วัดใหม่ทองเสน

พิกัด: 13°47′39″N 100°31′17″E / 13.794182°N 100.521464°E / 13.794182; 100.521464
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

13°47′39″N 100°31′17″E / 13.794182°N 100.521464°E / 13.794182; 100.521464

วัดใหม่ทองเสน
พระป่าเลไลยก์
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 74 ซอยวัดใหม่ทองเสน ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระป่าเลไลยก์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดใหม่ทองเสน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดใหม่ทองเสน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2365 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2371[1] สร้างโดยพระธรรมอุดม (ถึก) ร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขณะที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิตติ พระธรรมอุดม (ถึก) ประสงค์อุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดามารดาของท่านที่ชื่อทองและเสน จึงให้ชื่อว่า "วัดใหญ่ทองเสน" โดยได้สร้างวัดลึกเข้าไปในป่าที่เป็นไร่สวนในสมัยนั้น ภายหลังได้ขุดเป็นคลองเพื่อต่อเชื่อมออกมาสู่คลองบางซื่อด้านหนึ่งและอีกด้านหนึ่งไปต่อเชื่อมกับคลองบางกระบือ จึงเรียกคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า คลองวัดใหญ่ทองเสน (คลองวัดใหม่ทองเสน) แต่เนื่องจากวัดใหม่ทองเสนเป็นวัดใหญ่ ชาวบ้านจึงเข้าใจผิดว่าเป็นสองวัด เรียกสองวัดว่าวัดใหญ่ทองเสนและวัดป่า (ป่าเลไลยก์) คล้ายกับว่าเป็นวัดแฝด

ต่อมาเมื่อสิ้นบุญท่านเจ้าพระคุณทั้งสองแล้ว วัดใหญ่ทองเสนได้กลายเป็นวัดร้าง จนประมาณปี พ.ศ. 2430 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดร้างแห่งนี้ไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำเลยแม้แต่รูปเดียว พระอธิการปั้นได้ตรวจดูสภาพวัด เห็นว่าอุโบสถ หอไตร และวิหาร ทั้งองค์พระป่าเลไลยก์ยังมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเสียหาย ท่านจึงดำเนินพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน วัดใหญ่ทองเสนและวัดป่าเลไลยก์รวมกันแล้วเหลือพื้นที่ไม่ถึง 10 ไร่ ท่านจึงให้รวมเป็นวัดเดียวกันโดยให้ชื่อใหม่ว่า "วัดใหม่ทองเสน"[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระป่าเลไลยก์ แต่เดิมก่อสร้างด้วยปูนปั้นเป็นองค์ลงรักสีดำทั้งองค์ สูง 9 เมตร แต่ปัจจุบันได้บูรณะลงรักปิดทองสีเหลืองทองดูสวยงาม โดยได้สร้างวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปมณฑปสี่เหลี่ยมไว้เป็นที่ประทับ

พระอุโบสถมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร หลังคาสูง 2 ชั้น ยื่นออกมาจากผนังน้อยมาก จึงไม่มีทวยไม้ค้ำรับ ไม่มีช่อฟ้า แต่ตรงขอบยางหลังคาเป็นรูปปั้นลายกนกตลอดแนว หน้าบันพระอุโบสถทำเป็นลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับด้วยกระจกสีหน้าอุโบสถ[3] อุโบสถมีประตูเดียว แต่ทางด้านข้างทั้งสองข้างทำประตูไว้อีกข้างละหนึ่งประตู ด้านข้างสองข้างมีหน้าต่างข้างละ 5 บาน ด้านหลังพระอุโบสถมีประตูเข้าอีกหนึ่งประตู ภายนอกมีใบเสมาคู่ทำด้วยหิน ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นงานปูนปั้นเป็นลวดลายศิลปะจีนผสมบาโรก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นลวดลายบัวจำหลักและมีผ้าทิพย์ พระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์คือ พระไสยาสน์ ที่จำลองมาจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เอาผงเสกของหลวงปู่โตไปบรรจุใต้ฐานพระนอนองค์นี้ด้วย

หอไตรสร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ แต่เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อมาทางกรมศิลปากรได้มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543 บนบานประตูเป็นลายรดน้ำ ตามผนังและเพดานเป็นลวดลายดอกไม้ ส่วนหอระฆังสร้างด้วยอิฐถือปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลม[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดใหม่ทองเสน". พระสังฆาธิการ.
  2. "ประวัติวัดใหม่ทองเสน".
  3. หนุ่มลูกทุ่ง (13 ธันวาคม 2554). "ขอพรพระป่าเลไลยก์องค์ใหญ่ที่ "วัดใหม่ทองเสน"". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "วัดใหม่ทองเสน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.