ศิลปะแองโกล-แซกซัน
ศิลปะแองโกล-แซกซัน (อังกฤษ: Anglo-Saxon art) คือศิลปะที่สร้างขึ้นในสมัยแองโกล-แซกซันในประวัติศาสตร์อังกฤษโดยเฉพาะตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (ค.ศ. 871-ค.ศ. 899) เมื่อมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมของอังกฤษขึ้น หลังจากการรุกรานของไวกิงยุติลง และมาสิ้นสุดเอาเมื่อนอร์มันพิชิตอังกฤษได้ในปี ค.ศ. 1066 เมื่อศิลปะวิวัฒนาการไปเป็นศิลปะโรมาเนสก์อย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดศิลปะสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นศิลปะที่มีรากเหง้ามาจากศิลปะที่ชาวแองโกล-แซกซันนำติดตัวมาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่จะเห็นได้จากงานโลหะและงานเครื่องประดับอันเป็นงานฝีมืออันมีคุณภาพที่ขุดพบที่ซัททันฮู (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7)
ประวัติ
[แก้]หลังจากเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาแล้ว การผสานระหว่างลวดลายและเทคนิคของแองโกล-แซกซันและของเคลติกก็ทำให้เกิดลักษณะงานศิลปะที่เรียกว่า “ศิลปะไฮเบอร์โน-แซกซัน” หรือ ศิลปะเกาะ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดลายเส้นจากลวดลายตกแต่งงานโลหะ ในช่วงเวลาเดียวกันงานรวบรวมพระวรสารลินดิสฟาร์นในนอร์ทธัมเบรียทางตอนเหนือสุดของอังกฤษเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ งานหนังสือเพลงสวดสดุดีเวสพาเซียนจากแคนเตอร์บรีทางตอนใต้สุดที่นักสอนศาสนาจากโรมใช้เป็นศูนย์กลาง ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะงานที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ที่เป็นงานที่มีพื้นฐานมาจากงานคลาสสิก ลักษณะของศิลปะทั้งสองอย่างดังกล่าววิวัฒนาการขึ้นมาด้วยกันและในร้อยปีต่อมาก็ผสานกันเป็นลักษณะของศิลปะที่เรียกว่าแองโกล-แซกซันอย่างสมบูรณ์
ศิลปะแองโกล-แซกซันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในรูปแบบของหนังสือวิจิตร, สถาปัตยกรรม, งานแกะสลักงาช้างหลายชิ้น และงานโลหะและวัสดุอื่นบ้าง งานปักอังกฤษ ("Opus Anglicanum") ก็เป็นที่รู้จักกันแล้วในเวลานั้นว่าเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่สุดในยุโรป แต่ก็มีเหลือให้เห็นกันอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น - ผ้าปักบายูเป็นงานปักอีกประเภทหนึ่งที่แตกต่างจากงานปักอังกฤษที่เป็นงานปักที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และเช่นเดียวกับในส่วนใหญ่ของยุโรปในเวลานั้น งานโลหะถือกันว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูงโดยแองโกล-แซกซัน แต่ก็แทบจะไม่มีเหลือหรออยู่ เพราะในช่วงสิบปีแรกตั้งแต่การรุกรานของนอร์มัน และต่อมาการปกครองของขุนนางนอร์มัน คริสต์ศาสนสถาน, สำนักสงฆ์ และ ทรัพย์สมบัติของผู้ดีมีตระกูลชาวแองโกล-แซกซันก็ถูกยึด ปล้นสะดม และทำลายไปเป็นอันมาก และสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็เคยมีอยู่บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
หนังสือวิจิตรที่รวมทั้ง “หนังสือประทานพรเซนต์เอเธลโวลด์” ที่มีพื้นฐานมาจากลักษณะงานศิลปะและรูปลักษณ์ที่ใช้ในงานศิลปะเกาะ, ศิลปะการอแล็งเฌียง และ ศิลปะไบแซนไทน์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก็ได้มีการวิวัฒนาการ 'สกุลศิลปะแบบวินเชสเตอร์' ขึ้นที่เป็นการรวมระหว่างธรรมเนียมนิยมของการประดับประดาแบบทางตอนเหนือเข้ากับธรรมเนียมนิยมรูปลักษณ์ของเมดิเตอร์เรเนียน ที่เห็นได้ในงาน 'Leofric Missal'[1] งานเขียนภาพประกอบของแองโกล-แซกซันก็ได้แก่งานวาดด้วยปากกาที่มีชีวิตชีวา เช่นงานชิ้นสำคัญ “หนังสือเพลงสวดสดุดีอูเทร็คท์” แบบการอแล็งเฌียงของแคนเตอร์บรีที่เขียนขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1000 และ “หนังสือเพลงสวดสดุดีฮาร์ลีย์” ซึ่งเป็นงานก็อปปีของหนังสือสวดมนต์อูเทร็ชท์ ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นของวัฒนธรรมแองโกล-แซกซันที่เข้ามารับอิทธิพลของการขยายตัวของงานแบบละตินของยุโรปยุคกลาง ภาพวาดแองโกล-แซกซันมามีอิทธิพลต่อทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเป็นอันมากตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่เรียกกันว่า 'สกุลศิลปะช่องแคบ' (Channel school)
งานที่เห็นจะเป็นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของศิลปะแองโกล-แซกซันก็เห็นจะเป็นงานผ้าปักบายูที่เป็นงานที่จ้างโดยชาวแองโกล-นอร์มัน โดยว่าจ้างช่างชาวอังกฤษที่ปักงานแบบแองโกล-แซกซัน นอกจากนั้นศิลปินแองโกล-แซกซันยังทำงานเขียนจิตรกรรมฝาผนัง, งานสลักหิน, งานสลักงาช้าง และ งานสลักกระดูกวาฬ (โดยเฉพาะหีบแฟรงค์), งานโลหะ (เช่นเข็มกลัดฟุลเลอร์), งานแก้วของแองโกล-แซกซัน และ งานเคลือบ ตัวอย่างงานเหล่านี้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือ บางชิ้นก็เป็นงานที่ได้รับการอนุรักษ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะคริสต์ศาสนสถานบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ในอังกฤษเองนั้นหางานเหล่านี้ดูได้ยาก เพราะการรุกรานของไวกิงและนอร์มัน และ การปฏิรูป ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของศิลปะแองโกล-แซกซันไปจนแทบสิ้นทราก
รูปลักษณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยแองโกล-แซกซันที่รวมทั้งสัตว์ที่มีปากเป็นปากนรก (Hellmouth) และ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูที่แสดงส่วนที่เป็นเพียงขาและเท้าตอนบนของภาพที่เกือบจะถูกกลืนหายสู่เบื้องบน รูปลักษณ์ทั้งสองแบบดังกล่าวได้รับการนำไปใช้โดยทั่วไปในยุโรปต่อมา
งานโลหะ
[แก้]งานโลหะของแองโกล-แซกซันเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงอิตาลี แต่ก็แทบจะไม่มีเหลืออยูให้เห็นหลังจากการรุกรานของนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 และการปฏิรูปศาสนาต่อมา[2] งานบางชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงโดยศิลปินของอารามสเปียร์ฮาฟ็อคที่ไม่มีชิ้นใดเหลืออยู่เป็นงานโลหะมีค่า สเปียร์ฮาฟ็อคเป็นศิลปินผู้เดียวจากยุคนั้นที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งตัวบุคคลและผลงาน จากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งรวมทั้งจากนักบันทึกประวัติศาสตร์นอร์มันกอสเซอลินผู้รู้จักสเปียร์ฮาฟ็อค กล่าวถึงสเปียร์ฮาฟ็อคว่า “เป็นผู้มีฝีมือในการเขียนภาพ, การสลักทอง และ การทำงานช่างทอง” อาจจะเป็นได้ว่าเพราะความมีฝีมือทำให้สเปียร์ฮาฟ็อคได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับเจ้านาย และทำให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วในสถาบันศาสนา[3] แม้ว่าจะเป็นรายละเอียดอย่างหยาบๆ ที่ส่วนใหญ่บรรยายโดยกอสเซอลิน แต่กระนั้นก็ยังเป็นหลักฐานอันมีค่าเกี่ยวกับลักษณะงานโลหะของแองโกล-แซกซัน นอกจากนั้นฝีมือในด้านการสลักทอง, ออกแบบ และ สลักรูปลักษณ์ลงบนทองของแองโกล-แซกซันก็ยังได้รับการกล่าวถึงในบันทึกในหลักฐานของชาวต่างประเทศอีกด้วย การเขียนภาพบนผนังที่บางครั้งดูเหมือนจะมีทองผสมอยู่ด้วยมักจะเขียนโดยช่างเขียนหนังสือวิจิตร คำบรรยายของกอสเซอลินถึงฝีมือของศิลปินแองโกล-แซกซันดูเหมือนจะถือกันว่าช่างทองเป็นช่างฝีมืออันดับหนึ่งในบรรดาช่างสาขาต่างๆ[4]
ศิลปินประจำอารามหลายคนได้รับตำแหน่งสูงๆ ความสามารถของสเปียร์ฮาฟ็อคเทียบเท่ากับฝีมือของแมนนิกศิลปินร่วมสมัยผู้มีตำแหน่งเป็นอธิการอารามอีฟแชมระหว่างปี ค.ศ. 1044 ถึง ค.ศ. 1058[5] และเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้นก็มีนักบุญดันสตัน อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
ในปลายคริสต์ศตวรรษสุดท้ายของสมัยศิลปะแองโกล-แซกซัน เป็นสมัยที่มีหลักฐานเกี่ยวกับรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ที่ทำด้วยโลหะ ที่อาจจะทำด้วยแผ่นโลหะบางหุ้มแกนที่ทำด้วยไม้เช่นพระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดของงานประเภทนี้ของรูปลักษณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยยุคกลางตอนต้นที่พบในยุโรป รูปลักษณ์เหล่านี้จะมีขนาดเท่าคนจริงหรือเกือบเท่า และส่วนใหญ่จะเป็นกางเขน แต่บางครั้งก็จะมีพระนางมารีย์พรหมจารีหรือนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารสองข้าง ศิลปะแองโกล-แซกซันนิยมความมีค่าของวัสดุที่ใช้และแสงที่สะท้อนลงบนโลหะมีค่า ที่ใช้ในการปักผ้าหรือในการเขียนภาพบนผนังด้วย
แม้ว่างานชิ้นใหญ่ส่วนใหญ่จะสูญหายไปจนแทบจะหมดสิ้น แต่ก็ยังมีงานชิ้นเล็กหรือชิ้นส่วนของงานที่ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกฝังไว้ - ยกเว้นแต่งานบางชิ้นเช่นเข็มกลัดฟุลเลอร์ และงานสองชิ้นที่ทำในออสเตรียโดยนักสอนศาสนาชาวแองโกล-แซกซัน - ถ้วยทาสซิโล และกางเขนรูเปิร์ต ส่วนเครื่องประดับอัลเฟรดเป็นชุดงานฝีมือที่พบในปี ค.ศ. 1693 ที่มีความงดงามที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้มีการขุดพบสมบัติสตาฟฟอร์ดเชอร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนของงานโลหะกว่า 1,000 ชิ้นที่ส่วนใหญ่เป็นทอง[6]
ประติมากรรมขนาดใหญ่
[แก้]นอกไปจากสถาปัตยกรรมแองโกล-แซกซันที่มีให้เห็นในรูปของคริสต์ศาสนสถานแล้ว ก็ยังมีประติมากรรมงานสลักหินขนาดใหญ่ให้เห็นในรูปของกางเขน ที่คล้ายคลึงกับมหากางเขนที่พบในบริเวณเคลต์ของบริเตน กางเขนแองโกล-แซกซันอยู่ในสภาพที่ไม่ไคร่สมบูรณ์เท่าใดนักจากการถูกทำลายในช่วงการทำลายรูปเคารพหลังจากการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ แต่ที่มีอยู่ก็จะเป็นการเขนที่มีรูปลักษณ์ขนาดใหญ่อยู่บนกางเขนที่มีฝีมือพอใช้ได้เช่นกางเขนรูธเวลล์ และ กางเขนบิวคาสเซิล การตกแต่งด้วยไม้เลื้อยบนกางเขนจะพบมากกว่าลายสอดประสาน และมักจะมีคำจารึกอยู่ด้วย บางส่วนของงานแกะสลักเหล่านี้บางครั้งก็จะพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือ จากชิ้นส่วนที่นำไปสร้างเป็นผนังของคริสต์ศาสนสถาน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Oxford, Bodleian Library, MS Bodl, 579
- ↑ Dodwell:44-47, 61-83, 216ff
- ↑ Dodwell:46 and 55, who quotes Goscelin, and Historia:ciii-cv for the other sources.
- ↑ Dodwell:58, 79-83, 92-3
- ↑ See Dodwell, passim
- ↑ Highlights of Anglo-Saxon hoard, The Independent, 24 September 2009, (retrieved 24 September 2009).
- "Anglo-Saxon art". In Encyclopædia Britannica Online.
- Dodwell, C.R.; Anglo-Saxon Art, A New Perspective, 1982, Manchester UP, ISBN 0-7190-0926-X
- Historia Ecclesie Abbendonensis: The History of the Church of Abingdon, Translated by John Hudson, Oxford University Press, 2002, ISBN 0-19-929937-4
- Wilson, David M.; Anglo-Saxon: Art From The Seventh Century To The Norman Conquest, Thames and Hudson (US edn. Overlook Press), 1984.
ดูเพิ่ม
[แก้]- แองโกล-แซกซัน
- ศิลปะสมัยกลาง
- ศิลปะนอร์ส
- ศิลปะสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรป
- หนังสือวิจิตร
- สถาปัตยกรรมแองโกล-แซกซัน
- อังกฤษสมัยแองโกล-นอร์มัน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะแองโกล-แซกซัน