วัดใหญ่อินทาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดใหญ่อินทาราม
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระชัยสิทธิสุนทร (วรนัยน์ กตทีโป ป.ธ.3) (รองเจ้าคณะอำเภอเมืองชลบุรี)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดใหญ่อินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่เลขที่ 858 ถนนเจตน์จำนงค์ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

อดีตเจ้าอาวาส พระราชสิทธิวิมล (เอนก ฐานิสฺสโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดใหญ่อินทารามเป็นวัดเก่าแก่โบราณมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนครินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จประพาสเมืองชลบุรีโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อเสด็จฯมาถึงบริเวณนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นทิวทัศน์อันน่ารื่นรมย์ไปด้วยแมกไม้ชายทะเล วิเวก ได้ยินเสียงคลื่นลมในยามราตรีกาล เหมาะสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ ผู้มุ่งหวังต่อการปฏิบัติธรรม จึงมีพระราชศรัทธาได้สร้างวัดขึ้นมาและพระราชทานนามพระอารามสอดคล้องกับพระราชนามของพระองค์ว่า "วัดอินทาราม" แต่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากต่อมาว่า "วัดใหญ่" ปัจจุบันจึงเรียกว่าวัดใหญ่อินทาราม

สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้เคยเสด็จฯมาพักรวบรวมไพร่พล เพื่อกอบกู้เอกราช และปราบนายทองอยู่น้อย หรือนายทองอยู่นกเล็ก ที่ประพฤติตนเป็นมิจฉาชีพ เที่ยวเป็นโจรสลัดปล้นเรือสำเภา

วัดใหญ่อินทาราม ได้รับการประกาศจากทางราชการ ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2335 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2518

ปัจจุบัน พระชัยสิทธิสุนทร (วรนัยน์ กตทีโป) เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง(รองเจ้าคณะอำเภอเมืองชลบุรี)

หลวงพ่อเฉย[แก้]

หลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคูเมืองชลบุรี ลักษณะเป็นพระพุทธปฏิมาสำริดทรงเครื่อง ศิลปะสมัยอยุธยา เดิมทีหลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปประจำอยู่วัดสมรโกฏ เป็นวัดที่สร้างในยุคเดียวกับวัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) แต่ต่อมาภายหลังวัดสมรโกฏไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง จึงกลายเป็นวัดร้าง และวิหารที่ประทับของหลวงพ่อเฉยก็ชำรุดทรุดโทรม ขาดผู้บูรณะซ่อมแซม จึงผุพังไปตามกาลเวลา ทำให้หลวงพ่อเฉยต้องประดิษฐานประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดและลมฝนอยู่นานหลายปี เป็นที่สังเวชต่อสายตาของผู้พบเห็นยิ่ง ชาวบ้านจึงได้ขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อเฉย" เพราะท่านประทับนั่งเฉยอยู่กลางแจ้ง ฝนตก แดดออก ถูกต้องท่าน ท่านก็ไม่ได้บ่นได้ว่าอะไร ต่อมา ชาวบ้านจึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญย้ายท่านจากวัดร้างสมรโกฏมาอยู่ ณ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง)

เพื่อให้ประชาชนได้สักการะหลวงพ่อเฉย ในช่วงเทศกาลงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี วัดใหญ่อินทาราม จึงได้สร้างหลวงพ่อเฉยองค์จำลองขึ้น เพื่อนำแห่รอบเมืองชลบุรี แต่ด้วยเป็นพระพุทธรูปจำลององค์ใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนและมีขนาดเท่าองค์จริง มีน้ำหนักมาก จึงนำขึ้นแห่ได้เพียงปีเดียว และได้อัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้กราบไหว้ที่บริเวณด้านล่างภายในวัดอีกองค์หนึ่งด้วย

หลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปที่มีบารมีอิทธิฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เด็กเล็กๆ ที่เจ็บป่วยออดแอด สามวันดีสี่วันไข้ กลับกลายเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายอย่างน่าพิศวง ชาวบ้านที่มีลูกเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ มักจุดธูปเทียน ถวายเป็นลูกหลวงพ่อเฉย โดยจะฉีกชายจีวรที่ห่มคลุมองค์หลวงพ่อไปผูกข้อมือเด็ก เด็กก็จะหายโรค หายภัย เลี้ยงง่าย เมื่อเห็นว่าผ้าเหลืองที่คลุมองค์หลวงพ่อถูกฉีกไปมากเข้า ชาวบ้านก็จะมีศรัทธานำจีวรมาห่มให้ใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น หรือหากผู้ใดของหาย เมื่อเข้ามาบนบานต่อหลวงพ่อเฉยแล้ว ก็จะได้ของคืนเกือบทุกราย จึงเป็นที่เคารพสักการบูชาอยู่เสมอมา

การเดินทาง[แก้]

วัดใหญ่อินทาราม จากถนนสุขุมวิท บริเวณสี่แยกไปอำเภอพนัสนิคม (สี่แยกเฉลิมไทย) เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนโพธิ์ทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจตน์จำนงค์ประมาณ 300 เมตร วัดตั้งอยู่ริมถนนห่างจากศาลากลางจังหวัดชลบุรีประมาณ 500 เมตร