ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การแก้ความกำกวม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแก้ความกำกวมในวิกิพีเดีย เป็นขบวนการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเมื่อคำ ๆ หนึ่งกำกวม คือ เมื่อคำนั้นอ้างถึงบทความวิกิพีเดียมากกว่าหนึ่งหัวข้อ ตัวอย่างเช่น คำว่า "งาน" สามารถหมายถึง ภาระหน้าที่, อาชีพ, ปริมาณในทางฟิสิกส์, หน่วยวัดพื้นที่ของไทย ฯลฯ หลักสำคัญของการแก้ความกำกวมมีอยู่สามข้อ ดังนี้

  • ตั้งชื่อบทความในทางที่ให้แต่ละบทความมีชื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น หลายบทความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เดิมชื่อว่า "งาน" จะตั้งชื่อเป็น งาน (ฟิสิกส์), งาน (หน่วยวัดพื้นที่) เป็นต้น
  • ทำลิงก์คำกำกวมชี้ไปยังชื่อบทความที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนบทความทางฟิสิกส์อาจสร้างลิงก์ไปยัง [[งาน]] ซึ่งควรแก้ให้ชี้ไปยังงาน (ฟิสิกส์) แทน
  • ประกันว่าผู้อ่านที่ค้นหาหัวข้อโดยใช้คำหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนั้นได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ไม่ว่าหัวข้อที่เป็นไปได้นั้นจะเป็นเช่นไร ตัวอย่างเช่น หน้างานเป็นหน้าแก้ความกำกวม คือ หน้าที่มิใช่บทความซึ่งมีรายการความหมายต่าง ๆ ของ "งาน" และลิงก์ไปยังบทความที่ครอบคลุม (อย่างไรก็ดี คำกำกวมไม่จำเป็นต้องมีหน้าแก้ความกำกวมเสมอไป ดังที่อภิปรายด้านล่าง)

เมื่อใดที่ควรแก้ความกำกวม

  • ถ้าคำสองคำหรือมากกว่า มีความหมายแตกต่างกัน โดยที่น้ำหนักหรือระดับความสำคัญของสองข้อความเท่ากัน ให้ใช้หน้าหลักเป็นหน้าแก้ความกำกวม โดยเขียนข้อความอธิบาย และแสดงรายชื่อบทความโยงไปหาหัวข้อที่มีความตรงกัน เช่น วอชิงตัน สามารถหมายถึง รัฐวอชิงตัน, จอร์จ วอชิงตัน หรือ วอชิงตัน ดี.ซี. ได้
  • ถ้าคำสองคำหรือมากกว่า มีความหมายแตกต่างกัน และน้ำหนักหรือระดับความสำคัญของความหมายเน้นไปทางใดมากกว่า ให้ใช้หน้านั้นเป็นหน้าหลักเหมือนเดิม และใส่ {{ความหมายอื่น}} ที่บนสุดของบทความเพื่อโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวม จากนั้นสร้างหน้าแก้ความกำกวม โดยใช้ชื่อหน้าชื่อเดียวกันและเติมคำว่า " (แก้ความกำกวม) " ต่อท้าย เช่น รัฐ (แก้ความกำกวม) โดยหน้าบทความรัฐมีการโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวม หรือถ้าคำอื่นมีความหมายอื่นแค่คำเดียว ให้ใช้ {{ความหมายอื่น}} โยงไปถึงหัวข้อนั้นที่บนสุดของบทความ

การโยง

การโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวม

โดยมากแล้ว การโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวมเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ลิงก์ควรจะโยงไปยังบทความที่กล่าวถึงเรื่องที่ต้องการโดยตรง อนึ่งจุดประสงค์ของหน้าแก้กำกวมคือให้ผู้อ่านที่เข้ามายังหน้านี้โดยตรงสามารถหาบทความที่เขากำลังมองหาอยู่ได้ ดังนั้นหน้าแก้ความกำกวมจึงไม่นับเป็นบทความ

เมื่อไหร่ที่ควรจะโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวม

มีข้อยกเว้นที่การโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวมเป็นเรื่องที่เหมาะสม ได้แก่

  • ข้อความชี้แจงเรื่องความหมายอื่นในบทความต่าง ๆ เช่น หน้าไอโอเอส มีข้อความชี้แจงที่บนสุดของหน้า ซึ่งโยงไปยังหน้าไอโอเอส (แก้ความกำกวม) อย่างไรก็ตาม การสร้างข้อความชี้แจงนี้ควรใช้แม่แบบ {{ความหมายอื่น}} คุณไม่ควรสร้างลิงก์ภายในโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวมด้วยตัวเอง
  • ลิงก์จากหน้าแก้ความกำกวมไปยังหน้าแก้ความกำกวมอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกัน ในกรณีนี้อาจใช้ลิงก์ภายในในการโยงลิงก์ได้โดยตรง เช่น โซโลมอน (แก้ความกำกวม) อาจโยงไปยังหน้า ซาโลมอน (ซึ่งเป็นหน้าแก้ความกำกวมด้วยเช่นกัน)
  • หน้ารายชื่อศัพท์หรือชื่อ อาจมีข้อความชี้แจงเรื่องความหมายอื่น ๆ เช่น หน้าอารอน (นามสกุล) อาจมีข้อความชี้แจงที่บนสุดของหน้า ซึ่งโยงไปยังหน้าอารอน (แก้ความกำกวม) อย่างไรก็ตาม การสร้างข้อความชี้แจงนี้ควรใช้แม่แบบ {{ความหมายอื่น}} คุณไม่ควรสร้างลิงก์ภายในโยงไปยังหน้าแก้ความกำกวมด้วยตัวเอง
  • หน้าเปลี่ยนทาง
  • โยงเมื่อเนื้อหาตั้งใจกล่าวถึงสิ่งที่มีหลายความหมาย เช่น
    ... จันทราใช้คอมพิวเตอร์ SAL ในการวิเคราะห์ผลหลายอย่าง เมื่อจันทราสั่งให้คอมพิวเตอร์ SAL ลองวิเคราะห์ดูว่าทำไมคำว่า "[[ฟีนิกซ์ (ตำนาน)|ฟีนิกซ์]]" ถึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อรหัสโครงการ คอมพิวเตอร์ SAL ก็พบว่าคำว่าฟีนิกซ์มี[[ฟีนิกซ์ (แก้ความกำกวม)|หลายความหมาย]] และเลือก...
    • หากการโยงนั้นต้องการที่จะให้ความหมายหรือนิยามของคำนั้น ควรโยงไปยังวิกิพจนานุกรมแทน เพราะหน้าแก้ความกำกวมไม่ใช่หน้าคำนิยาม