ศิลปะแองโกล-แซกซัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศิลปะแองโกล-แซ็กซอน)
ศิลปะแองโกล-แซกซัน
ส่วนหนึ่งของ: ศิลปะสมัยการโยกย้ายถิ่นฐาน
ศิลปะสมัยกลาง

เข็มกลัดประดับที่ใช้บนไหล่จากคริสต์ศตวรรษที่ 7
ที่พบที่สุสานฝังศพในเรือที่ซัททันฮูในอังกฤษ
ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ช่วงเวลา ค.ศ. 871 จนถึง ค.ศ. 1066
ภูมิภาค อังกฤษ
เกี่ยวข้อง ศิลปะสมัยการโยกย้ายถิ่นฐาน
ศิลปะการอแล็งเฌียง,
ศิลปะไบแซนไทน์,
ศิลปะเคลติก,
ศิลปะนอร์ส
สมัยก่อนหน้า ศิลปะเคลติก
สมัยต่อมา ศิลปะโรมาเนสก์
ศิลปะตะวันตก
โฟลิโอจาก “หนังสือประทานพรเซนต์เอเธลโวลด์” ที่ประกอบด้วยภาพพระเยซูรับศีลจุ่ม
ภาพประกอบจากหน้า 46 ของ “หนังสือแคดมอน” เป็นภาพเทวดารักษาประตูสวรรค์ หลังจากที่อาดัมและอีฟถูกขับจากสวรรค์
หินเฮดดาซึ่งเป็นตัวอย่างของงานสลักหินของสมัยแองโกล-แซกซัน
พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

ศิลปะแองโกล-แซกซัน (อังกฤษ: Anglo-Saxon art) คือศิลปะที่สร้างขึ้นในสมัยแองโกล-แซกซันในประวัติศาสตร์อังกฤษโดยเฉพาะตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (ค.ศ. 871-ค.ศ. 899) เมื่อมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมของอังกฤษขึ้น หลังจากการรุกรานของไวกิงยุติลง และมาสิ้นสุดเอาเมื่อนอร์มันพิชิตอังกฤษได้ในปี ค.ศ. 1066 เมื่อศิลปะวิวัฒนาการไปเป็นศิลปะโรมาเนสก์อย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดศิลปะสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นศิลปะที่มีรากเหง้ามาจากศิลปะที่ชาวแองโกล-แซกซันนำติดตัวมาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่จะเห็นได้จากงานโลหะและงานเครื่องประดับอันเป็นงานฝีมืออันมีคุณภาพที่ขุดพบที่ซัททันฮู (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7)

ประวัติ[แก้]

หลังจากเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาแล้ว การผสานระหว่างลวดลายและเทคนิคของแองโกล-แซกซันและของเคลติกก็ทำให้เกิดลักษณะงานศิลปะที่เรียกว่า “ศิลปะไฮเบอร์โน-แซกซัน” หรือ ศิลปะเกาะ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดลายเส้นจากลวดลายตกแต่งงานโลหะ ในช่วงเวลาเดียวกันงานรวบรวมพระวรสารลินดิสฟาร์นในนอร์ทธัมเบรียทางตอนเหนือสุดของอังกฤษเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ งานหนังสือเพลงสวดสดุดีเวสพาเซียนจากแคนเตอร์บรีทางตอนใต้สุดที่นักสอนศาสนาจากโรมใช้เป็นศูนย์กลาง ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะงานที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ที่เป็นงานที่มีพื้นฐานมาจากงานคลาสสิก ลักษณะของศิลปะทั้งสองอย่างดังกล่าววิวัฒนาการขึ้นมาด้วยกันและในร้อยปีต่อมาก็ผสานกันเป็นลักษณะของศิลปะที่เรียกว่าแองโกล-แซกซันอย่างสมบูรณ์

ศิลปะแองโกล-แซกซันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในรูปแบบของหนังสือวิจิตร, สถาปัตยกรรม, งานแกะสลักงาช้างหลายชิ้น และงานโลหะและวัสดุอื่นบ้าง งานปักอังกฤษ ("Opus Anglicanum") ก็เป็นที่รู้จักกันแล้วในเวลานั้นว่าเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่สุดในยุโรป แต่ก็มีเหลือให้เห็นกันอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น - ผ้าปักบายูเป็นงานปักอีกประเภทหนึ่งที่แตกต่างจากงานปักอังกฤษที่เป็นงานปักที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และเช่นเดียวกับในส่วนใหญ่ของยุโรปในเวลานั้น งานโลหะถือกันว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูงโดยแองโกล-แซกซัน แต่ก็แทบจะไม่มีเหลือหรออยู่ เพราะในช่วงสิบปีแรกตั้งแต่การรุกรานของนอร์มัน และต่อมาการปกครองของขุนนางนอร์มัน คริสต์ศาสนสถาน, สำนักสงฆ์ และ ทรัพย์สมบัติของผู้ดีมีตระกูลชาวแองโกล-แซกซันก็ถูกยึด ปล้นสะดม และทำลายไปเป็นอันมาก และสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็เคยมีอยู่บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป

หนังสือวิจิตรที่รวมทั้ง “หนังสือประทานพรเซนต์เอเธลโวลด์” ที่มีพื้นฐานมาจากลักษณะงานศิลปะและรูปลักษณ์ที่ใช้ในงานศิลปะเกาะ, ศิลปะการอแล็งเฌียง และ ศิลปะไบแซนไทน์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก็ได้มีการวิวัฒนาการ 'สกุลศิลปะแบบวินเชสเตอร์' ขึ้นที่เป็นการรวมระหว่างธรรมเนียมนิยมของการประดับประดาแบบทางตอนเหนือเข้ากับธรรมเนียมนิยมรูปลักษณ์ของเมดิเตอร์เรเนียน ที่เห็นได้ในงาน 'Leofric Missal'[1] งานเขียนภาพประกอบของแองโกล-แซกซันก็ได้แก่งานวาดด้วยปากกาที่มีชีวิตชีวา เช่นงานชิ้นสำคัญ “หนังสือเพลงสวดสดุดีอูเทร็คท์” แบบการอแล็งเฌียงของแคนเตอร์บรีที่เขียนขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1000 และ “หนังสือเพลงสวดสดุดีฮาร์ลีย์” ซึ่งเป็นงานก็อปปีของหนังสือสวดมนต์อูเทร็ชท์ ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นของวัฒนธรรมแองโกล-แซกซันที่เข้ามารับอิทธิพลของการขยายตัวของงานแบบละตินของยุโรปยุคกลาง ภาพวาดแองโกล-แซกซันมามีอิทธิพลต่อทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเป็นอันมากตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่เรียกกันว่า 'สกุลศิลปะช่องแคบ' (Channel school)

งานที่เห็นจะเป็นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของศิลปะแองโกล-แซกซันก็เห็นจะเป็นงานผ้าปักบายูที่เป็นงานที่จ้างโดยชาวแองโกล-นอร์มัน โดยว่าจ้างช่างชาวอังกฤษที่ปักงานแบบแองโกล-แซกซัน นอกจากนั้นศิลปินแองโกล-แซกซันยังทำงานเขียนจิตรกรรมฝาผนัง, งานสลักหิน, งานสลักงาช้าง และ งานสลักกระดูกวาฬ (โดยเฉพาะหีบแฟรงค์), งานโลหะ (เช่นเข็มกลัดฟุลเลอร์), งานแก้วของแองโกล-แซกซัน และ งานเคลือบ ตัวอย่างงานเหล่านี้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือ บางชิ้นก็เป็นงานที่ได้รับการอนุรักษ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะคริสต์ศาสนสถานบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ในอังกฤษเองนั้นหางานเหล่านี้ดูได้ยาก เพราะการรุกรานของไวกิงและนอร์มัน และ การปฏิรูป ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของศิลปะแองโกล-แซกซันไปจนแทบสิ้นทราก

รูปลักษณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยแองโกล-แซกซันที่รวมทั้งสัตว์ที่มีปากเป็นปากนรก (Hellmouth) และ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูที่แสดงส่วนที่เป็นเพียงขาและเท้าตอนบนของภาพที่เกือบจะถูกกลืนหายสู่เบื้องบน รูปลักษณ์ทั้งสองแบบดังกล่าวได้รับการนำไปใช้โดยทั่วไปในยุโรปต่อมา

งานโลหะ[แก้]

งานโลหะของแองโกล-แซกซันเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงอิตาลี แต่ก็แทบจะไม่มีเหลืออยูให้เห็นหลังจากการรุกรานของนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 และการปฏิรูปศาสนาต่อมา[2] งานบางชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงโดยศิลปินของอารามสเปียร์ฮาฟ็อคที่ไม่มีชิ้นใดเหลืออยู่เป็นงานโลหะมีค่า สเปียร์ฮาฟ็อคเป็นศิลปินผู้เดียวจากยุคนั้นที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งตัวบุคคลและผลงาน จากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งรวมทั้งจากนักบันทึกประวัติศาสตร์นอร์มันกอสเซอลินผู้รู้จักสเปียร์ฮาฟ็อค กล่าวถึงสเปียร์ฮาฟ็อคว่า “เป็นผู้มีฝีมือในการเขียนภาพ, การสลักทอง และ การทำงานช่างทอง” อาจจะเป็นได้ว่าเพราะความมีฝีมือทำให้สเปียร์ฮาฟ็อคได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับเจ้านาย และทำให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วในสถาบันศาสนา[3] แม้ว่าจะเป็นรายละเอียดอย่างหยาบๆ ที่ส่วนใหญ่บรรยายโดยกอสเซอลิน แต่กระนั้นก็ยังเป็นหลักฐานอันมีค่าเกี่ยวกับลักษณะงานโลหะของแองโกล-แซกซัน นอกจากนั้นฝีมือในด้านการสลักทอง, ออกแบบ และ สลักรูปลักษณ์ลงบนทองของแองโกล-แซกซันก็ยังได้รับการกล่าวถึงในบันทึกในหลักฐานของชาวต่างประเทศอีกด้วย การเขียนภาพบนผนังที่บางครั้งดูเหมือนจะมีทองผสมอยู่ด้วยมักจะเขียนโดยช่างเขียนหนังสือวิจิตร คำบรรยายของกอสเซอลินถึงฝีมือของศิลปินแองโกล-แซกซันดูเหมือนจะถือกันว่าช่างทองเป็นช่างฝีมืออันดับหนึ่งในบรรดาช่างสาขาต่างๆ[4]

ศิลปินประจำอารามหลายคนได้รับตำแหน่งสูงๆ ความสามารถของสเปียร์ฮาฟ็อคเทียบเท่ากับฝีมือของแมนนิกศิลปินร่วมสมัยผู้มีตำแหน่งเป็นอธิการอารามอีฟแชมระหว่างปี ค.ศ. 1044 ถึง ค.ศ. 1058[5] และเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้นก็มีนักบุญดันสตัน อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

ในปลายคริสต์ศตวรรษสุดท้ายของสมัยศิลปะแองโกล-แซกซัน เป็นสมัยที่มีหลักฐานเกี่ยวกับรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ที่ทำด้วยโลหะ ที่อาจจะทำด้วยแผ่นโลหะบางหุ้มแกนที่ทำด้วยไม้เช่นพระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดของงานประเภทนี้ของรูปลักษณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยยุคกลางตอนต้นที่พบในยุโรป รูปลักษณ์เหล่านี้จะมีขนาดเท่าคนจริงหรือเกือบเท่า และส่วนใหญ่จะเป็นกางเขน แต่บางครั้งก็จะมีพระนางมารีย์พรหมจารีหรือนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารสองข้าง ศิลปะแองโกล-แซกซันนิยมความมีค่าของวัสดุที่ใช้และแสงที่สะท้อนลงบนโลหะมีค่า ที่ใช้ในการปักผ้าหรือในการเขียนภาพบนผนังด้วย

แม้ว่างานชิ้นใหญ่ส่วนใหญ่จะสูญหายไปจนแทบจะหมดสิ้น แต่ก็ยังมีงานชิ้นเล็กหรือชิ้นส่วนของงานที่ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกฝังไว้ - ยกเว้นแต่งานบางชิ้นเช่นเข็มกลัดฟุลเลอร์ และงานสองชิ้นที่ทำในออสเตรียโดยนักสอนศาสนาชาวแองโกล-แซกซัน - ถ้วยทาสซิโล และกางเขนรูเปิร์ต ส่วนเครื่องประดับอัลเฟรดเป็นชุดงานฝีมือที่พบในปี ค.ศ. 1693 ที่มีความงดงามที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้มีการขุดพบสมบัติสตาฟฟอร์ดเชอร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนของงานโลหะกว่า 1,000 ชิ้นที่ส่วนใหญ่เป็นทอง[6]

ประติมากรรมขนาดใหญ่[แก้]

กางเขนรูธเวลล์

นอกไปจากสถาปัตยกรรมแองโกล-แซกซันที่มีให้เห็นในรูปของคริสต์ศาสนสถานแล้ว ก็ยังมีประติมากรรมงานสลักหินขนาดใหญ่ให้เห็นในรูปของกางเขน ที่คล้ายคลึงกับมหากางเขนที่พบในบริเวณเคลต์ของบริเตน กางเขนแองโกล-แซกซันอยู่ในสภาพที่ไม่ไคร่สมบูรณ์เท่าใดนักจากการถูกทำลายในช่วงการทำลายรูปเคารพหลังจากการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ แต่ที่มีอยู่ก็จะเป็นการเขนที่มีรูปลักษณ์ขนาดใหญ่อยู่บนกางเขนที่มีฝีมือพอใช้ได้เช่นกางเขนรูธเวลล์ และ กางเขนบิวคาสเซิล การตกแต่งด้วยไม้เลื้อยบนกางเขนจะพบมากกว่าลายสอดประสาน และมักจะมีคำจารึกอยู่ด้วย บางส่วนของงานแกะสลักเหล่านี้บางครั้งก็จะพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือ จากชิ้นส่วนที่นำไปสร้างเป็นผนังของคริสต์ศาสนสถาน

อ้างอิง[แก้]

  1. Oxford, Bodleian Library, MS Bodl, 579
  2. Dodwell:44-47, 61-83, 216ff
  3. Dodwell:46 and 55, who quotes Goscelin, and Historia:ciii-cv for the other sources.
  4. Dodwell:58, 79-83, 92-3
  5. See Dodwell, passim
  6. Highlights of Anglo-Saxon hoard, The Independent, 24 September 2009, (retrieved 24 September 2009).

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะแองโกล-แซกซัน