วัดสาขลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสาขลา
พระปรางค์เอียง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 19 หมู่ที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์-สาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 10290
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสุนทรพัฒนกิจวิธาน (สันทาน ธมฺมสนฺทโน)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสาขลา [สา-ขฺลา] เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นชุมชนบ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสุนทรพัฒนกิจวิธาน (สันทาน ธมฺมสนฺทโน สกุลเดิม:อยู่ไสว) วัดสาขลาแห่งนี้มีทางเข้าลอดโบสถ์เป็นซุ้มพระราหูดูน่าเกรงขาม พระราหูนั้นแสดงถึงการปัดเป่าและป้องกันสิ่งชั่วร้าย[1]

ประวัติ[แก้]

วัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 สันนิษฐานว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวรบชนะพม่า แต่เดิมชุมชนบ้านสาขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อเกิดสงคราม 9 ทัพ รัชกาลที่ 1 ให้ผู้ชายไปเป็นทหาร เหลือแต่ผู้หญิงและคนชรา เมื่อทหารพม่าเดินทัพผ่านมา ชาวบ้านที่เหลือร่วมมือกันสู้พม่าอย่างกล้าหาญจนชนะได้ หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า หมู่บ้านสาวกล้า ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น หมู่บ้านสาขลา เช่นในปัจจุบัน วัดสาขลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2375

อาคารเสนาสนะ[แก้]

วิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ โดยเฉพาะหลวงพ่อโตที่สร้างมาพร้อมกับวัด เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย ส่วนอุโบสถ โดยรอบจะมีลูกนิมิตโบราณ 8 ลูก วางอยู่บนแท่นพญานาค 7 เศียร มีการขุดพบพระพุทธรูปใต้วิหารซึ่งตรงกับฐานองค์หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลา ด้านบนเศียรเป็นฐานของหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นอิฐก้อนใหญ่ที่นิยมใช้ในอดีต อีกหนึ่งจุดเด่นคือ พระปรางค์เอียง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ริมคลองสาขลา ซึ่งเกิดจากดินทรุดเมื่อร้อยกว่าปีก่อน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนุ่มลูกทุ่ง (6 ธันวาคม 2556). "สัมผัสประวัติศาสตร์ ดื่มด่ำธรรมชาติ ตามหาแผ่นดินที่หายไปใน "บ้านสาขลา"". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "ความศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อโต วัดสาขลา อ.พระสมุทรเจดีย์". คมชัดลึก. 16 กรกฎาคม 2558.