วัดเทพพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเทพพล
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเทพพล, วัดใหม่, วัดใหม่บางพรม, วัดใหม่เทพพล
ที่ตั้งเลขที่ 30 ถนนบางพรม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธพักตร์มุนีเทพพล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเทพพล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดเทพพลอาจเรียกว่า วัดใหม่ วัดใหม่บางพรม หรือ วัดใหม่เทพพล จากข้อมูลของกรมการศาสนาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2108 (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) แต่อีกข้อมูลหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2513 พบแผ่นไม้มีจารึกระบุปี พ.ศ. 2306 พออ่านได้ว่านายแสงกับนางฉิม สร้างพระพุทธรูปและก่อเจดีย์[1] (ปัจจุบันเข้าใจว่าจารึกนี้สูญหาย) แต่เดิมเคยมีเจดีย์ทรงมอญองค์ใหญ่ แต่ถูกรื้อคงเหลือแต่ใบเสมาดินเผา

ในสมัยพระครูวิศิษฎ์บุญญาคม (บุญมา จันทูปโม) เป็นเจ้าอาวาส มีการก่อสร้างเขื่อนริมคลองลัดวัดใหม่และทำกำแพงล้อมรอบวัด สร้างสะพานข้ามคลองด้านหลังวัด ประชาชนได้ช่วยกันบริจาคซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่และศาลาการเปรียญในปัจจุบัน มีการหล่อหลวงพ่อใหญ่และดำเนินการนำไฟฟ้าเข้ามาในวัด ต่อมาในสมัยพระครูสิทธิธรรมโสภณ (สุเทพ ภูริปญฺโญ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ย้ายกุฏิสงฆ์ที่มีอยู่เดิมไปปลูกขึ้นใหม่ สร้างศาลาการเปรียญสองชั้น หอสวดมนต์ วิหารหลวงพ่อใหญ่ วิหารหลวงพ่อปาน หอระฆัง มณฑป ศาลาอเนกประสงค์ เมรุ ซุ้มประตูทางเข้าวัด กำแพงด้านหน้าวัด อุโบถหลังปัจจุบัน และวิหารหลวงปู่เทพโลกอุดร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถหลังใหม่มีหน้าบันเป็นลายธรรมจักร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงวิถีชีวิต ประเพณี และการละเล่นต่าง ๆ ภายในประดิษฐานพระประธาน นามว่า พระพุทธพักตร์มุนีเทพพล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระวิหารซึ่งแต่เดิมคืออุโบสถหลังเก่า มีลักษณะทรงไทย หน้าบันด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ พระเจดีย์ศรีเทพพลสร้างในปี พ.ศ. 2559 ศาลาหลวงปู่เทพโลกอุดร ภายในประดิษฐานองค์หลวงปู่เทพโลกอุดร ภายนอกมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มณฑปหลวงพ่อโสธรหลวงปู่เจียมอดีตเจ้าอาวาส วิหารหลวงพ่อใหญ่ วิหารหลวงปู่ปาน และศาลาการเปรียญ

งานประเพณี[แก้]

งานประจำปีจะมีในช่วงตรุษไทย ราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน (ก่อนสงกรานต์ 3 วัน)

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • หลวงปู่รื่น
  • หลวงปู่ทุม
  • หลวงปู่แปล่ง
  • หลวงปู่เจียม
  • พระอาจารย์เปรื่อง
  • พระอาจารย์บุญมา
  • พระอาจารย์สุเทพ
  • พระครูวินัยธรยศดนัย อภิเสฏโฐ (เจ้าอาวาสปัจจุบัน)

อ้างอิง[แก้]

  1. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 247.
  2. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.