วัดเขาบันไดอิฐ
วัดเขาบันไดอิฐ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ถนนเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูโสภณพัฒนกิจ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเขาบันไดอิฐ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บนยอดเขาบันไดอิฐ ในตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ประวัติ
[แก้]วัดเขาบันไดอิฐเชื่อกันว่าเป็นศาสนสถานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี แต่หลักฐานในทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่เป็นยุคช่วงกลางของกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. 2171 ในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราชได้จับพระศรีศิลป์ (เชื้อสายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) เนรเทศมาคุมขังในถ้ำภายใต้เขาบันไดอิฐแห่งนี้ ก่อนที่จะนำกลับไปสำเร็จโทษที่อยุธยา
ส่วนอีกตำนานระบุว่า ราว พ.ศ. 2240 ที่นี่เป็นที่ที่พระอาจารย์แสงผู้ชำนาญเรื่องเวทย์มนต์คาถาและเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี เคยอาศัยเป็นที่นั่งวิปัสสนา และพระเจ้าเสือเคยมาที่นี่ประจำก่อนออกศึกทุกครั้ง พระอาจารย์แสงอยู่จนกระทั่งมรณภาพ จึงถือว่า พระอาจารย์แสงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเขาบันไดอิฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระอาจารย์แสงมาจำพรรษาที่นี่ พระเจ้าเสือก็เสด็จมาเยือนหลายครั้ง และนิมนต์กลับกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่สำเร็จ จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดเขาบันไดอิฐ สร้างพระพุทธรูปปางประทับยืนไว้ในถ้ำ (ชาวบ้านเรียกพระพุทธเจ้าเสือ) และได้พระราชทานเรือแก่พระอาจารย์เพื่อใช้ในการสัญจรไปมา (ปัจจุบันประทุนเรือยังเก็บไว้ภายในถ้ำพระเจ้าเสือ)[1]
เมื่อครั้งสุนทรภู่เดินทางมาเพชรบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2388–2392 ได้ประพันธ์นิราศเมืองเพชร ได้พรรณาถึงวัดเขาบันไดอิฐ
ถ้ำและเสนาสนะ
[แก้]เขาบันไดอิฐ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขาขนาดเล็กซึ่งมีความสูง 121 เมตร และบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาบันไดอิฐ[2] จุดเด่นของวัดแห่งนี้ก็คือมีถ้ำอยู่มากมาย ดังนี้ ถ้ำประทุนสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถ้ำพระเจ้าเสือมีพระพุทธรูปปางประทานพร (ปางเปลื้องทุกข์) เล่ากันว่าพระเจ้าเสือเคยมาที่นี่ ถ้ำพระนอน มีพระปางไสยาสน์สีทอง ถ้ำพระจันทร์ ด้านบนเหมือนพระจันทร์ทรงกลด ถ้ำพระอาทิตย์ ด้านบนมีช่องกว้างกว่าช่องตรงถ้ำพระจันทร์ ถ้ำปู่ฤาษีตาไฟ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่และมีรูปปั้นพ่อปู่ฤาษีห่มหนังเสือ และถ้ำดุ๊ค ซึ่งดยุกจากเยอรมนีสหายรัชกาลที่ 5 ดยุกจอห์นอัลเบิร์ตแห่งเมคเลินบวร์ค (Duke John Albert of Mecklenburg) เคยมานั่งสมาธิที่นี่
กลุ่มโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บนไหล่เขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย อุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูนมีฐานปัทม์อ่อนโค้ง หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายกระหนกก้านขด หางโตมีก้านลายเป็นภาพครุฑ อันเป็นลวดลายปูนปั้นที่งดงาม โครงสร้างไม้หลังคาทุกชิ้นเขียนลายสีขาวบนพื้นแดง ทางด้านทิศตะวันออกของอุโบสถมีวิหารตั้งเรียงต่อในแนวเดียวกัน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนฐานปัทม์อ่อนโค้ง เจดีย์อยู่ระหว่างอุโบสถและวิหาร ฐานเจดีย์เป็นฐานสิงห์ มีระเบียงเตี้ย ๆ ล้อมรอบ ตัวระเบียงมีกระเบื้องเคลือบปรุลายจีนสีเขียวประดับ[3]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอาจารย์แสง ในสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา
- หลวงพ่อมั่น
- หลวงพ่อแดง
- พระอธิการทองอยู่
- พระอธิการมี
- พระอธิการแดง
- พระอธิการชิต
- พระอธิการเปลี่ยน
- พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต)
- พระครูโสภณพัฒนกิจ (บุญส่ง ธมฺมปาโล)
- พระปลัดบุญมี ปุญฺญภาโค
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ก้อง กังฟู. "โบสถ์เมียหลวง-วิหารเมียน้อย ปริศนาธรรม-คุณค่าปรองดอง". ไทยรัฐ.
- ↑ "วัดเขาบันไดอิฐ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
- ↑ "วัดเขาบันไดอิฐ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.