พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต)
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่อแดง |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 17 กันยายน พ.ศ. 2422 (95 ปี) |
มรณภาพ | 16 มกราคม พ.ศ. 2517 |
ศาสนา | พุทธ |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี |
อุปสมบท | 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2444 |
พรรษา | 75→ |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ |
พระครูญาณวิลาศ นามเดิม แดง อ้นแสง ฉายา รตฺโต เป็นพระเกจิอาจารย์มหาเถระในจังหวัดเพชรบุรีที่มีชื่อเสียงมากของประเทศไทย
ประวัติ
[แก้]พระครูญาณวิลาศ เกิดเมื่อวันวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ จ.ศ. 1241 ตรงกับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2422 ณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี[1] เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแป้น กับนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดารวมทั้งสิ้น 9 คน ได้แก่
- นางเยีย อ้นแสง
- นางเตี้ย อ้นแสง (มนต์ชู)
- นางเจ็ก อ้นแสง (ทับสี)
- นางสาวเปรม อ้นแสง
- พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต)
- นางเทียบ อ้นแสง (ทับสี)
- พระครูปัญญาโชติวัฒน์ (เจริญ ธมฺมโชติ)
- นางเล็ก อ้นแสง
- นางน้อย อ้นแสง (เกิดประดับ)
พระครูญาณวิลาศมรณภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2517 เวลา 21.05 น. สิริอายุ 96 ปี[2][3]
อุปสมบท
[แก้]ในวัยเยาว์ท่านช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสืออย่างเด็กสมัยนี้จนกระทั่งอายุ 20 ปี พ่อแม่ก็หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับเจ้าอธิการเปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ เพื่อจะได้เล่าเรียน และบวชเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2444 เวลา 15.13 น. โดยมีพระครูญาณวิสุทธิ (พ่วง) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการเปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการอ่ำ วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า "รตฺโต" แปลว่า"สีแดง"
หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว เจ้าอธิการเปลี่ยนจึงได้สอนวิชาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้ นอกจากเจ้าอธิการเปลี่ยนผู้สอนแล้ว หลวงพ่อแดงยังมีพระอาจารย์ผู้สอนพุทธาคมให้อีก 2 รูป นั่นคือพระสุวรรณมุนี (ฉุย สุโข) วัดคงคาราม จ.เพชรบุรี และหลวงพ่อแช่ม อินฺทโชโต วัดตาก้อง จ.นครปฐม ซึ่งมาร่วมนั่งวิปัสสนากรรมฐานกับเจ้าอธิการเปลี่ยนในถ้ำที่วัดเขาบันไดอิฐ อยู่เป็นประจำ ทำให้หลวงพ่อแดงได้ฝากตัวเรียนวิทยาคมกับท่านทั้งสองด้วย เรื่องดังกล่าวนี้มีหลักฐานยืนยัน เพราะ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ศิษย์ผู้หนึ่งของหลวงพ่อแดงเคยเล่าไว้ในบทความว่า หลวงพ่อแดงท่านเคารพพระเถระสองรูปนี้มาก โดยหลวงพ่อแดงจะพกเหรียญอาจารย์ของท่านไว้ในย่ามเสมอ
ชีวิตสมณะ
[แก้]หลวงพ่อแดงเป็นพระที่ประพฤติเคร่งครัดต่อพระวินัย สมถะไม่ชอบความยุ่งยากจากพิธีการ และไม่ชอบความสิ้นเปลืองจนเกินพระวินัย ท่านมักจะสอนศิษยานุศิษย์ของท่านให้มีความกตัญญู ซื่อสัตย์สุจริต โดยเปรียบเทียบกับตัวท่านเองว่า “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ยังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เพราะฉะนั้น! ขอให้ถือความสุจริต และทำคุณประโยชน์ของเราให้เด่นชัด ความดี ความชอบ จะนำมาซึ่งทุกอย่าง” แม้หลวงพ่อแดงจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ท่านมีความวิริยะอุตสาหะในการสั่งสอน และปกครองคณะสงฆ์ หลวงพ่อแดงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดเขาบันไดอิฐ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ท่านเคยปรารภไว้ว่า “ฉันอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงอยากให้พระเณรได้เล่าเรียน” หลวงพ่อแดงมีชื่อเสียงในทางสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนอุบาสกอุบาสิกา โดยพระภิกษุทั้งในและนอกอารามให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูญาณวิลาศ[5]
สมณศักดิ์
[แก้]- 17 เมษายน พ.ศ. 2471 เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ
- 22 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นพระอุปัชฌาย์
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2502 เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูญาณวิลาศ[6]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม
มรณภาพ
[แก้]หลวงพ่อแดงมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธ แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2517 สิริอายุ 95 ปี พรรษาที่ 73 ก่อนมรณภาพท่านเคยพูดกับพระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล รองเจ้าอาวาสวัดขณะนั้นว่า “เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ” พระบุญส่งจึงรับปาก และได้ทำตามที่หลวงพ่อประสงค์ทุกอย่าง
ปัจจุบันสรีระของท่านยังประดิษฐานอยู่ในหีบประดับมุกซึ่งตั้งอยู่ที่หอสวดมนต์วัดเขาบันไดอิฐ โดยประชาชนสามารถกราบนมัสการได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.
สหธรรมิก
[แก้]- พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
- พระครูอโศกธรรมสาร (โศก สุวณฺโณ) วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
- พระครูพินิจสุตคุณ (ทองสุข อินฺทโชโต) วัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- พระครูใบฎีกาแฉ่ง ปุญฺญมาโค วัดคงคาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
- พระเทพวงศาจารย์ (อินทร์ อินทโชโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://www.tnews.co.th/contents/303557 เปรี๊ยง! สิ้นเสียงปืนแตกกระจุย อานุภาพพระเครื่องหลวงพ่อแดง เกจิเมืองเพขรบุรี
- ↑ http://www.cablephet.com/board/q_view.php?c_id=48&q_id=6345 เก็บถาวร 2010-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ
- ↑ https://palungjit.org/threads/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%90-%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5.108913/ ประวัติหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ยอดเกจิอาจารย์แห่งเมืองเพชรบุรี
- ↑ "เกร็ดประวัติหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล". www.dharma-gateway.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-12. สืบค้นเมื่อ 2023-12-12.
- ↑ "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 76 (115 ง ฉบับพิเศษ): 31. 16 ธันวาคม 2502. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2563.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ราชกิจจานุเบกษา". ratchakitcha.soc.go.th.