วัดพิกุล (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพิกุล
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 20 ซอยบางแวก 76 ถนนบางแวก แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหานิพนธ์ จิตฺตวุฑ์โฒ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อหวล หาริโต วัดพิกุล

วัดพิกุล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนัง ในแขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดพิกุลสร้างราว พ.ศ. 2323 ปลายสมัยธนบุรี ไม่ทราบนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2517 ก่อนปี พ.ศ. 2487 มีภิกษุจำพรรษาอยู่ 2 รูป มีอุโบสถและกุฏิไม้ริมคลองอย่างละหลัง ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ สะพานข้ามคลองก็ไม่มี ต่อมาหลวงพ่อหวลได้มาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ท่านได้สร้างสะพานไม่ไผ่เล็ก ๆ ขึ้น จากนั้นราว พ.ศ. 2497 ได้สร้างศาลาท่าน้ำ กุฏิ ต่อมาสร้างศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำหลังที่ 2 และมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเมื่อ พ.ศ. 2499[1]

ทางวัดจัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมทางด้านทิศตะวันตกของวัด มีเนื้อที่ 4 ไร่ 26 ตารางวา เพื่อสร้างโรงเรียนวัดพิกุลเมื่อ พ.ศ. 2508 สอนระดับประถมศึกษา (ปัจจุบันสังกัดกรุงเทพมหานคร)

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถสร้างราว พ.ศ. 2514–2517 มีหน้าบันด้านหน้าตอนบนเป็นพระพุทธรูปประทับยืนอุ้มบาตรอยู่ในซุ้ม ขนาบข้างด้วยเทวดาถือฉัตร ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ หน้าบันด้านหลังตอนบนเหมือนด้านหน้า ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตัดพระเมาลี) วัดพิกุลมีโครงการยกอุโบสถขึ้นเพื่อให้พ้นจากระดับน้ำที่มักท่วมอยู่เสมอ เพื่อหารายได้ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ จึงเปิดให้พุทธศาสนิกชนลอดใต้อุโบสถตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 อุโบสถหลังเก่าหันออกสู่คลอง ก่อปูนผนังหน้าหลังขึ้นไปจดอกไก่ แต่ก็ถูกต่อเติมจนผิดรูปไป[2] ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ มณฑปพระพุทธบาทสร้างในสมัยหลวงพ่อหวล (อดีตเจ้าอาวาส) กุฏิเก่าของหลวงพ่อหวล ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. 2492 หอสวดมนต์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 หอระฆัง-หอกลอง มีกลองอยู่ชั้นล่าง มีระฆังอยู่ชั้นบน หน้าบันประดับถ้วยชาม นอกจากนั้นภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ปางต่าง ๆ กว่า 10 องค์[3]

งานประเพณี[แก้]

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา วัดได้เปิดให้ลอดใต้อุโบสถ และวัดมีงานประจำปีในช่วงตรุษจีน เป็นเวลา 5 วัน โดยนับจากวันจ่ายเป็นวันแรก

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์ผิว
  • พระจารย์ใหญ่
  • พระครูนวการโกศล (หลวงพ่อหวล หาริโต) พ.ศ. 2487–2522
  • พระสมห์ชาญ อินทปญฺโญ พ.ศ. 2522-2532
  • พระครูมงคลวุฒิสาร (หลวงปู่ผิว ปาสาทิโก) พ.ศ. 2532-2548
  • พระครูสังฆรักษ์ไสว จิตปาโล (รักษาการ) พ.ศ. 2548
  • พระมหานิพนธ์ จิตฺตวุฑ์โฒ

อ้างอิง[แก้]

  1. ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549. หน้า 130.
  2. ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514. หน้า 106.
  3. "วัดพิกุล". ศูนย์ข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.