วัดลุ่มมหาชัยชุมพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดลุ่มมหาชัยชุมพล
พระอุโบสถหลังใหม่ทรงจัตุรมุข
แผนที่
ชื่อสามัญวัดลุ่มมหาชัยชุมพล, วัดลุ่ม, วัดมหาชัยชุมพล
ที่ตั้งตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดลุ่มมหาชัยชุมพล เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

ประวัติ[แก้]

วัดลุ่มมหาชัยชุมพลตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2234 แต่เดิมมีวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน 2 วัด คือ "วัดลุ่ม" และ "วัดเนิน" ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. 2463 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ ตำแหน่งจ้าคณะมณฑลจันทบุรี เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ จึงให้รวมวัดลุ่มกับวัดเนินเป็นวัดเดียวกัน แล้วเรียกชื่อว่า วัดลุ่ม

ตามข้อมูลท้องถิ่นเล่าว่า วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งประทับแรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งเป็นพระยาตาก พระองค์นำทหารกล้า 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทางจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จนมาถึงเมืองระยอง ตั้งค่ายชุมพลบริเวณวัดลุ่ม ซึ่งที่มาของคำต่อท้ายคำว่า "มหาชัยชุมพล" เมื่อได้เป็นพระอารามหลวง บริเวณนี้ยังมีต้นสะตือใหญ่ที่ใช้ผูกช้างศึกประจำพระองค์ ชื่อ "พังคีรีบัญชร" พระองค์ยังได้ประทับนั่งใต้ต้นสะตือนี้ เรียกประชุมคณะกรรมการเมืองและราษฎรชาวระยอง ประกาศเจตจำนงในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ต้นสะดือในวัดนี้จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองระยอง[1]

อาคารและเสนาสนะ[แก้]

เสนาสนะที่สร้างขึ้นใหม่ โดยเฉพาะพระอุโบสถได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ขนาดยาวเกือบ 21 เมตร กว้าง 17 เมตร ลักษณะเป็นทรงจัตุรมุข มุงด้วยกระเบื้องลอนสีน้ำตาลแก่ มีช่อฟ้า 16 ตัว มีใบระกา หางหงส์ 78 ตัว ลักษณะเหมือนพญานาคประดับด้วยกระจกสีเหลืองทอง หน้าบันลายไทย บัวปลายเสามีลักษณะเป็นกลีบบัวบานขึ้นไปตามคอเสาซึ่งเป็นเหมือนรังผึ้ง มีเทพนมอยู่ตรงกลาง ด้านในปูด้วยหินอ่อนจากจังหวัดสระบุรี ภายในประดิษฐานพระประธานแบบพระพุทธชินราชจำลองจากเมืองพิษณุโลก เนื้อทองเหลืองลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 4 ศอก 9 นิ้ว ประทับบนแท่นสูงด้วยพุทธลักษณะสง่างาม ถัดลงมามีพระอัครสาวกซ้ายขวา

พระอุโบสถหลังเก่า มีลักษณะเป็นอาคารทรงโรงก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้ลด ชั้น 2 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ไม้แกะสลัก หน้าบันปูนปั้นทาสีอิทธิพลศิลปะจีน ด้านหน้าเป็นรูปมังกรตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษา ด้านหลังเป็นรูปหงส์ตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาและภาพสัตว์ขนาดเล็ก ซุ้มหน้าต่างแบบซุ้มหน้านางตกแต่งด้วยลายใบเทศตรง กึ่งกลางเป็นรูปครุฑยุด นาค บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยศิลปะรัตนโกสินทร์[2]

ภายในวัดยังมีการตั้งศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน รูปทรงศาลแบบจัตุรมุข ด้านในมีพระบรมรูปหล่อพระองค์ขนาดเท่าองค์จริงนั่งประทับและยืนถือดาบ ด้านหน้าศาลมีต้นสะตืออายุกว่า 300 ปี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เที่ยววัดลุ่มฯ เมืองระยอง สักการะ "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" ต้นสะตือพักทัพ". สยามรัฐออนไลน์. 28 สิงหาคม 2563.
  2. "วัดลุ่มมหาชัยชุมพล". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  3. "ชวนเที่ยว "วัดลุ่ม-อุทยานการเรียนรู้" เส้นทางทัพพระเจ้าตากสิน". ผู้จัดการออนไลน์. 18 กันยายน 2563.