วัดโพธิ์ราม
วัดโพธิ์ราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดโพธิ์ราม, วัดโคกโพธิ์ราม |
ที่ตั้ง | ซอยพุทธมณฑล สาย 1 ซอย 14 ถนนพุทธมณฑล สาย 1 แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดโพธิ์ราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่อยู่ราว 6 ไร่เศษ
วัดโพธิ์รามหรือเดิมเรียกว่า วัดโคกโพธิ์ราม เคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าถึงสมัยอยุธยาจำพวกเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน-แม่น้ำน้อยสมัยอยุธยา[1] ผู้สูงวัยเล่าว่า บริเวณที่ตั้งวัดเรียกว่า โคกวัด เพราะแถวนี้พื้นสูงกว่าบริเวณรอบ ๆ กับมีต้นตาลขึ้นอยู่กลางต้นโพธิ์ใหญ่ จนราว พ.ศ. 2500 นายแช่มและนางแช่ม (สองสามีภรรยาชื่อเดียวกัน) เข้ามาใช้เป็นพื้นที่ทำนาอยู่หลายปี ชาวบ้านมักนิมนต์พระมาฉันเพลที่โคกวัดแห่งนี้ จนราว พ.ศ. 2535 ชาวบ้านขอให้พระอาจารย์ทองใบ ถานฑตฺโต จากวัดอินทราวาส (วัดประดู่) มาอยู่ที่วัดร้างแห่งนี้ ต่อมาท่านและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างเป็นสำนักสงฆ์เมื่อราว พ.ศ. 2536 เมื่อจะตั้งเป็นวัดจึงทราบจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสอบถามคนเฒ่าคนแก่เพิ่มเติมว่า เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ "วัดโพธิราม" ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาหรือต้นกรุงธนบุรี และเชื่อว่าพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำทัพผ่านมาพัก ณ ลานโพธิ์บริเวณนี้และได้สร้างเป็นวัดขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2539 กระทรวงศึกษาธิการประกาศยุบเลิกวัดโพธิ์ราม[2]
ต่อมาได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์อีกครั้ง โดยสร้างศาลาการเปรียญคอนกรีตสองชั้น (สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2549) กุฏิสงฆ์ เรือนไม้สองชั้นอีก 3 หลัง ในช่วงที่เป็นวัดร้าง ที่ดินของวัดได้กลายเป็นสาธารณสมบัติกลางซึ่งมีกรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และสมัยหนึ่งได้ให้กรรมสิทธิ์บุคคลครอบครอง ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดิน อีกทั้งทางเข้าวัดยังต้องผ่านที่ดินส่วนบุคคลอีกสามราย คือ หมู่บ้านเบลวีเดียร์ หมู่บ้านอบอุ่น และที่ดินของเอกชน อย่างไรก็ตาม พระครูปลัดสุชิน ฐิตปุญฺโญ ก็ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดขึ้นใหม่บนที่ดินนั้น และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศตั้งเป็นวัดโดยใช้ชื่อว่า "วัดโพธิ์ราม"[3]
ภายในวัดมีศาลตาปู่ยายปู่ที่โคนโพธิ์ใหญ่ สร้างเมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2536 ด้านในมีรูปปั้นตายาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในบริเวณนี้และเคยติดต่อกับพระอาจารย์ทองใบทางญาณ[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประภัสสร์ ชูวิเชียร. "สำรวจ "วัดร้าง" ในบางกอก วัดที่ไม่ได้ใช้ถูกแบ่งพื้นที่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นอยู่ร่วม". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยุบเลิกวัดโพธิ์ราม (ร้าง)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
- ↑ "ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง การตั้งวัดในพระพุทธศาสนา [วัดโพธิ์ราม]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
- ↑ วิชญดา ทองแดง. "(๑๑) วัดโพธิราม-วัดโคกโพธิ์ราม".