วัดหัวเวียง (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหัวเวียง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหัวเวียง, วัดกลางเวียง
ที่ตั้งตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระเจ้าพาราละแข่ง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหัวเวียง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา

วัดหัวเวียงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2406 ตามประวัติวัดระบุว่า หัวเวียง ก็คือ หัวเมือง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2390 จากนั้นจึงสร้างวัดขึ้น ไม่ทราบนามผู้สร้างวัด ทราบแต่ว่าเป็นวัดแห่งที่สองของเมืองแม่ฮ่องสอน ชาวเมืองแม่ฮ่องสอนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดกลางเวียง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2519 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[1]

เสนาสนะที่สำคัญ คือ วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง เป็นวิหารไม้ ศิลปกรรมแบบศิลปะไทใหญ่ เป็นอาคารไม้ที่แบ่งพื้นที่ของอาคารออกเป็น 2 ส่วน มีส่วนยอด ที่ทำเป็นหลังคาซ้อนชั้นเหมือนปราสาทจำนวน 2 ยอด ยอดแรกเป็นปยาทาดแบบพม่า ส่วนอีกยอดหนึ่งเป็นปยาทาดมีโดมด้านบน ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกแบบอังกฤษ 1 ใน 2 ยอด (ยอดแบบอังกฤษ) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระเจ้าพาราละแข่ง เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง โดยสร้างขึ้นจำลองจากพระมหามัยมุนี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 จองโพหญ่าและจองหวุ่นนะ สองพ่อค้าวัวพร้อมด้วยคณะเดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์เพื่อจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ยังได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าเม็ดข้าวโพดที่ในพบเชี่ยนหมากในป่า เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จจึงได้แยกออกเป็น 9 ชิ้น บรรทุกลงเรือ 9 ลำ น้ำหนักรวม 999 กิโลกรัม ล่องมาตามแม่น้ำสาละวิน ขึ้นที่ท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นนำไปประกอบที่วัดพระธาตุดอยกองมู ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดหัวเวียงจนถึงปัจจุบัน[2]

อุโบสถวัดหลังใหม่ สร้างตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทใหญ่ผสมผสานพม่า เป็นอาคารคอนกรีตหลังคายกชั้นสูงเป็นชั้น ๆ มุงกระเบื้องประดับลายเจาะสังกะสี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. อรรจนีลดา วุฒิจันทร์, อ่อนเดือน เทียนทอง (2533). "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 9". กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 1039. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  2. ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. "พระเจ้าพาราละแข่ง". เดอะคลาวด์.
  3. "วัดหัวเวียง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).