บ้านสาขลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านสาขลา

บ้านสาขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งในปัจจุบันประกอบเป็นหมู่ที่ 3, 4, 5 และ 7 ของตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

สะพานข้ามคลอง

จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นเศษเครื่องถ้วยชามประเภทต่าง ๆ พบเศษถ้วยชามสังคโลกที่อายุย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เศษเครื่องถ้วยลายครามจากสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าเป็นชุมชนที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งหลายยุคหลายสมัย[1]

กล่าวกันว่าชื่อบ้านสาขลาเพี้ยนมาจากชื่อ บ้านสาวกล้า เหตุเพราะครั้งหนึ่งในอดีตมีทหารพม่าเดินทัพผ่านมา แต่ผู้ชายในหมู่บ้านถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารที่อื่นกันหมด เหลือแต่ผู้หญิงและคนชรา ถึงกระนั้นชาวบ้านที่เหลือก็ร่วมมือกันสู้พม่าอย่างกล้าหาญจนชนะได้ หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "หมู่บ้านสาวกล้า"[2] ชุมชนมีวัดสาขลาที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325

เหตุการณ์ที่สำคัญของหมู่บ้านสาขลานาเกลือ คือ เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2526 ต้นเพลิงอยู่บริเวณบ้านหัวเกาะ มีบ้านเรือนวอดวายไป 15–20 หลัง ไม่มีผู้เสียชีวิต ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2537 ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 8 เมตร ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร สร้างแล้วเสร็จ โดยใช้เวลาสิบปีในการก่อสร้าง ทำให้การเดินทางด้วยเรือลดลง

ภูมิประเทศ[แก้]

บ้านสาขลาเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยามีลำคลองหลายสายไหลผ่าน เช่น คลองยายบู่ เป็นต้น บริเวณที่ราบแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตอนใต้ใกล้ทะเล และบริเวณที่ราบทางทิศเหนือและทิศตะวันตกมีน้ำทะเลท่วมถึง

ก่อน พ.ศ. 2495 ลักษณะดินบริเวณบ้านสาขลาสามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ดี ไม่มีน้ำท่วมและปัญหาการทรุดตัวของดิน จนเมื่อ พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ขุดสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย จึงทำให้เกิดน้ำทะเลหนุนเข้ามาในคลองสรรพสามิต ทำให้คลองแยกจากคลองสรรพสามิตกว้างขึ้น และทำให้เกิดแอ่งน้ำที่เกิดจากชักน้ำทะเลเข้าทำนาเกลือและบางส่วนเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำเนื่องจากทะเลหนุน ทำให้เกิดดินเค็ม พืชผักสวนครัวล้มตาย[3]

เศรษฐกิจ[แก้]

พระปรางค์เอียงวัดสาขลา

ก่อนการขุดสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวสาขลาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง จับกุ้ง หอย ปู ปลา มาขายในหมู่บ้านและส่งตลาดปากน้ำ บ้านสาขลายังเป็นแหล่งพักสินค้าไปจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ผ่านคลองสรรพสามิต มีการชักน้ำทะเลมาทำนาเกลือ ส่งไปขายไปออกคลองขุนราชพินิจใจและจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาชาวบ้านได้เปลี่ยนอาชีพมาทำวังกุ้งและเลี้ยงปูทะเลซึ่งให้มูลค่ามากกว่า[4]

ปัจจุบันหลังมีถนนคอนกรึตเสริมเหล็ก นอกจากส่งกุ้งปูขายและทำวังกุ้ง ชาวบ้านสามารถออกไปทำงานนอกพื้นที่ได้ เช่น พนักงานบริษัท รับจ้างทั่วไป เป็นต้น และหมู่บ้านสาขลาได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวบ้านแบบเรียบง่ายและวัฒนธรรมดั้งเดิม ในชื่อ ตลาดโบราณบ้านสาขลา ของฝากขึ้นชื่อของหมู่บ้านสาขลาคือ กุ้งเหยียด[5] ชมพระปรางค์เอียงของวัดสาขลา และนักท่องเที่ยวนั่งเรือออกไปชมป่าชายเลน[6]

สังคมและวัฒนธรรม[แก้]

ชาวบ้านสาขลาใช้ภาษาไทยกลาง แต่จะมีบางคำและบางสำเนียงเป็นภาษามอญ เช่น เรียกโอ่งว่า โพล่, เรียกตู้ว่า ฮั้ว, เรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้ายี่โป คำลงท้ายจะลงด้วย นิ, เน่อะ และ ดี่[7]

ประเพณีในหมู่บ้าน ได้แก่ ประเพณีแข่งเรือและประกวดเรือประเภทต่าง ๆ ในช่วงวันออกพรรษา ประเพณีแห่หลวงพ่อโตไปตามลำคลองสรรพสามิต มีการละเล่นอย่างการเล่นสะบ้าและการเข้าทรงผีกระด้ง[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "หมู่บ้านสาขลา". ไทยศึกษา.
  2. 2.0 2.1 หนุ่มลูกทุ่ง. "สัมผัสประวัติศาสตร์ ดื่มด่ำธรรมชาติ ตามหาแผ่นดินที่หายไปใน "บ้านสาขลา"". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. ทรงเกียรติ เที้ยธิทรัพย์. "เทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารพักอาศัยที่เหมาะสม สำหรับพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา : กรณีศึกษา หมู่บ้านสาขลา ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  4. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
  5. "ตลาดโบราณ บ้านสาขลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
  6. "บ้านสาขลา". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  7. สิรินาถ เรืองชีวิน. "แนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย : กรณีศึกษาชุมชนบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.