วัดองค์ตื้อมหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดองค์ตื้อมหาวิหาร
ວັດອົງຕື້ມະຫາວິຫານ
แผนที่
ที่ตั้งเวียงจันทน์
ลาว ประเทศลาว
ประเภทวัด
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดองค์ตื้อมหาวิหาร (ลาว: ວັດອົງຕື້ມະຫາວິຫານ) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเวียงจันทน์ ประเทศลาว ริมถนนไชยเชษฐาธิราช ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือหอพระแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร

วัดองค์ตื้อ เดิมชื่อว่า วัดสีภูมิ หรือ วัดไชยภูมิ[1] ต่อมาหลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาที่นครเวียงจันทน์ ราว พ.ศ. 2109 โดยโปรดให้สร้างวัดเพื่อประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หล่อด้วยสำริด โดยโปรดให้หล่อพร้อมกับประพุทธรูปอื่นอีกรวม 4 องค์ คือ พระองค์ตื้อ พระสุก พระใส พระเสริม จึงเรียกว่า "วัดองค์ตื้อ" ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ลักษณะพระเจ้าองค์ตื้อ คือ พระพักตร์ค่อนข้างใหญ่ พระเนตรใหญ่หรี่ลงต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์กว้าง พระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่ ถือเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง พระวรกายสูง ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปล้านช้างรุ่นหลัง พระองค์ตื้อหล่อพระองค์นี้ด้วยน้ำหนักทองที่หนักมาก (1 ตื้อ = 1000 กิโลกรัม) ด้วยเหตุนี้ พระพุทธรูปองค์นี้จึงมีนามว่าพระองค์ตื้อ[2]

ส่วนสิมสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ หลังจากเวียงจันทน์ถูกเผาทำลาย เป็นอาคารในสกุลช่างเวียงจันทน์ที่หลังคาด้านข้างไม่ได้เตี้ยติดพื้นมาก และมีการแบ่งกรอบหน้าบันออกเป็นปีกนก หน้าบันแสดงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายพรรณพฤกษา ด้านล่างหน้าบันมีการแบ่งช่องในแผงแรคอสองอันเป็นลักษณะโดดเด่นของหน้าบันในสกุลช่างเวียงจันทน์ และด้านล่างสุดมีโก่งคิ้ว ด้านหน้ามีโถงทางเข้าก่อนที่จะเข้าไปภายในห้องประธาน ปรากฏหัวเม็ดทรงมัณฑ์ในทรงยืดสูงอันเป็นลักษณะที่โดดเด่นในศิลปะลาว[3] ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงปราสาทยอด น่าจะเป็นอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ เสาพาไลเป็นเสากลมขนาดใหญ่ หลังคามี 2 ชั้น การลดหลั่นชั้นหลังคาเท่ากันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันเป็นลายก้านขด และช่อดอกกาละกับ ป้านลมอ่อนโค้งเล็กน้อย และแผ่กว้างเหมือนสกุลช่างหลวงพระบาง และมีใบระกา หางหงส์ สันนิษฐานว่าเป็นอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีจารึกที่ด้านหลังบานประตูทางเช้าระบุว่ามีการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2511[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ປະຫວັດ ວັດອົງຕື້ ມະຫາວິຫານ". ลาวโพสต์.
  2. "พระเจ้าองค์ตื้อ". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.
  3. "วิหารวัดองค์ตื้อ". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.
  4. "วัดพระเจ้าองค์ตื้อมะหาวิหาน (วัดไซยะพูม)". ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียอาคเนย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.