วัดยางหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดยางหลวง
โบสถ์วัดยางหลวง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระราชพัฒโนดม (บุญช่วย ธมฺมรกฺขิโต)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดยางหลวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดลำเหมืองสาธารณะและทุ่งนา ทิศตะวันตกจดถนนและหมู่บ้าน มีเนื้อที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน

วัดยางหลวงเป็นวัดที่ตั้งชื่อตามกลุ่มชาติพันธุ์ "ยาง" หรือ "กะเหรี่ยง" กล่าวกันว่าได้มีผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมาในราวพุทธศตวรรษที่ 24 และมีหลักฐานจารึกที่หน้าฐานพระพุทธรูป หน้าซุ้มกิจกูฏไว้ว่าวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2407

อุโบสถศิลปะแบบล้านนา มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเพิ่งได้รับการบูรณะ (เฉพาะอุโบสถ) ภายในมีซุ้มก่ออิฐฉาบปูนประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเรียกกันว่า กิจกูฏ (เขาคิชกูฏ) คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกิจกูฏเป็นแบบพุกามจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน[1] วิหารไม้สักประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ผนังด้านหลังวิหารปรากฏ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามอย่างยิ่ง เป็นภาพพระภิกษุสามรูป ซึ่งเชื่อกันว่า คือพระพุทธเจ้าและพระสาวก ส่วนด้านข้างวิหารเป็นสถานที่เก็บกลองล้านนาขนาดใหญ่ อีกจุดเด่น คือ เงาวิหารกลับหัว ซึ่งจะเห็นภาพนี้ได้โดยการเข้าไปชมในพระอุโบสถ แล้วปิดไฟ ปิดประตูหน้าต่าง ทุกบาน เพื่อให้ด้านในมืดสนิท แง้มหน้าต่างให้แสงลอดผ่านขอบหน้าต่างที่ได้องศาที่สุด

ประเพณีที่สำคัญ คือ พิธีจุลกฐินที่มักจัดในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งในงานจะมีการเตรียมไร่ฝ้ายที่ลานวัด ตกแต่งไร่ฝ้าย เพื่อนำมาทอผ้าที่ใช้ในพิธี อีกทั้งยังมีฟ้อนรำ การละเล่นต่าง ๆ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดยางหลวง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดยางหลวง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).