วัดบางไกรใน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางไกรใน
อุโบสถหลังเก่า
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางไกรใน, วัดนายไกร, วัดบางนายไกร
ที่ตั้งเลขที่ 101 หมู่ที่ 4 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธไกรรัตนนายก (หลวงพ่อโต)
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่ออู่ทอง (หลวงพ่อทองหรือหลวงพ่อแหน)
เจ้าอาวาสพระครูสถิตวิสุทธิวงศ์ (ศักดา ฐิตวํโส)
ความพิเศษศาลนายไกรทอง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางไกรใน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณสามแยกคลองขวางบางขุนกองตัดกับคลองวัดบางไกรใน ในหมู่ที่ 4 บ้านบางนายไกร ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสถิตวิสุทธิวงศ์ (ศักดา ฐิตวํโส)

ประวัติ[แก้]

วัดบางไกรในตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2310 เดิมชื่อ วัดนายไกร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายไกรทอง ผู้ปราบชาละวัน[1] อีกแหล่งข้อมูลระบุเดิมชื่อ วัดบางนายไกร ซึ่งที่ตั้งวัดบางนี้ชื่อ บางนายไกร มีเรื่องเล่าว่านายไกรทองเป็นชาวสวน เรียนวิชาอาคมต่างที่วัดลิงขบ นายไกรทองนำผลไม้ลงในเรือ ล่องเรือไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งทางเหนือและทางใต้ จนไปถึงเมืองพิจิตร ได้พบประกาศการปราบจระเข้ ผู้ใดปราบได้จะได้รางวัลเป็นที่นา ได้ผู้หญิง ได้ทรัพย์สมบัติ เมื่อนายไกรทองปราบจระเข้ได้จึงตั้งหลักปักฐานอยู่ที่พิจิตรจนสิ้นบุญ ชาวนนทบุรีได้ทราบเรื่องราวว่าเป็นลูกหลานของนายไกรทองจึงได้ประกาศตามหาลูกหลานที่เมืองพิจิตรด้วยแต่ไม่พบ ลูกหลานที่นนทบุรีจึงได้สร้างวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ เดิมโครงสร้างวัดสร้างด้วยไม้สักทอง แกะสลักลายไม้สักทองเขียนด้วยจิตรกรรมสีลายต่าง ๆ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ปัจจุบันใช้ชื่อว่า "วัดบางไกรใน" เพื่อไม่ให้สับสนกับ "วัดบางไกรนอก" ที่ตั้งอยู่ต้นคลองบางนายไกร

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถหลังเก่ามีมุขพาไลโครงสร้างไม้ทั้งหน้าและหลัง หน้าบันเป็นไม้สักฉลุลวดลาย บานประตูด้านหน้ามีภาพเขียนสีรูปทวารบาลถืออาวุธด้ามยาว ภายในโบสถ์มีภาพฉากหลังเขียนภาพสีรูปทวารบาลถืออาวุธด้ามยาว ฉากหลังเขียนภาพช่อดอกพุดตานใบเทศ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไกรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ มีพระอัครสาวกซ้ายขวาและพระพุทธรูปปางมารวิชัยข้างละองค์[2] กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะวัดและขึ้นทะเบียนอุโบสถหลังนี้เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2544[3]

ข้างอุโบสถหลังเก่ามีศาลนายไกรทองและวิหารหลังเขียวซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่ออู่ทอง หลวงพ่อทอง หรือหลวงพ่อแหน ได้รับการอัญเชิญมาจากอุโบสถวัดตะระเก (ในขณะนั้นเป็นวัดร้าง) มีเรื่องเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระเจ้าอู่ทองมาตั้งทัพไปรบเมืองราชบุรี เหตุที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หลวงพ่อแหน" เนื่องมาจากระหว่างที่อัญเชิญมาได้ตกลงไปในคลอง เมื่อนำขึ้นมาแหนก็ติดอยู่ตามองค์พระ[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบางไกรใน". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  2. "วัดบางไกรใน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  3. "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 118 (พิเศษ 127 ง): 16. 21 ธันวาคม 2544.
  4. "วัดบางไกรใน". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-09. สืบค้นเมื่อ 2020-10-07.