วัดสำเร็จ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสำเร็จ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสำเร็จ, วัดมะเร็ต
ที่ตั้งตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสำเร็จ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดสำเร็จ หรือ วัดมะเร็ต เล่ากันว่า ท่านขรัวพุดษร สร้างไว้ ตั้งแต่สมัยธนบุรี และจำพรรษาจนสิ้นอายุขัย สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเขียนรายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. 2427 ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่าชื่อ วัดมะเรศ และกล่าวถึงขรัว พุดษร ว่า "ท่านขรัวพุดษรเป็นพระแต่ครั้งแผ่นดินขุนหลวงตากสร้างไว้ คนชาวเกาะสมุยนิยมนับถือว่ามีวิทยาอาคมศักดิ์สิทธิ์ตลอดการเจ็บไข้ จนถึงคนเดินเรือผ่านมาหน้าเกาะสมุยถูกคลื่นลม และบนบานคลื่นลมก็สงบเรียบร้อยไป เมื่อขรัวพุดษรตายแล้ว ราษฎรปลงศพเก็บอัฐิใส่โถแก้วตั้งไว้พร้อมเครื่องสักการบูชายังมีอยู่จนบัดนี้ ชาวเกาะถือว่าถ้าจะไปที่กันดารไปทัพเป็นต้น เชิญเอากระดูกขรัวพุดษรผูกคอไปด้วยอัน 1 เป็นที่นิยมนับถือกันมาก" อย่างไรก็ตามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2423[1]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลายวงซึ่งนำมาจากพม่า มีอายุเก่าแก่เกือบร้อยปี มีพระพุทธไสยาสน์สร้างด้วยหินปะการังและพระพุทธรูปเก่าตั้งเดิม กว่า 50 รูป ปัจจุบันวิหารแห่งนี้ได้ปิดกุญแจเอาไว้เพื่อป้องกันขโมย ผนังของวิหาร มีปรากฏรอยเท้าประทับอยู่ข้างฝาข้างประตูวิหาร เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าของขรัวพุดสอนที่ได้ประทับรอยเท้าเอาไว้ สถูปบรรจุอัฐิขรัวพุดษร หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เป็นอาคารทรงปั้นหยา 2 ชั้น ยกพื้น มีใต้ถุนเตี้ย ๆ รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานสถาปัตยกรรมจีน มีการฉลุลายลงบนแผ่นไม้ติดโยรอบบริเวณชายคาชั้นบน ตึกรับรองอาคันตุกะ ใช้เป็นที่รับรองพระภิกษุที่เดินทางมาพำนัก สร้างโดยพระภิกษุดำ ใจกว้าง (หมื่นพยาธิบำบัด) ซึ่งได้แบบอย่างมาจากลังกา เจดีย์หนึ่งในจำนวน 3 องค์ที่สร้างขึ้นในสมัยขรัวพุดษร ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2544 รูปทรงของเจดีย์เป็นศิลปะศรีวิชัย

โบราณวัตถุได้แก่ ธรรมาสน์ไม้ฉลุโดยช่างฝีมือชาวจีน สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง จำหลักลวดลายตั้งแต่หลังคา พระประธานในอุโบสถจาก เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ขนาดหน้าตักกว้า 36 นิ้ว สูง 52 นิ้ว อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสำเร็จ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดสำเร็จ". ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวฮาลาล เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย.