วัดพระธาตุดอยน้อย (จังหวัดเชียงใหม่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระธาตุดอยน้อย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุดอยน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

วัดพระธาตุดอยน้อยสร้างโดยพระนางจามเทวี[1] เมื่อครั้งเสด็จมาครองเมืองลำพูน พ.ศ. 1201 ตามคำเชิญของสุเทวฤๅษี ทรงสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1997 ได้ค้นพบตำนานพระเจดีย์ของพระนางจามเทวีซึ่งองค์พระเจดีย์ในขณะนั้นปรักหักพังเหลือแต่ฐานจึงได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ และให้ช่างทำจารึกเรื่องการปฏิสังขรณ์ไว้เป็นหลักฐาน หลักจารึกที่อยู่บนพระธาตุดอยน้อย จารึกไว้ว่า เมื่อ จ.ศ. 926 (สมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์) ได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุ แต่เดิมตามจารึกปรากฏเพียงองค์พระธาตุและพัทธสีมาเท่านั้น

ผ่านไปอีกหลายร้อยปี องค์เจดีย์มีความชำรุดทรุดโทรม ถึงปี พ.ศ. 2430 ครูบามหาวัน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารทำการบูรณะแต่มีเหตุขัดข้องมิอาจทำได้สำเร็จ จนเมื่อ พ.ศ. 2440 ครูบาศรีวิชัยจึงได้ดำเนินการต่อกระทั่งสำเร็จ[2] อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าวัดพระธาตุดอยน้อยตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300[3]

อาคารและเสนาสนะ[แก้]

บริเวณวัดตั้งอยู่บนภูเขาติดลำน้ำปิงมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศทาง มีบันไดนาคขึ้นไป 241 ขั้น[4]

พระธาตุดอยน้อยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว สีดอกพิกุลแห้ง ปัฏฐานกลมเกลี้ยง ซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเมื่อ พ.ศ. 2457 ปัจจุบันทางวัดได้ถือเอาวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เป็นงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี[5]

เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงล้านนาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นชั้นลูกแก้วย่อเก็จจากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถาสามชั้นรองรับองค์ระฆังบัลลังก์และปล้องไฉน เจดีย์ทรงพม่าตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีบัวคว่ำและบัวหงาย มีลวดบัวรัดหนึ่งเส้นเรือนธาตุสี่เหลี่ยม มีซุ้มพระประจำทิศด้านละสององค์ และมีเจดีย์รายประจำทิศทั้งสี่มุม ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุขนาดเล็กมีซุ้มพระประจำทิศด้านละองค์ ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถาสามชั้นรองรับองค์ระฆัง และปล้องไฉนไม่มีบัลลังก์ ลักษณะลวดลายเป็นศิลปะพม่า วิหารก่ออิฐถือปูนมีมุขยื่นออกด้านข้างหลังคา 2 ชั้นภายในมีภาพจิตกรรมเป็นภาพเทวดาและนางกินรีด้านหลังพระประธาน

อ้างอิง[แก้]

  1. "พายุฝนถล่ม "วัดพระธาตุดอยน้อย" อ.ดอยหล่อ วัดคู่บ้านคู่เมือง อายุกว่า 1,400 ปี จนท.เร่งสำรวจซ่อมแซม". เชียงใหม่นิวส์.
  2. ก้อง กังฟู. "เปิดปูม...พระธาตุดอยน้อย แฝงปริศนาธรรม..พันปีจามเทวี". ไทยรัฐ.
  3. "วัดพระธาตุดอยน้อย". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  4. "วัดพระธาตุดอยน้อย". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  5. "วัดพระธาตุดอยน้อย". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).