วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร
พระวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระนารายณ์, วัดกลางนคร, วัดกลาง
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายเถรวาท
พระประธานพระทศพลญาณประทานบารมี (หลวงพ่อใหญ่)
พระพุทธรูปสำคัญพระคันธารราฐ
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระนารายณ์มหาราช หรือ วัดกลางนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร[1] อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 11ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร (วัดกลางนคร)[แก้]

วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง ติดกลับศาลหลักเมือง เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า “วัดกลาง” หรือ”วัดกลางนครวรวิหาร” โดยถือเอาสถานที่ตั้งเป็นสำคัญ แล้วเรียกชื่อวัดอื่น ๆ ตามที่ตั้งอยู่ทิศต่าง ๆ ตามชื่อทิศ เช่น วัดบูรพ์ (บูรพา) วัดอิสาน วัดพายัพ และวัดบึง วัดสระแก้ว รวม 6 วัด ที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง โดยถือเอาวัดพระนารายณ์เป็นจุดศูนย์กลาง

วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือ วัดกลางนคร จัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ในสมัยก่อนมีพิธีอย่างหนึ่งคือ พิธีที่ข้าราชการทุกแผนก จะต้องสาบานตนว่าตนจะต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทางราชการได้ใช้วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเสกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติ

เคยเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี ตรงมุมทิศพายัพของวัด ต่อมา พ.ศ. 2477 จึงได้ย้ายออกจากวัดไปประดิษฐานที่ประตูชุมพล จนทุกวันนี้

ในปัจจุบันวัดพระนารยณ์ ยังมีศิลปะวัตถุ พร้อมทั้งแบบสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยา และปูชนียสถานภายในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถที่ตั้งอยู่เกาะกลางสระบัวทิศตะวันออกของวัด พระวิหารหลวงและเทวรูปพระนารายณ์สี่กร จำหลักด้วยหินทรายฝีมือขอมโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระนามผู้สร้างวัด

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับที่ เจ้าอาวาส[2] ปี
1 เจ้าอธิการคง (บ้านสระทองหลาง)
2 เจ้าอธิการคง (บ้านเดิมอยู่อำเภอพิมาย)
3 พระครูสีหราช (ฉิม)
4 พระครูสีหราชสมาจารมุณี (นวน) พ.ศ. 2446 – 2483
5 พระครูธรรมวิจารยณ์มุณี พ.ศ. 2483 – 2488
6 พระมหานาค ยโสธโร พ.ศ. 2489 – 2491
7 พระพรหมคุณาภรณ์ (พุ่ม กิตฺติสาโร) พ.ศ. 2492 – 2534
8 พระพรหมวชิรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี) พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถ[แก้]

พระอุโบสถถูกสร้างขึ้นพร้อมกับวัด สมัยก่อนนั้นทรงเดิมจะเป็นทรงเรือสำเภา ต่อมามีการบูรณะส่วนหลังคาและทาสีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2494 และเมื่อประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ทางวัดได้รื้อพระอุโบสถหลังเดิมลง

พระอุโบสถกลางน้ำในปัจจุบัน ตัวของพระอุโบสถได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยสร้างทับฐานเดิมของพระอุโบสถเก่า

รูปแบบพระอุโบสถ

รูปแบบของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน มีการลอกเลียนแบบมาจากรูปแบบเดิมอยู่บ้าง โดยหลังคาจะเป็นแบบหน้าจั่วลดหลั่นสามชั้น ทางด้านทิศตะวันออกหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ฝาผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร มีประตูสามบาน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกทางเดินจากสะพาน หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ฝาผนังเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวก มีประตูสองบาน บริเวณรอบ ๆ พระอุโบสถมีใบเสมาที่ล้อมรอบ จำนวน 8 ใบ ซึ่งใบเสมาเหล่านี้เป็นการจำลองขึ้นเพราะใบเสมาเดิมผุพังลง[3]

พระวิหารหลวง[แก้]

เป็นพระวิหารที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา และผู้สร้างมีเจตนาให้เป็นพระประธานของวัดเพราะเป็นถาวรวัตถุใหญ่โตที่สุดในวัด สร้างไว้บนเนินตรงกลาง

เมื่อปี พ.ศ. 2369 พระวิหารหลังเดิมได้ถูกข้าศึกทำลาย ในสมัยพระยามหาสุภาพ(อิ่ม สิงหเสนี) มาเป็นผู้ปกครองเมืองนครราชสีมา ได้มีการสร้างขึ้นใหม่

ต่อมาวิหารหลังเก่าถูกไฟไหม้เสียหาย เมื่อคราวสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสนครราชสีมา ได้ทรงพระราชทานพระทานเงิน 400 บาท เพื่อบูรณะวิหารขึ้นมาใหม่[3]

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระทศพลญาณประทานบารมี หรือ หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระประธาน ถือเป็นพระประธานองค์แรกของจังหวัด ที่มีความสวยงามและใหญ่มากแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[4]

หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช ประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระวิหารหลวง ชุกชีสูง 3.14 เมตร หรือ 10ฟุต 3 นิ้ว มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 เมตร หรือ 13 ฟุต 1 นิ้ว และมีความสูงถึงยอดพระรัศมี 5.3 เมตร หรือ 17 ฟุต 4 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร

พระเจดีย์[แก้]

ตามประวัตินั้นมีเจดีย์อยู่สององค์ด้านซ้ายขวา ตั้งคู่กับพระวิหารด้านทิศตะวันตกพระวิหารหลวงหลังเดิม ได้ถูกข้าศึกทำลายในปี พ.ศ. 2369 พร้อมกับพระวิหาร

ต่อมาพันเอกพระยาประสิทธิศิลการ (สะอาด สิงหเสนี) ได้จัดการบูรณะขณะดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา จวนจะสำเร็จแต่มีเหตุสุดวิสัย พระเจดีย์ได้พังทลายลงมา เป็นอันต้องทิ้งให้พังอยู่ไม่มีใครทำขึ้นใหม่[4]

สมัยของพระพรหมคุณาภรณ์ ( พุ่ม กิตติสารมหาเถร ) อดีตเจ้าอาวาส ก็ได้มีดำริในการสร้างพระเจดีย์โดยการใช้สถานที่เดิมเป็นสถานที่ก่อสร้าง โดยเอาระหว่างกลางของเจดีย์เดิม แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างได้เสร็จเนื่องจากพระพรหมคุณาภรณ์ ได้อาพาธเสียก่อนในปี พ.ศ. 2533

จนกระทั่ง พระธรรมวรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธีมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร ได้เข้ามาดูแลจึงได้มีดำริที่สานต่อในการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการบูรณะพระเจดีย์ และจะได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปไว้บนพระเจดีย์ต่อไป

รูปแบบพระเจดีย์

เป็นลักษณะระฆังคว่ำมีบัลลังก์และบัวกลุ่ม ซึ่งจากเดิมที่มีขนาด 24 เมตร ก็ได้มีการขยายออกไปเป็น 38 เมตร และทำการดำเนินการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัญเชิญพระคันธารราฐ และประดับฉัตร 5 ชั้น พร้อมยอดฉัตรประดับยอดเจดีย์ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 09.09 น.

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช[แก้]

จังหวัดนครราชสีมา และ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ร่วมกับพ่อค้า ประชาชน คหบดี ร่วมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ และเททองหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างเมืองนครราชสีมา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 หลังจากนั้นก็จะเริ่มปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท

คณะสงฆ์โดย พระครูวิริยธรรมานุศาสก์, ดร. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา ได้มีพิธีอัญเชิญรูปหล่อ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ซึ่งมีความสูง 3.60 เมตรขึ้นสู่ฐาน ด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์และพระวิหารหลวง ติดกับถนนประจักษ์ ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15.19 น. โดยมีกำหนดการจัดพิธีมังคลาภิเษก พระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพิธีสมโภชพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในวันที่ 29 กันยายน ปีเดียวกัน[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ ให้จัดชั้นพระอารามหลวง, เล่ม 52, ตอน 0 ง, 22 มีนาคม พ.ศ. 2478, หน้า 3983
  2. "ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร".
  3. 3.0 3.1 "อาคารเสนาสนะ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.
  4. 4.0 4.1 "อาคารเสนาสนะ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร". สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.