วัดโคกมะเฟือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโคกมะเฟือง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโคกมะเฟือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

วัดโคกมะเฟืองตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2417 ประวัติการสร้างวัดมีอยู่ 2 แบบ คือ มีนายไชย พรหมสกุลเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดและได้นิมนต์พระวินัยธรรม (จุ้ย) จากวัดชลธาราสิงเหเป็นเจ้าอาวาส โดยพระวินัยธรรม (จุ้ย) เป็นผู้แกะสลักตลอดจนปั้นรูปประติมากรรม[1] อีกประวัติระบุว่า พระครูโอภาษพุทธคุณ (พุด อินทโชโต) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห เป็นผู้สร้าง[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2441 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 17 เมตร ยาว 21.50 เมตร และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2446

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถเครื่องก่อทรงโรง มีเฉลียงรอบกว้าง 9.50 เมตร ยาว 15 เมตร เครื่องบนมีช่อฟ้า ตัวลำยอง ใบระกา หางหงส์ซึ่งเป็นรูปหัวนาค หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นเขียนสีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หน้าบันด้านหลังเป็นภาพวิมาน พระอินทร์อยู่บนหลังช้างเอราวัณ ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางสมาธิ และมีพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยขนาดเล็กประดิษฐานอยู่ด้านข้าง ด้านละ 1 องค์ เบื้องหลังพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วล้อมรอบด้วยต้นไม้ ด้านนอกอุโบสถมีใบเสมาเป็นปูนปั้น ขนาดยาว 59 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร หนา 3.5 เซนติเมตร กุฏิไม้มี 3 หลัง และหอระฆังอยู่ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ เป็นอาคารไม้เสาคอนกรีต หลังคาจัตุรมุข ยอดมณฑปประดับตกแต่งด้วย ใบระกา หางหงส์ หน้าบันลายพรรณพฤกษาและเทพนม[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรรณิกา ณ สงขลา. จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ชุดที่ 002 เล่มที่ 3 วัดชลธารสิงเห. กรุงเทพฯ : ฝ่ายประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535. 75.
  2. ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนราธิวาส. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2545. 169
  3. "วัดโคกมะเฟือง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.