วัดอินแปง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอินแปง
ວັດອິນແປງ
สิม
แผนที่
ที่ตั้งเวียงจันทน์
ลาว ประเทศลาว
ประเภทวัด
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอินแปง (ลาว: ວັດອິນແປງ) เป็นวัดในเวียงจันทน์ ประเทศลาว เป็นวัดเก่าแก่ ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ใบเสมาหิน พระพุทธรูป เสาหิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยมอญและขอม แต่วัตถุเหล่านี้อาจมีการเคลื่อนย้ายมาก็ได้ สำหรับชื่อว่า คำว่า "อิน" อาจนำมาจากคำว่าพระอินทร์ อาจเป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ หรือสถานที่ทางศาสนาสมัยมอญหรือขอม

วัดอินแปงโบราณเก่าแท้แต่แรกคงพังไปหมดแล้ว แต่การบูรณะต่อเนื่องมาจนถึงอย่างในปัจจุบันโดยเริ่มงานบูรณะมาตั้งแต่ พ.ศ. 2454 เรื่อยมาจนช่วงหลังปี พ.ศ. 2513 โดยประมาณ มีการบูรณะสิมและเขียนจิตรกรรมฝาผนังได้มาแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2523–2528

อาคารเสนาสนะ[แก้]

สิมมีลักษณะล้านช้างรุ่นหลัง ตั้งอยู่บนฐานบัว อาคารไม่สูงมากนัก มีการซ้อนชั้นหลังคา และมีตับ 2 ตับ ลดชั้นหลังคาเท่ากันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ป้านลมอ่อนโค้งเล็กน้อย หน้าบันมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างไทยจากจังหวัดอุดรธานี[1] ภายในสิมประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่อินแปง มีองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างอยู่เบื้องหน้า

หอพระไตรปิฎกแบบศิลปะล้านช้างเพียงแห่งเดียยวที่รอดจากการถูกทำลายในสมัยเจ้าอนุวงศ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานเป็นบัวเข่าพรหมที่มีลวดบัวแบบลาวอย่างซับซ้อน เรือนธาตุด้านหน้ามีประตู อีกสามด้านมีหน้าต่างที่มีรายละเอียดอย่างมาก ผนังด้านนอกประดับด้วยปูนปั้น โดยแบ่งเป็นช่อง ๆ เป็นภาพสวรรค์ ป่าหิมพานต์ ด้านในมีหงส์หันเข้าซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ยอดปราสาทด้านบนและทวารบาลมีรูปแบบคล้ายศิลปะล้านนา[2] บริเวณหน้าบันมีจารึกระบุว่ามีการบูรณะเฉพาะส่วนหลังคา เมื่อ พ.ศ. 2503

วัดมีธาตุขนาดย่อม เป็นธาตุในผังแปดเหลี่ยม ยอดเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยมซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง ฐานเป็นฐานบัวเข่าพรหมในรูปของขาสิงห์ คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนกลางและคล้ายคลึงวัดศรีชมภูองค์ตื้อ จังหวัดหนองคาย[3]

งานบุญนมัสการพระธาตุหลวง[แก้]

งานบุญนมัสการพระธาตุหลวงซึ่งจัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปีนั้น จะเริ่มต้นงานบุญด้วยการแห่ปราสาทผึ้งและต้นกัลปพฤกษ์จากวัดสีเมือง แล้วไปพระธาตุหลวง ต่อมาเป็นวัดไตใหญ่ วัดองค์ตื้อ และวัดอินแปง ตามลำดับ[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดอินแปง". ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  2. "หอพระไตรปิฎก วัดอินแปง". ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  3. "ธาตุ วัดอินแปง". ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  4. "วัดอินแปง เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว".