายที่สุดได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมสาธารณรัฐนี้เรื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของอับคาเซียซึ่งอยู่ห่างออกไปมากจากรัฐอื่น ๆ ในสาธารณรัฐนี้[7] ในเดือนกุมภาพันธ์ 1918 บอลเชวิคชาวอับคาซได้มีความพยายามก่อตั้งคอมมูนขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับสภาโซเวียตที่ตั้งขึ้นในรัสเซีย ความพยายามนี้ล้มเหลวและผู้นำบอลเชวิค ทั้งเอฟรัม เอชบาและเนสเตอร์ ลาโกบา ต้องเดินทางออกจากอับคาเซีย[8] ในเวลาต่อมามีการก่อตั้งสภาประชาชนอับคาซ (APC) ซึ่งสามารถมีอำนาจควบคุมดินแดนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียสถาปนาขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 จอร์เจียได้ผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งและถือว่าอับคาเซียเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนของตน อย่างไรก็ตาม จอร์เจียไม่เคยเข้ามายึดครองหรือควบคุมภูมิภาคนี้ แต่ปล่อยให้สภาประชาชนปกครองจนกระทั่งบอลเชวิครุกรานใน ค.ศ. 1921[9]

สถานะของอับคาเซียได้รับการรับรองในรัฐธรมนูญจอร์เจีย ค.ศ. 1921 มาตราที่ 107 รับรองให้ "อับฆาเซตี[c] (อำเภอซูฆูม; Soukhoum)" มีสถานะเป็นอิสระที่จะ "ปกครองตนเอง"[10] รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการหลังกองทัพแดงเข้ารุกรานจอร์เจียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 อย่างไรก็ตาม หลักการในการปกครองตนเองที่ให้สัญญาไว้นี้ไม่เคนถูกระบุชี้ชัด[11] นักประวัติศาสตร์ ตีมอตี บลาวเวลท์ ระบุว่าข้อความนี้ในรัฐธรรมนูญทำให้เกิดผลสืบเนื่องยาวนานในภูมิภาคนี้ เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่มีการนิยามอับคาเซียในฐานะสิ่งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นแยกชัดเป็นของตนเอง[12]

การสถาปนา[แก้]

หนึ่งในบรรดาการเดินขบวนฉลองในซูฮูมีหลังโซเวียตเข้ามามีอำนาจเมื่อ 8 มีนาคม 1921

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 กองทัพแดงเข้ารุกรานจอร์เจียและรุกรานอับคาเซียในสองวันให้หลัง[13] เอชบาและลาโกบาเดินทางกลับอับคาเซียก่อนการรุกรานและตั้งสภาปฏิวัติ (เรฟคอม; Revkom) เพื่อเตรียมพร้อมสู่การตั้งรัฐบาลบอลเชวิค[14] กรุงซูฮูมี เมืองหลวงของอับคาเซีย ถูกยึดครองในวันที่ 4 มีนาคม ในขณะที่การสู้รบในจอร์เจียดำเนินต่อไป เรฟคอมซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นผู้ปกครองหนึ่งเดียวของอับคาเซีย ได้ฉวยโอกาสจากความสับสนนี้และประกาศเอกราชให้กับอับคาเซีย[15] เรฟคอมได้ส่งโทรเลขไปยังมอสโกเพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินการต่อไป รวมถึงยังเสนอเข้าร่วมสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย แต่เซียร์โก ออร์ดจอนีคีดเซ ผู้นำบอลเชวิคและผู้นำบูโรคอเคซัส (กัฟบีวโร) ปฏิเสธข้อเสนอนี้[16] ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1921 จึงมีการประกาศว่า "ด้วยปรารถนาของเหล่ากรรมกร สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียแห่งใหม่นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา"[17] อับคาเซียจึงกลายเป็นสาธารณรัฐเอกราชในนามภายใต้ความเข้าใจของทั้งฝั่งอับคาเซียและจอร์เจียว่าท้ายที่สุดอับคาเซียจะเข้าร่วมสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียที่จะสถาปนาขึ้นในภายหลัง[17] จนถึงตอนนั้น จะถือว่าอับคาเซียไม่เป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย เรฟคอมของจอร์เจีย ซึ่งเป็นรัฐบาลของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียได้อ้าแขนต้อนรับอับคาเซียผ่านทางโทรเลขในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 และระบุว่ารูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐควรจะตกลงกันได้ในการประชุมสามัญแรงงานครั้งแรกของทั้งสองสาธารณรัฐ[18]

สถานะ[แก้]

สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียใน ค.ศ. 1922 สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียแสดงโดยเน้นสีชมพู

เรฟคอมของอับคาซซึ่งอยู่ในอำนาจไม่ปรารถนาที่จะจัดการประชุมสภาเพื่อกำหนดสถานะของอับคาเซียในอนาคต เนื่องจากจะทำให้เรฟคอมเองเสียอำนาจในการควบคุมภูมิภาค ท้ายที่สุดกัฟบีวโร (Kavbiuro) บังคับให้เรฟคอมต้องออกตัวและต่อรองในสนธิสัญญาระหว่างอับคาเซียกับจอร์เจีย ซึ่งเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1921[19] สนธิสัญญาดังกล่าวลงนามในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1921 ประกอบด้วยสองมาตรา:

1. สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย จะเช้าสู่ความร่วมมือทางการเมือง, การทหาร และทางเศรษฐกิจ-การเงิน
2. เพื่อให้สามารถปฏิบัติไปตามเป้าหมายที่ระบุข้างต้น รัฐบาลของทั้งสองรัฐประกาศการรวมกรรมการราษฎรของทั้งสองรัฐเข้าด้วยกัน อันประกอบด้วยส่วน: a) กองทัพ, b) การเงิน, c) กสิกรรมประชาชน, d) ไปรษณีย์โทรเลข, e) เชการ์, f) รับกรีน, g) กรรมการราษฎรฝ่ายยุติธรรม และ h) [กรรมการราษฎร] ฝ่ายคมนาคมทางน้ำ

— สนธิสัญญาสหภาพระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย และ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย[20]

สนธิสัญญานี้รวมทั้งสองรัฐเข้าด้วยกัน และทำให้สถานะของอับคาเซียเป็น "รัฐตามสนธิสัญญา" ("treaty republic") และเป็นรัฐใต้ปกครองจอร์เจียในนาม[21] สถานะพิเศษของอับคาเซียในจอร์เจียยิ่งถูกเน้นย้ำขึ้นอีกในรัฐธรรมนูญจอร์เจียใน ค.ศ. 1922 ซึ่งระบุถึง "สนธิสัญญาสหภาพพิเศษ" ระหว่างสองรัฐ รัฐธรรมนูญอับคาเซีย ค.ศ. 1925 ระบุว่าอับคาอซียผนวกเข้ากับจอร์เจียในแง่ของ "สนธิสัญญาพิเศษ"[22] ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1922 ขณะซึ่งยังเป็นส่วนเดียวกับจอร์เจีย อับคาเซียได้เข้าร่วมสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ร่วมกับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์มีเนีย และ อาเซอร์ไบจาน สหพันธรัฐใหม่นี้ตั้งขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าตั้งขึ้นเพื่อสร้างฐานอำนาจของโซเวียตในภูมิภาคให้มั่นคงขึ้น ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียง[23] ส่วนใหญ่แล้ว อับคาเซียได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะเขตปกครองตนเองของจอร์เจีย ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนกับรัฐปกครองตนเองอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียต อับคาเซียมีสัญลักษณ์ประจำชาติของตนเอง ทั้งธงชาติ ตราแผ่นดิน และหน่วยทหารประจำชาติ สิทธิที่กล่าวมานี้มีได้เพียงเฉพาะรัฐเอกราชสมบูรณ์ในสหภาพโซเวียตเองเท่านั้น[24] ตราแผ่นดินอับคาเซียมีระบุถึงในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 ว่า "ประกอบด้วยค้อนและเคียวทองบนพื้นหลังของภูมิทัศน์ของอับคาเซียและอักษรในภาษาอับคาเซียว่า 'SSR Abkhazia'"[25] ก่อนจะถูกดัดแปรงเล็กน้อยใน ค.ศ. 1926 ที่เติมคำชวัญประจำชาติ (เช่นเดียวกับรัฐในโซเวียตทั้งหลาย) ที่ว่า "ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!" ซึ่งเขียนด้วยภาษาอับคาเซีย, จอร์เจีย และรัสเซีย (เดิมทีมีเพียงภาษาอับคาเซีย)[25] นอกจากนี้อับคาเซียยังมีรัฐธรรมนูญของตนเอง ประกาศใช้เมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 1925 ซึ่งสิทธินี้มีได้เฉพาะในสาธารณรัฐอย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น[26]

การเป็นสหภาพกับจอร์เจียไม่ได้รับความนิยมในบรรดาผู้นำหรือประชาชนของอับคาเซีย[12] เช่นเดียวกันในจอร์เจียซึ่งถือว่านี่เป็นแผนการของบอลเชวิกเพื่อจะหันเหความต่อต้านของชาวจอร์เจียต่อทางการมอสโกไปยังสู่อับคาเซียแทน เนื่องจากชาวจอร์เจียในเวลานั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่อต้านบอลเชวิกหนักที่สุด[27] ในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" เพียงแห่งเดียวของสหภาพโซเวียต สถานะแน่ชัดของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสร้างความไม่วางใจต่อทั้งโซเวียตและจอร์เจียซึ่งไม่อยากให้ภูมิภาคอื่น ๆ เกิดการเรียกร้องสถานะในลักษณะเดียวกันนี้[28] เพื่อจะแก้ปัญหานี้จึงมีการตัดสินใจลดสถานะของอับคาเซียลง ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 โดยจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียขึ้นใหม่ในสถานะสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตอับคาซ ซึ่งกลายเป็นรัฐใต้ปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย แต่ยังคงสถานะอยู่ในสหพันธรัฐทรานส์คอเคซัส[29] ชาวอับคาเซียต่อต้านการประกาศครั้งนี้อย่างหนัก และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านโซเวียตครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกในอับคาเซีย[30]

การเมือง[แก้]

เนสเตอร์ ลาโกบา ผู้นำโดยพฤตินัยของอับคาเซียตั้งแต่ปี 1921 จนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1936 เขามีบทบาทสำคัญมากในการตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย

ในตอนแรก เรฟคอมอับคาเซียมีผู้นำคือประธานคณะกรรมการ เอเฟรม เอชบาร์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลอับค่เศียจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลที่ถาวรกว่าขึ้นมาแทน[18] ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 คณะกรรมการราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นและเนสเตอร์ ลาโกบา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานของคณะกรรมการ และกลายมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลของสาธารณรัฐ การเลือกตั้งนี้ถือเป็นแค่รูปทางการให้กับลาโกบาเท่านั้น เขามีบทบาทควบคุมอับคาเซียมาตั้งแต่เมื่อบอลเชวิคเข้ายึดครองอับคาเซียใน ค.ศ. 1921 แล้ว[31][32] เขากับกับเอชบาเป็นบอลเชวิคแนวหน้าหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซีย ลาโกบาและเอชบาเคยนำการพยายามยึดครองอับคาเซียสองครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ค.ศ. 1918 ทั้งสองครั้งสิ้นสุดด้วยการยกเลิกแผน หลังความพยายามครั้งหลังล้มเหลว ทั้งคู่ได้หลบหนีออกจากอับคาเซีย และเดินทางกลับมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 หลังการยึดอำนาจโดยบอลเชวิคสำเร็จ ไม่นาน เอชบาได้เปลี่ยนผ่านและโยกย้ายตำแหน่งไปตำแหน่งอื่น เหลือไว้เพียงลาโกบาคนเดียวเป็นผู้นำของอับคาเซีย [33]

ในทางปฏิบัติ ลาโกบาควบคุมอับคาเซียในฐานะแคว้นฟิวดอล (fiefdom) ของตนเอง จนถึงขั้นที่มีการเรียกอับคาเซียกันอย่างขำขันว่าเป็น "ลาโกบีสถาน" ("Lakobistan") ในขณะเดียวกัน สถานะของลาโกบาในฐานะผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐก็ไม่เคยถูกโต้แย้งหรือตั้งคำถามเลย[34] เขาต้านทานนโยบายกดขี่ประชาชนจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้ในที่อื่น ๆ ในสหภาพโซเวียต เช่น นโยบายการยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่ ลาโกบายังสนับสนุนทางการเงินแก่ชนชั้นนำของอับคาเซีย เขาทำเช่นนี้ได้ก็เพราะเขาเป็นมิตรสหายใกล้ชิดกับโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต[35]

เศรษฐกิจ[แก้]

บ้านพักตากอากาศของโจเซฟ สตาลิน ที่ทะเลสาบรีชา [ru] หนึ่งในดาชาของสตาลินที่อยู่ในอับคาเซีย

อับคาเซียเป็นผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่ในสมัยโซเวียต ในคริสต์ทศวรรษ 1930 อับคาเซียผลิตยาสูบถึง 52 เปอร์เซนต์ของจำนวนการส่งออกยาสูบของโซเวียต[36] ผลผลิตทางการเกษตรอื่น เช่น ชา, ไวน์ และผลไม้รสเปรี้ยว (โดยเฉพาะส้ม) มีการผลิตในขนานใหญ่ ทำให้อับคาเซียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดในทั้งสหภาพเวียต รวมถึงร่ำรวยกว่าจอร์เจียอย่างมาก[37] การส่งออกทรัพยากรเปล่านี้ทำให้อับคาเซียกลายเป็น "เกาะแห่งความเจริญ ในท่ามกลางคอเคซัสที่ถูกถล่มด้วยสงคราม"[38] มีการสร้างโรงงานในภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสหภาพโซเวียตโดยรวม แต่ก็ไม่ได้ส่งผลมากนักต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของอับคาเซีย[39]

อับคาเซียยังเป็นที่เชิดหน้าชูตาในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญของทั้งชนชั้นนำและประชาชนของโซเวียต สตาลินเดินทางมาอับคาเซียปีละครั้งตลอดคริสต์ทศวรรษ 1920 เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานของเขาในเครมลิน ซึ่งเดินทางมาด้วยเพื่อสร้างความไว้วางใจจากสตาลิน[40] ลาโกบาในฐานะเจ้าบ้านจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับสตาลินขึ้นอย่างมากและกลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่สตาลินไว้ใจ ส่งผลให้ลาโกบาคงสถานะอำนาจใหญ่ในอับคาเซียได้[41] เราสามารถเห็นได้ชัดที่สุดจากการที่ลาโกบาปฏิเสธการยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่ (collectivisation) ที่ซึ่งลาโกบาโต้แย้งว่า ในรัฐนี้ไม่มี คูลัก (kulak; ไพร่ผู้มั่งคั่ง)[42] นโยบายนี้ยังได้รับการแก้ต่างโดยสตาลิน ผู้กล่าวว่านโยบายต่อต้านคูลักไม่ได้ "พิจารณาลักษณะอันเฉพาะของโครงสร้างทางสังคมของอับคาเซีย และเป็นการผิดพลาดที่จะส่งผ่ายโมเดลการก่อร่างสังคมแบบรัสเซียมายังผืนดินอับคาเซีย"[43] การยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในอับคาเซียหลังรัฐถูกลดสถานะลงใน ค.ศ. 1931 และถูกนำมาใช้โดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1936 หลังลาโกบาเสียชีวิต[44]

ตลอดการมีอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย สกุลเงินทางการคือรูเบิลโซเวียต[45]

ประชากรศาสตร์[แก้]

ชาติพันธุ์ในอับคาเซีย ตามช้อมูลจากสำมะโนโซเวียต ค.ศ. 1926[1]

  อื่น ๆ (12.59%)

สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก โดยมีประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่รัสเซียผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ในศตวรรษที่ 19 มีการขับไล่ชาวอับคาซกว่า 100,000 คน ออกจากภูมิภาค โดยส่วนใหญ่ขับไปยังจักรวรรดิออตโตมัน[46] ในขณะที่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสถาปนาขึ้น ชาวอับคาซคิดเป็นไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นโยบาย โคเรนีซัตซียา (การทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมแม่; nativization) ที่ใช้ในช่วงนี้เพื่อส่งเสริมชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในสหภาพโซเวียต เป็นผลให้ประชากรชาวอับคาซเพิ่มสูงขึ้น: ระหว่าง ค.ศ. 1922 และ 1926 ชาติพันธุ์ชาวอับคาซเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่จำนวนประชากรชาติพันธุ์จอร์เจียลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นตามที่กล่าวอ้างในสำมะโน ค.ศ. 1926 ของโซเวียต (สำมะโนเดียวที่มีตลอดการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย) จำนวนประชากรที่เป็นชาติพันธุ์อับคาซสูงถึง 55,918 คนหรือราว 28 เปอร์เซ็นต์ของประชากร (ซึ่งอยู่ที่ 201,016 คน) ในขณะที่จำนวนชาติพันธุ์จอร์เจียอยู่ที่ 67,494 คน (36 เปอร์เซ็นต์) กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ปรากฏในสำมะโน ค.ศ. 1926 ได้แก่ชาวอาร์มีเนีย (25,677 คนหรือ 13 เปอร์เซ็นต์), ชาวกรีกคอเคซัส (14,045 คนหรือ 7 เปอร์เซ็นต์) และ ชาวรัสเซีย (12,553 คนหรือ 6 เปอร์เซ็นต์)[1][47]

ในสมัยของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีการปรับแก้ระบบการเชียนที่ใช้ในภาษาอับคาซ ภายใต้นโยบาย โคเรนีซัตซียา ชาวอับคาซไม่ได้ถือเป็นหนึ่งในประชากร "ก้าวหน้า" ของสหภาพโซเวียต ฉะนั้นจึงเกิดการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติของตน[48] ภาษาอับคาซและภาษาอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียตภายใต้นโยบายนี้ถูกแปรเป็นอักษรละตินใน ค.ศ. 1928 แทนที่การใช้ระบบการเขียนที่ใช้อักษรซีริลลิก[49] มีการให้ความสำคัญมากต่อการพัฒนาวัฒนธรรมอับคาซ ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากในแง่ของเงินทุน[39] นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์อับคาเซีย (Abkhazian Scientific Society) ขึ้นใน ค.ศ. 1922 ตามด้วยสถาบันภาษาและวรรณกรรมอับคาเซีย (Academy of Abkhazian Language and Literature) ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1925[50]

เนื้องจากรัฐบาลรับรู้ถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในอับคาเซียเอง ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญอับคาเซีย ค.ศ. 1925 ได้ระบุให้อับคาเซียมีภาษาทางการสามภาษา คือ ภาษาอับคาเซีย, ภาษาจอร์เจียและภาษารัสเซีย ในขณะที่การแปรญัติในภายหลังระบุเพิ่มว่า "ชนชาติทั้งปวงที่อาศัยในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียได้รับการรับรองสิทธิในการพัฒนาและใช้ภาษาแม่ของตนโดยเสรี ทั้งในระดับชาติ วัฒนธรรม และในหน่วยงานทั่วไปของรัฐ"[51][52] ประชากรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาอับคาเซีย ภาษารัสเซียจึงเป็นภาษาหลักของรัฐบาลในขณะที่ภูมิภาคท้องถิ่นต่าง ๆ ใช้ภาษาที่มีใช้มากสุดในพื้นที่นั้น ๆ[53]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

ปาร์กสลาวี ในซูฮูมี เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารอับคาเซียที่เสียชีวิตในสงครามใน ค.ศ. 1992–1993

สถานะที่แน่นอนของอับคาเซียในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" ไม่เคยได้รับการอธิบายให้กระจ่างตลอดการมีอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย นักประวัติศาสตร์ อาร์เซนี ซาปารอฟ ระบุว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้นก็ไม่รู้เช่นกันว่าวลีนี้หมายความว่าอะไร[54] สถานะที่ว่านี้มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อชาวอับคาเซีย ผู้ไม่เคยหลงลืมว่าเคยมีรัฐอิสระของตนเองมาก่อน อย่างน้อยในเชิงทฤษฎี[55] ภายหลังการเกิดขึ้นของนโยบายกลัสนอสต์และเปเรสตรอยคาในคริสต์ทศวรรษ 1980 การเรียกร้องให้ฟื้นฟูสถานะของอับคาเซียได้เริ่มเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง การประชุมที่ลีฮนีใน ค.ศ. 1989 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของโซเวียตประกาศให้อับคาเซียเป็นสาธารณรัฐเต็มตัว โดยอ้างสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียว่าเป็นรัฐที่เคยดำรงอยู่มาก่อนหน้า[56] เมื่ออับคาเซียประกาศเอกราชอีกครั้งใน ค.ศ. 1990 อับคาเซียได้เรียกร้องให้ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 ซึ่งระบุให้จอร์เจียและอับคาเซียรวมเป็นสหภาพ การเรียกร้องนี้ทำไปเพื่อเปิดทางให้กับความเป็นไปได้ของการรวมเป็นสหภาพของสองรัฐในอนาคต[57] การรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 นำไปสู่สงครามใน ค.ศ. 1992–1993 และข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานะของอับคาเซีย ซึ่งนำไปสู่สถานะเอกราชโดยพฤตินัยของอับคาเซียในจอร์เจียนับตั้งแต่ ค.ศ. 1992[44]

หมายเหตุ[แก้]

  1. อับคาเซีย: Социалисттә Советтә Республика Аҧсны, ССР Аҧсны; Sociālicṭṭw Soveṭṭw Resṗubliḳā Āpsnə
    จอร์เจีย: საბჭოთა სოციალისტური რესპუბლიკა აფხაზეთი, სსრ აფხაზეთი; Sabch'ota Sotsialist'uri Resp'ublika Apkhazeti
    รัสเซีย: Социалистическая Советская Республика Абхазия, ССР Абхазия; Sotsialisticheskaya Sovetskaya Respublika Abkhaziya
  2. อับคาเซียเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐอับคาเซียกับประเทศจอร์เจีย สาธารณรัฐอับคาเซียประกาศเอกราชด้วยตนเองอยู่ฝ่ายเดียวในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 ในขณะที่จอร์เจียยังคงอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนว่าเป็นเขตปกครองของตน อับคาเซียได้รับการยอมรับโดย 7 จาก 193 ประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ ในจำนวนนี้มี 1 ประเทศที่ถอนการรับรองประเทศอับคาเซีย
  3. "Abkhazeti" เป็นชื่อของอับคาเซียในภาษาจอร์เจียที่ปรากฏไว้ในรูปทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1921

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Müller 1998, p. 231
  2. Lak'oba 1998a, pp. 89–101
  3. kartuli sabch'ota entsiklopedia 1985, p. 504
  4. Lak'oba 1998a, p. 84
  5. Müller 1998, pp. 220–225
  6. Blauvelt 2007, p. 206
  7. Saparov 2015, p. 43
  8. Blauvelt 2012b, p. 81
  9. Lakoba 1990, p. 63
  10. Papuashvili 2012, p. 48
  11. Welt 2012, pp. 214–215
  12. 12.0 12.1 Blauvelt 2014, p. 26
  13. Suny 1994, p. 207
  14. Saparov 2015, p. 48
  15. Hewitt 2013, p. 39
  16. Saparov 2015, p. 49
  17. 17.0 17.1 Saparov 2015, p. 50
  18. 18.0 18.1 Saparov 2015, p. 51
  19. Saparov 2015, p. 52
  20. Saparov 2015, p. 54
  21. Saparov 2015, p. 55
  22. Saparov 2015, pp. 55, 57
  23. Hewitt 1993, p. 271
  24. Saparov 2015, pp. 50–56
  25. 25.0 25.1 Saparov 2015, p. 56
  26. Hewitt 2013, p. 40
  27. Smith 2013, p. 344
  28. Saparov 2015, p. 60
  29. Blauvelt 2007, p. 212
  30. Lakoba 1995, p. 99
  31. Bgazhba 1965, p. 39
  32. Blauvelt 2007, p. 207
  33. Blauvelt 2014, pp. 24–25
  34. Lakoba 2004, pp. 100–101
  35. Lak'oba 1998b, p. 71
  36. Suny 1994, p. 268
  37. Zürcher 2007, pp. 120–121
  38. Rayfield 2004, p. 95
  39. 39.0 39.1 Anchabadze & Argun 2012, p. 90
  40. Blauvelt 2007, p. 202
  41. Scott 2016, p. 96
  42. Marshall 2010, p. 239
  43. Rayfield 2004, p. 30
  44. 44.0 44.1 Derluguian 1998, p. 266
  45. Blauvelt 2007, p. 211
  46. Hewitt 2013, p. 25
  47. Jones 1988, pp. 617–618
  48. Martin 2001, pp. 23–24
  49. Jones 1988, p. 617
  50. Blauvelt 2012a, p. 252
  51. Blauvelt 2012a, pp. 241–242
  52. Saparov 2015, pp. 58–59
  53. Blauvelt 2012a, pp. 240–246
  54. Saparov 2015, pp. 61–62
  55. Saparov 2015, p. 62
  56. Anchabadze 1998, p. 132
  57. Cornell 1998, p. 52

บรรณานุกรม[แก้]

  • Anchabadze, Jurij (1998), "History: the modern period", ใน Hewitt, George (บ.ก.), The Abkhazians: A Handbook, New York City: St. Martin's Press, pp. 132–146, ISBN 978-0-31-221975-8
  • Anchabadze, Yu. D.; Argun, Yu. G. (2012), Абхазы (The Abkhazians) (ภาษารัสเซีย), Moscow: Nauka, ISBN 978-5-02-035538-5
  • Bgazhba, Mikhail (1965), Нестор Лакоба (Nestor Lakoba) (ภาษารัสเซีย), Tbilisi: Sabtchota Saqartvelo
  • Blauvelt, Timothy (May 2007), "Abkhazia: Patronage and Power in the Stalin Era", Nationalities Papers, 35 (2): 203–232, doi:10.1080/00905990701254318, S2CID 128803263
  • Blauvelt, Timothy (2012a), "'From words to action!': Nationality policy in Soviet Abkhazia (1921–38)", ใน Jones, Stephen F. (บ.ก.), The Making of Modern Georgia, 1918–2012: The first Georgian Republic and its successors, New York City: Routledge, pp. 232–262, ISBN 978-0-41-559238-3
  • Blauvelt, Timothy K. (2012b), "Resistance and Accommodation in the Stalinist Periphery: A Peasant Uprising in Abkhazia", Ab Imperio, 2012 (3): 78–108, doi:10.1353/imp.2012.0091, S2CID 154386436
  • Blauvelt, Timothy K. (2014), "The Establishment of Soviet Power in Abkhazia: Ethnicity, Contestation and Clientalism in the Revolutionary Periphery", Revolutionary Russia, 27 (1): 22–46, doi:10.1080/09546545.2014.904472, S2CID 144974460
  • Cornell, Svante E. (Autumn 1998), "Religion as a Factor in Caucasian Conflicts", Civil Wars, 1 (3): 46–64, doi:10.1080/13698249808402381
  • Derluguian, Georgi M. (1998), "The Tale of Two Resorts: Abkhazia and Ajaria Before and Since the Soviet Collapse", ใน Crawford, Beverley; Lipshutz, Ronnie D. (บ.ก.), The Myth of "Ethnic Conflict": Politics, Economics, and "Cultural" Violence, Berkeley, California: University of California Press, pp. 261–292, ISBN 978-0-87-725198-9
  • Hewitt, B.G. (1993), "Abkhazia: a problem of identity and ownership", Central Asian Survey, 12 (3): 267–323, doi:10.1080/02634939308400819
  • Hewitt, George (2013), Discordant Neighbours: A Reassessment of the Georgian-Abkhazian and Georgian-South Ossetian Conflicts, Leiden, The Netherlands: Brill, ISBN 978-9-00-424892-2
  • Jones, Stephen F. (October 1988), "The Establishment of Soviet Power in Transcaucasia: The Case of Georgia 1921–1928", Soviet Studies, 40 (4): 616–639, doi:10.1080/09668138808411783
  • kartuli sabch'ota entsiklopedia (1985), "Sukhumi okrug", kartuli sabch'ota entsiklopedia (Georgian Soviet Encyclopedia) (ภาษาจอร์เจีย), vol. 9, Tbilisi: Kartuli Sabch'ota Entsiklopedia
  • Lak'oba, Stanislav (1998a), "History: 18th century–1917", ใน Hewitt, George (บ.ก.), The Abkhazians: A Handbook, New York City: St. Martin's Press, pp. 89–101, ISBN 978-0-31-221975-8
  • Lak'oba, Stanislav (1998b), "History: 1917–1989", ใน Hewitt, George (บ.ก.), The Abkhazians: A Handbook, New York City: St. Martin's Press, pp. 67–88, ISBN 978-0-31-221975-8
  • Lakoba, Stanislav (1990), Очерки Политической Истории Абхазии (Essays on the Political History of Abkhazia) (ภาษารัสเซีย), Sukhumi, Abkhazia: Alashara
  • Lakoba, Stanislav (1995), "Abkhazia is Abkhazia", Central Asian Survey, 14 (1): 97–105, doi:10.1080/02634939508400893
  • Lakoba, Stanislav (2004), Абхазия после двух империй. XIX–XXI вв. (Abkhazia after two empires: XIX–XXI centuries) (ภาษารัสเซีย), Moscow: Materik, ISBN 5-85646-146-0
  • Marshall, Alex (2010), The Caucasus Under Soviet Rule, New York City: Routledge, ISBN 978-0-41-541012-0
  • Martin, Terry (2001), The Affirmative Action Empire: Nations and Nationalism in the Soviet Union, 1923–1939, Ithaca, New York: Cornell University Press, ISBN 978-0-80-143813-4
  • Müller, Daniel (1998), "Demography: ethno-demographic history, 1886–1989", ใน Hewitt, George (บ.ก.), The Abkhazians: A Handbook, New York City: St. Martin's Press, pp. 218–231, ISBN 978-0-31-221975-8
  • Papuashvili, George, บ.ก. (2012), The 1921 Constitution of the Democratic Republic of Georgia, Batumi, Georgia: Constitutional Court of Georgia, ISBN 978-9941-0-3458-9
  • Rayfield, Donald (2004), Stalin and His Hangmen: The Tyrant and Those Who Killed for Him, New York City: Random House, ISBN 978-0-37-575771-6
  • Saparov, Arsène (2015), From Conflict to Autonomy in the Caucasus: The Soviet Union and the making of Abkhazia, South Ossetia and Nagorno Karabakh, New York City: Routledge, ISBN 978-0-41-565802-7
  • Scott, Erik R. (2016), Familiar Strangers: The Georgian Diaspora and the Evolution of Soviet Empire, Oxford, United Kingdom: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-939637-5
  • Smith, Jeremy (2013), Red Nations: The Nationalities Experience in and after the USSR, Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press, ISBN 978-0-52-112870-4
  • Suny, Ronald Grigor (1994), The Making of the Georgian Nation (Second ed.), Bloomington, Indiana: Indiana University Press, ISBN 978-0-25-320915-3
  • Welt, Cory (2012), "A Fateful Moment: Ethnic Autonomy and Revolutionary Violence in the Democratic Republic of Georgia (1918–1921)", ใน Jones, Stephen F. (บ.ก.), The Making of Modern Georgia, 1918–2012: The first Georgian Republic and its successors, New York City: Routledge, pp. 205–231, ISBN 978-0-41-559238-3
  • Zürcher, Christoph (2007), The Post-Soviet Wars: Rebellion, Ethnic Conflict, and Nationhood in the Caucasus, New York City: New York University Press, ISBN 978-0-81-479709-9

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]